ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเส้นทางเศรษฐี
http://info.matichon.co.th/rich/rich.php?srctag=07016010359&srcday=2016-03-01&search=no
วันที่ 01 มีนาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 22 ฉบับที่ 392 |
ชักหน้า…ให้ถึงหลัง
ป้านะยะ Pranaya.n@ktc.co.th
กระเป๋าตังค์จะไม่ตุงอีกต่อไป
ใครที่เคยบ่นเรื่อง กระเป๋าตังค์ตุงจากการพกบัตรหลายๆ ใบในกระเป๋าสตางค์ ทั้งบัตรประชาชน บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรสินเชื่อ บัตรรถไฟฟ้าใต้ดิน บนดิน นี่ยังไม่รวมบัตรส่วนลดต่างๆ นานาชนิด…
เรื่องนี้อาจจะเป็นข่าวดีสำหรับท่าน
ด้วยแผนยุทธศาสตร์ National E-Payment ที่จะผลักดันให้คนไทยหันมาใช้ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดปัญหาต่างๆ ทั้งในระดับประเทศและระดับภาคประชาชน เช่น เงินสวัสดิการจากหน่วยงานรัฐที่ล่าช้า ไม่ทั่วถึง ปัญหาเรื่องค่าธรรมเนียมที่สูงอย่างไม่เป็นธรรมในการโอนเงิน ปัญหาเรื่องการหลีกเลี่ยงภาษีของธุรกิจนอกระบบ เป็นต้น อีกทั้งน่าจะเป็นตัวช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจไทยในตลาดโลก
ดังนั้น ไม่ว่าจะในฐานะประชาชนคนธรรมดา หรือ เจ้าของกิจการ พ่อค้าแม่ขาย ไม่ว่ารายเล็ก รายใหญ่ คงต้องคอยติดตามข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมในการปรับตัว ปรับใจ เพราะน่าจะกระทบกับทั้งชีวิตประจำวัน และธุรกิจของเราไม่มากก็น้อย
เห็นว่า National E-Payment จะเริ่มกันยายน ปีนี้แล้ว ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจในรัฐบาลลุงตู่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทุบโต๊ะสั่งเดินหน้า National E-Payment ให้แล้วเสร็จใน 1 ปีครึ่ง โดยยุทธศาสตร์หลักที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคดิจิตอล มี 5 ข้อดังนี้
1. Any ID : คือ เอา ID หรือชิปบนบัตรประชาชน มาใช้ในการโอนเงิน จ่ายเงิน ชำระบริการทั้งออนไลน์ ออฟไลน์ โดยในตอนเริ่ม จะใช้กับ เลขบัตรประชาชนและเบอร์โทรศัพท์ โดยหลังจากนั้นก็จะมีการเปิดให้ประชาชนไปลงทะเบียนใช้ E-Payment กัน นั่นหมายความว่าต้องมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลบัตรประชาชน หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ เลขที่บัญชีธนาคาร หมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถดำเนินการเชื่อมโยงข้อมูลได้
2. ติดตั้งเครื่องรับ E-Payment เมื่อทุกคนมีบัตร ก็ต้องมีการขยายการเข้าถึง โดยจะเพิ่มปริมาณเครื่องรูดบัตร (EDC) ให้เป็น 2 ล้านเครื่อง จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 100,000 เครื่อง ครอบคลุมประชาชนทั่วประเทศ โดยมีการเปิดเผยเบื้องต้นว่า “มูลค่าการชำระเงินขั้นต่ำคือ 20 บาท”
3. ระบบภาษีของกรมสรรพากร การใช้ National E-Payment จะช่วยทำให้ระบบการจัดเก็บภาษีของรัฐบาลดีขึ้น ทำให้ธุรกิจที่ไม่เสียภาษี หรือเศรษฐกิจนอกระบบ (Shadow Economy) อย่างขายของออนไลน์ ต้องเข้าสู่ระบบมากขึ้น และเมื่อรวมกับนโยบายหนึ่งเอสเอ็มอี หนึ่งบัญชี ก็น่าจะทำให้ E-Payment เป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น
4. นำ E-Payment มาใช้กับหน่วยงานภาครัฐ การทำงานของภาครัฐ มักโดนบ่นเพราะล่าช้า แต่การนำระบบ E-Payment มาใช้กับองค์กรภาครัฐ จะช่วยให้การทำงานรวดเร็วยิ่งขึ้น และต่อไปสำเนาเอกสารคงไม่จำเป็นอีกต่อไป บัตรประชาชนใบเดียวจบ ปัญหาเงินสวัสดิการต่างๆ ที่เคยล่าช้า ไม่ทั่วถึง น่าจะหมดไป
5. ส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วประเทศเข้าใจ ให้ได้เห็นประโยชน์และความสะดวกจาก E-Payment
นับเป็นอีกหนึ่งวาระแห่งชาติ ที่น่าจะทำให้คนไทยก้าวเข้าสู่ Digital Economy อย่างแท้จริง
ดังนั้นวินาทีนี้ ทุกวงการต้องตื่นตัว และเตรียมตัวกันอย่างแน่นอน ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ห้างสรรพสินค้า ร้านค้าปลีก รวมถึงวงการการตลาดที่ตอนนี้ต้องวางแผนเพื่อรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงนี้
สำหรับผู้บริโภคก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิถีชีวิตเราก็น่าจะเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เทคโนโลยีน่าจะเข้ามาช่วยให้ชีวิตของเราสะดวกขึ้น เราจะพกเงินสดกันน้อยลง ปลอดภัยจากทำสูญหายหรือขโมยขโจรวิ่งราวบนท้องถนน อีกทั้งเราควรจะได้ประโยชน์จากการเสียค่าธรรมเนียมในการโอนเงินที่ถูกลงและเป็นธรรมมากขึ้น ดูแล้วก็น่าจะดี
แต่อย่าลืม กระเป๋าไม่ตุง แต่ก็ต้องมีตังค์นะ พี่น้อง
* ขอบคุณข้อมูลเบื้องต้นจาก ThaiGovGov