ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือเทคโนโลยีชาวบ้าน
http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05086010559&srcday=2016-05-01&search=no
วันที่ 01 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ปีที่ 28 ฉบับที่ 622 |
คิดเป็นเทคโนฯ
ธนสิทธิ์ เหล่าประเสริฐ
เกษตรวิศวกรรม นำเสนอ… เครื่องขุดมันสำปะหลังแบบไถหัวหมู พร้อมเคล็ดลับ…ขุดให้ได้หัวมันเยอะ
ด้วย มันสำปะหลัง ถือเป็นหนึ่งในพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ มีเกษตรกรปลูกกันมาก และเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมการปลูกพืชที่ต้องมีเครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตรเข้ามาเกี่ยวข้อง ในฐานะที่สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร เป็นหนึ่งในหน่วยงานหลักที่ดำเนินการศึกษาวิจัยพัฒนาด้านเครื่องจักรกลการเกษตร จึงได้มีการประดิษฐ์เครื่องจักรกลและอุปกรณ์การเกษตรที่เกี่ยวข้องมาอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุดได้มีผลงานที่น่าสนใจและได้เผยแพร่ไปสู่เกษตรกร นั่นคือ เครื่องขุดมันสำปะหลังแบบไถหัวหมู
ทั้งนี้ ดร. อนุชิต ฉ่ำสิงห์ วิศวกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มวิจัยวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยว สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร เจ้าของผลงานวิจัยกล่าวว่า ด้วยขั้นตอนการเก็บเกี่ยว เป็นขั้นตอนสำคัญ ส่งผลต่อต้นทุนการผลิต คุณภาพ และการสูญเสียของผลผลิต มีสัดส่วนในการลงทุนสูงสุดในระบบการผลิตมันสำปะหลัง เนื่องจากจำเป็นต้องใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมาก เพื่อการขุดหรือถอน การตัดส่วนที่เป็นหัวออกจากโคนต้น และรวบรวมขึ้นรถบรรทุกเพื่อการขนย้ายไปจำหน่ายและประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
จากการสำรวจในเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ฉะเชิงเทรา สระแก้ว นครสวรรค์ กำแพงเพชร มีแบบแตกต่างกันหลากหลาย ตามความนิยมของแต่ละพื้นที่ ทั้งพบว่ายังมีการพัฒนาแบบใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง
“นั่นแสดงให้เห็นว่า เครื่องขุดมันสำปะหลัง แต่ละแบบมีความเหมาะสมเฉพาะพื้นที่ และยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาเพื่อให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น”
ดร. อนุชิต กล่าวถึงหัวขุดมันสำปะหลังที่สำรวจพบในพื้นที่ต่างๆ ว่า สามารถจำแนกได้ตามลักษณะการพลิกดินได้ดังนี้
หนึ่ง แบบไม่มีการพลิกดิน เป็นการขุดเพียงให้หัวมันลอยจากตำแหน่งเดิมเล็กน้อย หัวมันไม่ลอยขึ้นเหนือผิวดิน เครื่องขุดแบบนี้ส่วนใหญ่เพื่อแก้ปัญหาการขุดได้ไม่ต่อเนื่องของการใช้กับแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีความกว้างของล้อมาก ต้องออกแรงถอนและอาจมีความสูญเสียในดินมาก
สอง แบบมีการพลิกดินออกด้านข้าง ซึ่งพบทั้งพลิกออกข้างเดียว และทั้งสองข้าง
– แบบพลิกดินออกด้านเดียว หากใช้กับรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก หรือประมาณ 34-47 แรงม้า และมีระยะห่างที่ระหว่าง อย่างน้อย 80 เซนติเมตร จะสามารถขุดได้อย่างต่อเนื่อง โดยไม่ต้องใช้คนคอยเดินตามเก็บ
– แบบพลิกดินออกทั้งสองข้าง แบบนี้จะต้องใช้คนคอยตามเก็บภายหลังการขุด ซึ่งต้องใช้แรงงานคนจำนวนมาก จึงจะสามารถขุดได้อย่างต่อเนื่อง ยังคงมีการใช้อยู่ แต่ความนิยมลดลง และเลิกใช้แล้วจำนวนมาก
ดร. อนุชิต กล่าวต่อไปอีกว่า อย่างไรก็ตาม พบว่าเครื่องขุดมันสำปะหลังที่มีการผลิตจำหน่าย และใช้งานอยู่ในปัจจุบันมีหลายแบบที่ให้ลักษณะการขุดที่จำเป็นต้องได้รับการปรับปรุงแก้ไข เนื่องจากต้องการแรงฉุดลากของรถแทรกเตอร์มาก เป็นการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง คนขับแทรกเตอร์ควบคุมได้ลำบาก ส่งผลต่อการสึกหรอของแทรกเตอร์ และมีการสูญเสียค่อนข้างสูง
สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร จึงได้มีการพัฒนาเครื่องขุดมันสำปะหลัง จนสามารถพัฒนาได้เป็น 2 รุ่น คือ รุ่นสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดกลางและขนาดใหญ่ (มากกว่า 50 แรงม้า) และรุ่นสำหรับรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก (34-49 แรงม้า)
ทั้งนี้ ในการออกแบบนั้น ดร. อนุชิต บอกว่าได้เน้นที่จะลดข้อจำกัดในการทำงานในไร่มันสำปะหลัง
“เราเน้นการพัฒนาเพื่อแก้ไขปัญหาในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ด้วยเน้นให้มีการขุดจิกกินดินได้เร็ว พลิกดินออกด้านเดียว รักษาความลึกในการขุดได้สม่ำเสมอ ง่ายต่อการควบคุมแทรกเตอร์ ทำงานได้ต่อเนื่อง ต้องการแรงฉุดลากต่ำ เป็นการประหยัดพลังงานและค่าใช้จ่าย มีการสูญเสียและเสียหายของหัวมันสำปะหลังน้อยลง โดยจากผลการทดลองพบว่า มีหัวมันเหลือตกค้างในดินเพียง ร้อยละ 1-4 เท่านั้น”
สำหรับลักษณะของเครื่องขุดมันสำปะหลังแบบไถหัวหมูที่สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรมพัฒนาขึ้น มีคุณลักษณะ ประกอบด้วย
– หน้ากว้าง 55 เซนติเมตร
– ความสามารถในการทำงาน 1.4 ไร่ ต่อชั่วโมง
– ความสูญเสียเนื่องจากเหลือค้างในดิน ประมาณ 1.0-4.0 เปอร์เซ็นต์
– สามารถปรับเลื่อนให้เข้ากับระยะห่างระหว่างแถวได้
-ปรับมุมและความยาวของปีกไถได้ เพื่อให้ใช้กับดินที่ชื้นมากขึ้น และระยะระหว่างแถวเพื่อการเคลื่อนย้ายหัวมันสำปะหลัง
– เหง้ามันสำปะหลังที่ขุดขึ้นมาจะมีลักษณะวางตั้ง
แต่อย่างไรก็ตาม ดร. อนุชิต กล่าวว่า ในส่วนข้อจำกัดนั้น พบว่าการใช้เครื่องขุดมันสำปะหลังแบบไถหัวหมูต่อพ่วงกับรถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่มากกว่า 50 แรงม้า ในการขุดมันสำปะหลังที่มีระยะระหว่างแถว 70-110 เซนติเมตร ไม่สามารถทำได้ต่อเนื่อง ต้องใช้คนตามเก็บ ส่วนระยะที่แคบหรือกว้างกว่านี้ไม่จำเป็นต้องใช้คนตามเก็บ สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำว่า ให้ใช้ระยะระหว่างแถว 120 เซนติเมตร ขึ้นไป เพื่อให้การทำงานได้ต่อเนื่องและลดการสูญเสียของผลผลิต
แนะการปรับแต่งเพื่อลดการสูญเสียผลผลิต
พร้อมกันนี้ ยังได้มีข้อแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการทำงานด้วยเครื่องขุดมันสำปะหลัง เพื่อลดการสูญเสียผลผลิต ลดแรงลากจูง และลดอัตราการกินน้ำมันของแทรกเตอร์ โดย ดร. อนุชิต มีข้อแนะนำว่า
หนึ่ง การปรับใบผาล แนะนำให้ปรับในแนวกลางของใบผาลขุด ตรงกับแนวต้น อาจปรับโดยการเลื่อนชุดผาล หรือปรับความตึงของโซ่ข้าง การตั้งไม่ได้แนวอาจจะมีการสูญเสียสูง
โดยพบว่า หาก…
– ตั้งเยื้องเกินแนวซ้ายมือมากเกินไป จะขุดได้ไม่หมด และอาจมีการกลบเหง้ามัน
– กรณีที่เยื้องเกินแนวขวามากเกินไป จะขุดได้ไม่หมด เกิดการตัดหัวมัน และอาจมีเหง้ามันสำปะหลังบางส่วนพลิกออกด้านขวา และจะถูกเหยียบเมื่อขุดร่องถัดไป
สอง คานขวางควรอยู่ในแนวระดับหรือข้างขวาต่ำกว่าข้างซ้ายเล็กน้อย หากต้องการให้มีการพลิก แต่จุดนี้ไม่แนะนำให้ดำเนินการ
สาม ปรับแขนกลางให้ยาวที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ โดยที่เมื่อทดลองขุดแล้วไม่เกิดลักษณะใบผาลตัดหัวมันสำปะหลัง ซึ่งถ้าปรับแล้ว
– แขนกลางสั้นเกินไป จะเกิดลักษณะขุดจิกมากเกินไป กินดินลึกหากดินไม่แข็งมาก แต่หากดินแห้งและแข็งจะเกิดลักษณะกระโดดหรือขุดไม่เข้า
– แขนกลางยาวเกินไป จะเกิดการตัดหัวมันสำปะหลัง หรือขุดไม่เข้า
– ทดลองขุดหาความเร็วที่เหมาะสม ขุดด้วยความเร็วต่ำจะมีการสูญเสียต่ำ แต่จะมีความสามารถในการทำงานต่อชั่วโมงต่ำไปด้วย ดังนั้น แนะนำให้ขุดเร็วได้โดยที่หัวมันไม่หัก (ส่วนปลายหัว) ดูที่หัวมันสำปะหลังเป็นเกณฑ์ ถ้ามีหัวมันหักแสดงว่าขุดด้วยความเร็วสูงเกินไป
ดร. อนุชิต กล่าวอีกว่า เครื่องขุดมันสำปะหลังหลายรุ่นทำงานได้ดี แต่ส่วนใหญ่ขับแทรกเตอร์ที่ต่อพ่วงในการขุดด้วยความเร็วที่สูงเกินไป ทำให้ดินแตกตัวออกจากหัวมันไม่ทัน เกิดการกระชากทำให้ปลายหัวมันหัก หัวหลุดออกจากเหง้า หรืออาจมีการพลิกกลบ ทำให้มีการสูญเสียเนื่องจากเหลือตกค้างในแปลงจำนวนมาก
ปัจจัยที่มีผลต่อความสูญเสียในการใช้เครื่องขุดมันสำปะหลังในการเก็บเกี่ยว คือ
หนึ่ง ความเร็วของแทรกเตอร์ขณะขุด : ความเร็วสูง มีโอกาสเกิดการสูญเสียหัวมันในดินสูง โดยเฉพาะดินที่มีความชื้นสูง
สอง ปริมาณวัชพืช : ปริมาณวัชพืชมาก มีโอกาสเกิดการสูญเสียหัวมันในดินสูง
สาม ความชื้นในดิน : ดินมีความชื้นสูง ดินจะมีแรงดึงดูดกับหัวมันมาก แตกตัวออกจากหัวมันยาก ดังนั้น หากขุดด้วยความเร็วแทรกเตอร์สูง มีโอกาสเกิดการสูญเสียหัวมันในดินสูง
สี่ การปรับแต่งเครื่องขุด : ควรปรับตั้งแนวกลางผาลขุดให้ตรงแถวมันสำปะหลัง และไม่ปรับให้กินดินลึกหรือตื้นเกินไป จะช่วยลดการสูญเสียหัวมัน เนื่องจากเหลือตกค้างในดิน และการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง
ทั้งหมดนี้เป็นอีกหนึ่งผลงานจากนักวิจัยไทยที่ทำเพื่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กลุ่มวิจัยวิศวกรรมหลังการเก็บเกี่ยว สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร หมู่ที่ 13 ตำบลคลองหนึ่ง อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทร. (02) 529-0663
จักรยานสูบน้ำ ได้ทั้งน้ำ ได้ทั้งออกกำลัง
จักรยานสูบน้ำ เป็นผลงานที่วิจัยและพัฒนาโดย นายสุรศักดิ์ ไชยจักร หัวหน้าฝ่ายคลังสินค้า บริษัท แป้งมันกาฬสินธุ์ จำกัด ตั้งอยู่ เลขที่ 188 หมู่ที่ 1 ตำบลคำข้าว อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์
จักรยานสูบน้ำ นับเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ทุกคนสามารถนำไปสร้างและใช้ในไร่นาหรือบ้านพักของตนเองได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ เจ้าของผลงานระบุว่า ระบบจักรยานสูบน้ำนี้สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ในระดับสูง โดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า แต่อาศัยแรงคนปั่นจักรยาน เพื่อให้ปั๊มน้ำสูบน้ำ เพื่อการบริโภคอุปโภค และเพื่อใช้ในการเกษตร ทำให้สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการสูบน้ำด้วยเครื่องสูบน้ำได้ รวมถึงยังให้ประโยชน์ในการออกกำลังกายอีกทางหนึ่ง
อุปกรณ์ที่ใช้
1. เครื่องสูบน้ำแบบก้านชัก
2. โครงจักรยาน (ให้มีล้อและคันถีบที่สามารถใช้งานได้)
3. ท่อ พีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 นิ้ว
4. อุปกรณ์ต่อท่อ พีวีซี และข้อต่อ ประกอบด้วย ข้อต่อเกลียวนอก เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว 3 อัน, ข้อต่อ 90 องศา เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ประมาณ 4-6 อัน, ข้อต่อ 90 องศา เส้นผ่าศูนย์กลาง 0.5 นิ้ว ประมาณ 4-6 อัน, ข้อลด เส้นผ่าศูนย์กลาง 1 นิ้ว ลดเหลือ 0.5 นิ้ว 1 อัน, ฟุตวาล์ว 1 อัน และสายพันร่อง 1 อัน
วิธีประกอบ ใช้จักรยานใหม่หรือเก่าก็ได้ แต่ต้องมีล้อและคันถีบที่ใช้การได้ จากนั้นนำมาต่อกับฐานล่างด้วยโครงเหล็ก ซึ่งจะติดปั๊มน้ำสูบชัก โดยสายพานต่อระหว่างล้อหลังของรถจักรยานกับวงล้อของเครื่องสูบน้ำ
การทำงานง่ายๆ เพียงขึ้นไปนั่งบนอานแล้วออกแรงถีบจักรยาน ปั่นให้ล้อหมุน จากนั้นสายพานก็จะหมุนปั๊มน้ำ ทำให้สามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ และที่สำคัญได้ออกกำลังกายไปในตัว
บรรยายภาพ
1. ลักษณะของจักรยานสูบน้ำ
2. ใช้จักรยานใหม่หรือเก่าก็ได้
3. ลักษณะการต่อจักรยานเข้ากับปั๊มน้ำ
กรมวิชาการเกษตร
โชว์ระบบสูบน้ำบาดาลพลังงานแสงอาทิตย์ในไร่มัน
ในอดีตเกษตรกรจะเคยชินกับการปล่อยให้น้ำไหลไปตามท้องร่อง ซึ่งนอกจากจะสิ้นเปลืองน้ำมากแล้ว ยังทำให้หญ้าวัชพืชเกิดขึ้นได้ง่ายตามท้องร่อง ดังนั้น กรมวิชาการเกษตร จึงได้เข้าส่งเสริมเกษตรกรให้หันมาใช้ระบบน้ำหยดโคนต้นแทน ไม่เพียงจะช่วยให้มีน้ำใช้อย่างเพียงพอ ยังช่วยให้เกษตรกรไม่ต้องเสียเงินและเวลาในการกำจัดวัชพืชอีกด้วย
ดังนั้น ในงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมันสำปะหลังจากผลการวิจัยสู่เกษตรกรที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรกาฬสินธุ์ กรมวิชาการเกษตร จัดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ จึงได้มีการเปิดตัวแปลงต้นแบบระบบสูบน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สำหรับระบบน้ำหยดในแปลงมันสำปะหลังเป็นแห่งแรกของประเทศ
โดย กรมวิชาการเกษตร ได้วางเป้าไว้ ที่จะพัฒนาโมเดลต้นแบบการใช้พลังงานแสงอาทิตย์กับระบบสูบน้ำระบบให้น้ำพืชแบบประหยัด จำนวน 20 แห่ง ทั่วประเทศ แบ่งออกเป็น 6 โมเดล ซึ่งมีทั้งลักษณะการใช้แหล่งน้ำบาดาล การใช้แหล่งน้ำผิวดินและใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สำหรับแนวคิดในการพัฒนาแปลงต้นแบบระบบสูบน้ำบาดาลด้วยพลังงานแสงอาทิตย์นั้น เกิดจากการเดินสายสัมมนาเรื่องความต้องการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรของเกษตรกรในภูมิภาคต่างๆ 7 ครั้ง ของกรมวิชาการเกษตร เพื่อนำไปจัดทำเป็นแผนแม่บทด้านเกษตรวิศวกรรมให้ตรงตามความต้องการของเกษตรกร ในช่วงเดือนธันวาคม 2558-มกราคม 2559 ที่ผ่านมา ผลจากการเดินสายสัมมนาพบว่า เกษตรกรจากทุกภาคต้องการระบบและอุปกรณ์ที่จะช่วยให้เกิดการใช้น้ำอย่างประหยัดและถูกต้องตามหลักวิชาการของพืชแต่ละชนิดที่ปลูก เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการผลิตพืช ประกอบกับภายใต้สถานการณ์ภัยแล้งที่เกษตรกรทั่วประเทศประสบอย่างหนักหน่วงมาหลายเดือน เป็นภาวะเร่งด่วนที่กรมวิชาการเกษตรจำเป็นต้องเร่งดำเนินการแก้ไขเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถฝ่าวิกฤติภัยแล้งใน ปี 2559 ไปได้
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาเทคโนโลยีต้นแบบในการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และระบบการให้น้ำพืชที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ สามารถให้น้ำได้แบบประหยัด สอดคล้องกับความต้องการน้ำของพืชแต่ละชนิด ออกแบบเหมาะสมกับแหล่งน้ำและสภาพพื้นที่ที่ปลูก รวมทั้งอยู่บนพื้นฐานของการคำนวณต้นทุนการผลิตที่สามารถหาจุดคุ้มทุนหรือลดต้นทุนและให้ผลตอบแทนได้
“พื้นที่ไหนไม่มีน้ำผิวดิน จำเป็นต้องเจาะบ่อบาดาล แต่ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง การเดินสายไฟฟ้าไปยังแปลงปลูกต้องใช้เงินทุนสูง ดังนั้น ควรนำระบบโซลาร์เซลล์มาใช้สูบน้ำมาเก็บไว้ในตุ่มสำรองพักน้ำ แล้วต่อท่อจ่ายน้ำเข้าสู่ระบบน้ำหยด พื้นที่ปลูก 15 ไร่ ใช้เงินลงทุนเพียงแค่ 120,000 บาท สามารถคืนทุนได้ภายใน 5 ปี เพราะการให้น้ำแบบนี้จะทำให้เกษตรกรได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น จากไร่ละ 3 ตัน เป็น 6-8 ตัน” นายสมชาย กล่าว
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า แปลงของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตร (ศวพ.) กาฬสินธุ์ นับเป็นแห่งแรกของโครงการดังกล่าวที่กรมวิชาการเกษตรได้ เพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือสามารถเข้ามาเรียนรู้และนำไปปรับใช้ในแปลงของตนเอง เพื่อบริหารจัดการน้ำในหน้าแล้งได้อย่างมีประสิทธิภาพและถูกต้องตามหลักวิชาการ
สำหรับ แปลงโมเดลต้นแบบ ที่ ศวพ. กาฬสินธุ์ แห่งนี้ เป็นแปลงที่กรมวิชาการเกษตรได้ออกแบบโดยระดมความคิดจากวิศวกรและนักวิชาการพืชของกรมวิชาการเกษตร หัวใจสำคัญคือ การช่วยให้เกษตรกรก้าวหน้าผ่านภาวะภัยแล้ง โดยวิธีการออกแบบและการแบ่งโซนการให้น้ำที่ถูกต้อง การเลือกใช้อุปกรณ์ที่เหมาะสม เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากระบบที่ติดตั้งได้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตามศักยภาพของระบบพลังงานแสงอาทิตย์และการเลือกใช้โอ่งเป็นถังพักน้ำ เพื่อส่งต่อไปยังแปลงน้ำหยด ด้วยการออกแบบติดตั้งระบบที่ง่ายต่อการทำความเข้าใจสำหรับเกษตรกรและบุคคลทั่วไป ที่ต้องการเรียนรู้และนำไปใช้ในแปลงของตน โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ไม่ซับซ้อนยุ่งยากและราคาไม่แพง เกษตรกรสามารถหาซื้อมาเป็นเจ้าของได้ง่าย โดยนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาผสมผสานให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้ต้นทุนต่ำสุด
เป้าหมายของโครงการนี้จะสามารถตอบโจทย์สำคัญของเกษตรกร 2 ประการ คือกรณีสถานการณ์ปกติที่มีน้ำ เกษตรกรต้องใช้น้ำเท่าไหร่ เพื่อให้พืชเจริญเติบโตได้ดีที่สุด เกิดผลผลิตสูงสุด และจะจัดการน้ำอย่างไร เพื่อให้สามารถใช้น้ำได้อย่างพอเพียง คุ้มค่า ประหยัดน้ำได้
ในขณะเดียวกัน กรณีที่มีน้ำจำกัด เช่น เกิดวิกฤติภัยแล้ง เกษตรกรต้องให้น้ำน้อยที่สุดเท่าไหร่หรือประหยัดเพียงไร เพื่อประคับประคองให้พืชที่ปลูกไม่ชะงักการเจริญเติบโตและสามารถข้ามผ่านสภาวะแล้งนั้นไปได้
ดังนั้น ประโยชน์ที่จะได้รับการติดตั้งระบบน้ำที่กรมวิชาการเกษตรทำเป็นแปลงต้นแบบระบบน้ำหยดสำหรับมันสำปะหลัง ที่ ศวพ. กาฬสินธุ์ คือจะสามารถปลูกมันสำปะหลังให้ผ่านในช่วงหน้าแล้งได้ เนื่องจากแต่เดิมเกษตรกรจะเริ่มปลูกมันในช่วงฤดูฝน ซึ่งเป็นช่วงที่มันสำปะหลังไม่ต้องการน้ำมากในช่วงเริ่มต้นของการปลูก แต่เมื่อมันสำปะหลังอายุ 3-4 เดือน ซึ่งต้องการใช้น้ำมาก แต่เป็นช่วงหมดฤดูฝน ทำให้เกษตรกรต้องเพิ่มต้นทุนในการหาน้ำมาให้มันสำปะหลัง
จากปัญหาดังกล่าว ถ้าสามารถเลื่อนการปลูกมันสำปะหลังมาปลูกในช่วงก่อนฤดูฝน เช่น ในช่วงสามเดือนแรกของปี โดยมีระบบน้ำหยดช่วยในการเจริญเติบโตช่วงสามเดือนแรก ซึ่งเป็นช่วงที่พืชต้องการน้ำไม่มากนัก จะส่งผลให้มันสำปะหลังมีระบบรากที่ดี หัวและใบมีการเจริญเติบโตดี ทำให้สามารถลดปริมาณวัชพืชได้ เพราะมีใบมันสำปะหลังคลุมแปลง โดยไม่ต้องใช้ยาและสารเคมีในการกำจัดวัชพืช ใช้น้ำอย่างคุ้มค่า ประหยัดน้ำ ได้ระบบที่เอื้อต่อการให้ปุ๋ยทางน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ และมันสำปะหลังสามารถรับน้ำตลอดฤดูฝนได้อย่างเต็มที่ และสุดท้ายคือ จะต้องได้ผลผลิตมันสำปะหลังที่คุ้มทุน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น
โมเดลแปลงระบบน้ำหยดแห่งนี้เป็นแปลงต้นแบบให้เกษตรกรได้เรียนรู้ ซึ่งเน้นการออกแบบที่ง่าย ใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ประหยัด ซึ่งอ้อยและมันสำปะหลังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ปลูกในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่สามารถมาเรียนรู้และนำโมเดลต้นแบบของกรมวิชาการเกษตรไปประยุกต์ใช้ขยายผลในแปลงของตนต่อไป