ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน
http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05124011058&srcday=2015-10-01&search=no
วันที่ 01 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 27 ฉบับที่ 608 |
อุษาคเนย์ไม่ไหลกลับ
จิตติมา ผลเสวก
คนมะริด ไม่คิดสั้น (ตอน 1)
ชื่อ มะริด ติดหูฉันมานานเน โดยเฉพาะเมื่อราวสิบปีก่อนที่ลงไปถ่ายทำสารคดี ชุด “ผู้มาจากดินแดนที่เสียไป” ซึ่งเป็นเรื่องราวของคนไทยพลัดถิ่น หรือคนไทยที่อยู่ในเขตแดนอันเคยเป็นของไทยก่อนที่กลายเป็นดินแดนของพม่า ในยุคอังกฤษเข้ามาเป็นเจ้าอาณานิคมประเทศพม่า และมีการปักปันเขตแดนกันใหม่ ทำให้หลายเมืองในขอบเขตที่ชนแดนกับพม่า ต้องกลายเป็นเขตประเทศพม่าไป
ประชาชนไทยที่อยู่ในเขตนั้นจึงหมดสภาพความเป็นคนไทยไปโดยปริยาย อีกทั้งยังไม่สามารถเป็นพลเมืองพม่าเต็มขั้น คิดย้อนไปก็เศร้า เมื่อนึกถึงคนที่เหมือนหลับแล้วตื่นขึ้นมา พบว่าตัวเองกลายเป็นพลเมืองอื่นในแผ่นดินเกิด
มะริด เป็นชื่อหนึ่งที่ฉันได้ยินคนไทยพลัดถิ่นเอ่ยถึง นอกนั้นยังมีชื่อ สิงขร เกาะสอง ปกเปี้ยน ตะนาวศรี ที่เล่ากันว่ามีคนไทยติดแผ่นดินอยู่
ตามประวัติศาสตร์บอกว่า ก่อนที่จะเกิดอาณาจักรพะโค เมาะตะมะ อังวะ สุโขทัย และอยุธยา ตะนาวศรีเคยเป็นรัฐอิสระมาก่อน สยามประเทศในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่แผ่อาณาจักรไปกว้างใหญ่ไพศาลครอบคลุมถึงตะนาวศรีนั้น มีมะริดและภูเก็ตเป็นเมืองท่าสำคัญ ดังนั้น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าในอดีตกาลมะริดจะเป็นที่หมายปองของเหล่านักล่าอาณานิคมมากแค่ไหน
ในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย พม่ายกกองทัพมาตีเมืองทวาย ซึ่งขณะนั้นแข็งเมืองอยู่ และได้ยกพลตามมาตีเมืองมะริดและตะนาวศรี หลังจากนั้น ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ได้พยายามยกทัพไปตีเมืองทวายคืนจากพม่า แต่ไม่สำเร็จ ทว่าในอีก 4 ปีต่อมา เมืองทวาย ตะนาวศรี และมะริด ก็มาขอขึ้นกับไทย
ยุคนี้เองที่มีคำกล่าวว่า มะริด กับทวาย นั้น คล้ายกับถูกพม่ากับไทยชักลากกันไปมา
กระทั่งถึงยุคนักล่าอาณานิคมที่อังกฤษเริ่มเข้ายึดหัวเมืองชายฝั่งทะเลของพม่า รวมทั้งตะนาวศรี มะริด และทวาย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของภาคตะนาวศรี อันตรงกับยุคสมัยของไทยในรัชกาลที่ 3 อังกฤษได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจทำแผนที่ เพื่อจะได้รู้จักสภาพภูมิประเทศ ทรัพยากร และขอบเขตของเมืองที่ตนยึดได้ เมื่อมาถึงทิวเขาตะนาวศรีจึงได้ทราบว่า ฝั่งตะวันออกของทิวเขาตะนาวศรีเป็นอาณาเขตของประเทศไทย ต่อมาเมื่อเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 4 อังกฤษได้ส่งข้าหลวงใหญ่ประจำอินเดียมาติดต่อกับรัฐบาลไทย เพื่อขอให้มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าเป็นการถาวร
นับแต่นั้น ชีวิตของคนไทยที่อาศัยอยู่ในตะนาวศรีมาแต่เดิม จึงเปลี่ยนแปลงอย่างเจ็บปวดเรียกคืนไม่ได้
หลังห่างจากเรื่องราวของคนไทยพลัดถิ่นไปนาน ฉันก็เริ่มเลือนๆ ชื่อมะริด ด้วยว่ามีเมืองอื่นๆ อีกมากที่รอให้เดินทางไปเทียวหา กระทั่งแว่วข่าวว่า มีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเกิดขึ้นที่มะริด ประจวบเหมาะกับข่าวที่ว่ามีการเปิดด่านสิงขรให้ข้ามไปฝั่งพม่าได้ และสามารถเดินทางไปถึงมะริดโดยทางรถ ฉันจึงคิดถึงมะริดขึ้นมาอีกครั้ง
เหมือนจะเป็นคนมีโชคอยู่บ้าง ที่เมื่อคิดก็ได้สมใจนึก เมื่อไม่นานเดือนที่ผ่านมา “โครงการพัฒนาทักษะการสื่อสารสุขภาวะชุมชนข้ามพรมแดน” ได้ชักชวนให้ร่วมเดินทางไปกับทริปนักข่าว ลงพื้นที่ชุมชนที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน ฉันรีบรับปากอย่างไม่อิดเอื้อน จากนั้นก็นับเวลารอ
หนนี้เราไม่ได้เดินทางด้านด่านสิงขร เพราะอยู่ในช่วงฤดูฝน ไม่แน่ใจว่าสภาพถนนจะทุลักทุเลแค่ไหน และการเดินทางอาจใช้เวลานานเกินไป เราจึงเดินทางด้วยเครื่องบินไปลงย่างกุ้ง นอนเล่นที่ย่างกุ้งเสียคืนหนึ่ง รุ่งเช้าจึงบินต่อไปลงมะริด แรกฉันออกจะหวาดเสียวกับสายการบินภายในของพม่า แต่ปรากฏว่าเขาเหินฟ้าได้นุ่มนวลเลยทีเดียว
เที่ยวบินนี้ไม่ได้บินตรงจากย่างกุ้งไปมะริด ทว่าเป็นเที่ยวบินที่แวะส่งและรับคนที่ทวายก่อน จากนั้นจึงบินไปจอดมะริดและบินต่อไปจบเที่ยวบินที่เกาะสอง ขากลับก็เช่นเดียวกัน จากเกาะสองจอดมะริด ทวาย ก่อนไปย่างกุ้ง พวกเราคุยเล่นกันว่า จอดรับคนตลอดเหมือนรถโดยสารบ้านเรา ที่เรียกกันว่า รถแดง หนำซ้ำถ้าโบกระหว่างทางได้ก็คงโบกกันมาตลอดทางซินะ
เที่ยวบินขากลับไม่มีเลขที่นั่ง เจ้าหน้าที่สายการบินบอกว่า เลือกเอาตามสะดวก ฉันว่าน่ารักดี มันทำให้ดูเหมือนว่าการเดินทางโดยเครื่องบินไม่ได้มีอะไรพิเศษพิสดารสักเท่าไหร่ มีเงินก็ซื้อตั๋วบินได้ ต่างกับสายการบินแพงๆ บางสายที่เชิดหยิ่ง ราวกับวิเศษเสียเต็มประดา ทั้งที่ข้างในกลวงใกล้ล้มละลายอยู่ไม่กี่วัน
ช่วงที่เหินอยู่เหนือน่านฟ้ามะริดและเครื่องบินลดระดับ พวกเราต่างตื่นตากับทิวทัศน์เบื้องล่าง ผืนน้ำทะเลเขียวสดใสกับหมู่เกาะเรียงรายอยู่ใต้หมู่เมฆ แว่วเสียงอุทานว่า อยากมาเที่ยวเกาะข้างล่าง บางคนถึงกับจินตนาการเห็นก่าบาง เรือของชาวมอแกนจอดอยู่เป็นกลุ่ม ด้วยว่าทะเลมะริดยังมีชาวมอแกนอาศัยอยู่ไม่น้อย บางข้อมูลบอกว่า พวกเขายังอยู่ในเรือที่เรียกว่า ก่าบาง คือเรือมอแกนแบบเดิมที่ใช้ล่องไปในเวิ้งทะเลคราม ในเรือจะเป็นทั้งที่กิน อยู่หลับนอน ทำมาหากิน และจะแวะพักหลบลมตามเกาะต่างๆ ในช่วงมรสุม
ช่างเป็นวิถีในอุดมคติที่พวกเราหลายคนใฝ่ฝันอย่างได้ยลสักครั้งสองครั้ง ในชีวิตนี้
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะฝันกระเจิดกระเจิงตามภาพทะเลที่เห็นเบื้องล่าง ก็ต้องดึงมาสู่ภาพปัจจุบันว่า เรากำลังถึงมะริด และสิ่งที่ต้องทำลำดับต่อไปคือ การลงพื้นที่ฟังเสียงชาวบ้าน และหาข้อมูลโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน
โครงการที่เป็นทุนจากประเทศไทยเรานี่เอง