ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
15 พฤศจิกายน 2559 เวลา 07:36 น…. อ่านต่อได้ที่ : http://www.posttoday.com/life/life/465046
โดย…นิธิพันธ์ วิประวิทย์
ชื่อแซ่ ม้าเจ๊ก อาจฟังเหมือนสัตว์พาหนะ แต่ม้าเจ๊กที่จะพูดถึงเป็นนักการทหารผู้ฉาวโฉ่แห่งยุคสามก๊ก ม้าเจ๊กเป็น “เด็กในสังกัด” ขงเบ้ง ขงเบ้งชื่นชมม้าเจ๊กเป็นการส่วนตัว เพราะมีดีไม่ว่าจะเป็นบุคลิก ความรู้และคารมล้วนเป็นเลิศ พูดจาน่าเชื่อถือ เขามักให้คำปรึกษาชั้นยอด
ม้าเจ๊กเสนอว่าเพื่อความสงบสุข ระหว่างจ๊กก๊กกับชนกลุ่มน้อยทางใต้ ให้เอาชนะใจ มากกว่ายกกำลังทหารเข้า ปกครอง ที่ขงเบ้งใช้กลยุทธ์เจ็ดจับเจ็ดปล่อยเบ้งเฮ็ก (ผู้นำชนกลุ่มน้อยแถบชายแดนใต้จ๊กก๊ก) จนเบ้งเฮ็กสยบยอมโดยดี ความดีความชอบส่วนหนึ่งมาจากคำปรึกษาของม้าเจ๊ก
แต่ม้าเจ๊กในสายตาคนอื่นยังต้องสงสัย เล่าปี่เคยบอกขงเบ้งว่าม้าเจ๊กพูดเก่ง แต่ให้ทำการใหญ่จริงๆ ไม่ได้ ขี้โม้ อีโก้สูง หลังเล่าปี่ตายไป ขงเบ้งได้อำนาจบริหารใช้คนในจ๊กก๊กเต็มที่ คำพูดเล่าปี่เลยชักเลือนๆ ตัวม้าเจ๊กก็ดูมีผลงานดี “เด็กเราก็ใช้ได้นี่หว่า”
ครั้งหนึ่งขงเบ้งต้องหาแม่ทัพไปรับศึกที่อำเภอเกเต๋ง สมรภูมินี้สำคัญนัก ชี้เป็นชี้ตายสงครามได้ ขงเบ้งกำลังคิดจะให้ใครไปประจำการรับทัพสุมาอี้ ม้าเจ๊กขออาสา ขงเบ้งดีใจครั้งนี้ได้คนไว้ใจรับหน้าที่ แม้เป็นศึกจริงครั้งแรกของม้าเจ๊ก แต่หากทำได้ดี ม้าเจ๊กจะมีบารมี เป็นอีกหนึ่งเสาหลักให้จ๊กก๊ก
ขงเบ้งให้ม้าเจ๊กตั้งทัพรับศึกที่เกเต๋ง และให้อองเป๋งเป็นผู้ช่วย เมื่อทัพม้าเจ๊กถึงเกเต๋งสั่งตั้งทัพบนเนินเขา ม้าเจ๊กให้เหตุผลว่าบนเนินเขาได้เปรียบกว่า ม้าศึกทัพเราพุ่งทะยานลงมา กำลังวังชาเหนือกว่าศัตรูแน่นอน แต่อองเป๋งเห็นว่าไม่ หากสุมาอี้ยกทัพมา หากเขาเลี่ยงไม่โจมตีแต่ปิดล้อมตัดน้ำตัดทางเสบียงจะพากันอดตาย
ม้าเจ๊กไม่ฟังคำทัดทานยืนกรานจะเอาตามที่ตัวเองคิด ย้ำว่าพิชัยสงครามข้าก็เรียนมา ตั้งทัพบนเนินเขาดีกว่าเห็นๆ ทุกอย่างเป็นตามนั้นจริง แต่เป็น “ตามนั้น” ของอองเป๋ง ทัพม้าเจ๊กถูกทัพสุมาอี้ปิดล้อม ทหารส่วนใหญ่เอาชีวิตไม่รอด ส่วนม้าเจ๊กและอองเป๋งต้องหนีตายฝ่าออกมา
สมรภูมิเกเต๋งนำมาสู่ความย่อยยับหลายประการ ขงเบ้งแก้เกมพัลวันและถือว่าจ๊กก๊กเสียสมรภูมิเกเต๋ง สูญเสียความได้เปรียบในการโจมตีข้าศึก “เบ้ง” บอกแล้วว่ามันซีเรียส ขงเบ้งจำต้องสั่งประหารม้าเจ๊กผู้ซึ่งเป็นเด็กในสังกัดทั้งน้ำตา เสมือนต้องตัดแขนตัวเอง…
ขงเบ้งยังถวายฎีกาลดยศของตน 3 ขั้น เพื่อรับผิดชอบความผิดพลาดครั้งนี้ ผู้คนนับพันคอยรุมวิจารณ์ม้าเจ๊กมันไอ้หนอนตำรา อีโก้สูงขนาดนี้สมควรตาย บางคนวิจารณ์ว่าขงเบ้งไม่มีวิสัยทัศน์ ใช้คนผิด ไม่ฟังคำเล่าปี่ สุดท้ายต้องมาเสียน้ำตาเพราะต้องสั่งฆ่าเด็กในสังกัด ขงเบ้งนี่อ่อนจริงๆ บางคนต่อว่าขงเบ้งแข็งเกินไปในยามที่ก๊กต้องใช้บุคลากร ประหารม้าเจ๊กเป็นเรื่องเกินกว่าเหตุ
ไม่เป็นม้าเจ๊ก ไม่เป็นขงเบ้งคงไม่รู้ จริงอยู่สงครามมันไม่ควรพลาด แต่สุดท้ายมันก็พลาดกันได้ หรือผู้ยิ่งใหญ่ในสามก๊กทั้งหลายไม่เคยพลาดกันเลย? หรือผู้ยิ่งใหญ่ทั้งหลายฟังและทำตามคำทัดทานทุกคำ? วันๆ ผู้นำแต่ละคนจะต้องเจอคำทัดทานกันเท่าไหร่ คนทักนั่งเฉยแล้วก็รอความผิดพลาดเท่านั้น แล้วยกคำทักขึ้นมาบอกว่า “ว่าแล้ว มันต้องพลาด” (บ่อยครั้งคนที่ไม่ได้ทักจะพลอยลุกขึ้นมาชี้หน้าด้วย)
อีกมุมหนึ่งลองสังเกตให้ดี เมื่อมองจากมาตรฐานเดียวกันในการบริหารแม่ทัพยุคสามก๊ก การสั่งประหารม้าเจ๊กเป็นโทษที่เด็ดขาดและรุนแรงผิดปกติ พูดง่ายๆ คือ แม่ทัพยุคสามก๊กที่รบแพ้ก็เยอะ แต่โทษถึงประหารมีไม่มาก (ส่วนที่โดนประหาร มักมีปัญหาเรื่องความซื่อสัตย์มากกว่า)
โดยเฉพาะกับก๊กที่บุคลากรมีความสามารถน้อยกว่าก๊กอื่นเห็นๆ ขงเบ้งเข้มงวดเกินมาตรฐานไปหรือเปล่า ถ้าเป็นผู้นำคนอื่นคงคิดว่า “หน้าสิ่วหน้าขวาน ไม่ควรฆ่าผลาญแม่ทัพ” (ขังไว้หรือให้ทำคุณไถ่โทษก็ยังได้) พูดได้ว่าแม้แต่ในยุคอื่น โทษของแม่ทัพรบแพ้ก็ไม่รุนแรงขนาดนี้ หรือขงเบ้งถูกกดดันเพราะปัจจัยอื่น เช่น เรื่องที่ว่าเป็น “เด็ก” ของตัว
วิเคราะห์ไปแล้วจ๊กก๊กที่ขงเบ้งบริหารมีความยากเฉพาะตัว จ๊กก๊กเกิดจากการ Take over ก๊กเดิมของเล่าเจี้ยง แบบเนียนๆ เพราะก๊กเดิมแตกแยก มีทั้งฝ่ายซื่อสัตย์ภักดีและฝ่ายต้องการความเปลี่ยนแปลง ผลคือฝ่ายซื่อสัตย์ต่อเล่าเจี้ยงมีกำลังอ่อนแอ… ก็แพ้ไป
เมื่อเล่าปี่ระดมพลลูกน้องตนเข้าไปเป็นอำนาจใหม่ครอบทับเหนือกลุ่มอำนาจเดิม บุคลากรเดิมและใหม่ไม่ค่อยประสานเป็นเนื้อเดียว แยกเป็นมุ้งใครมุ้งมัน คนใหม่จะมาแย่งชิงอำนาจเจ้าถิ่นเคยมีหรือไม่ เจ้าถิ่นจะลุกฮือต่อต้านอำนาจใหม่หรือเปล่า เมื่อตกอยู่ในความเสี่ยงจำต้องมีเครื่องมือประสานอำนาจใหม่และเก่าเข้าด้วยกัน
ความยุติธรรมคือคำตอบ ขงเบ้งตัดสินประหารม้าเจ๊กทั้งๆ ที่เป็นเด็กของตัวเอง เอาให้เด็ดขาด เพราะไม่อาจล่วงละเมิดหลักความยุติธรรมนี้ เพื่อรักษาความสามัคคีของก๊ก เพื่อหลบหลีกสายตาเพ่งเล็ง ว่าพอเป็น “เด็ก” ในสังกัดแล้วจะรอดได้ หัวม้าเจ๊กและตำแหน่งของขงเบ้งจึงต้องใช้เซ่นสังคมที่ยังอ่อนไหวต่อประเด็นเรื่องความยุติธรรม
ขงเบ้งไม่ใช่ไม่มีจิตใจ ไม่รักเด็กในสังกัด แต่เพราะต้องยืนหยัดในหลักการ เพื่อรักษาสภาพการณ์ที่กว้างกว่า เขาจึงต้องทำทั้งน้ำตานองหน้า ความเข้มงวดเกินเหตุเกินกติกา จึงมีส่วนมาจากสังคมที่อ่อนไหวในประเด็นเฉพาะตัว ลองคิดดูว่าถ้าม้าเจ๊กรอดงานนี้ ความไม่พอใจของกลุ่มที่ไม่ใช่เด็กขงเบ้งจะเพิ่มขึ้นขนาดไหน
ความกดดันรอบข้างตัวขงเบ้งให้ต้องยุติธรรมจนเกินมาตรฐานมีอยู่จริงหรือไม่ ประวัติศาสตร์สามก๊กไม่ได้บอกไว้โดยตรง แต่ก็ใช่จะไม่มีเค้าลาง หลังขงเบ้งตายไป ดูเหมือนความรู้สึกว่าฝ่ายปกครองมีความยุติธรรมในจ๊กก๊กค่อยๆ เสื่อมลง และเมื่อก๊กใกล้ล่มสลาย กลุ่มอำนาจเดิมในท้องถิ่นก็ก้าวเท้าออกมาเสนอให้อาเต๊า (ลูกเล่าปี่) ยอมแพ้เสีย
กลับมาที่ม้าเจ๊ก ม้าเจ๊กผิดแน่ พลาดแน่ แต่โทษประหารก็เป็นเรื่องไม่จำเป็น ยกเว้นก็แต่จะใช้อารมณ์สะใจในละครเป็นที่ตั้ง ใครจะบอกว่าบุคลากรอย่างม้าเจ๊กไม่ควรใช้ไม่ควรมี เอาเข้าจริงถ้าดูให้ละเอียดและมองในมุมของคนที่ไม่ได้รู้เฉลยทางประวัติศาสตร์มาก่อนจะเห็นว่า ม้าเจ๊กก็มีดี นั่นจึงเป็นปัญหาเรื่องการวางคนให้ถูกที่ มากกว่าจะบอกว่าม้าเจ๊กใช้ไม่ได้ ต้องฆ่าทิ้ง
หรือถ้าใช้มาตรฐานสูงแบบนี้ คงต้องเลือกใช้แต่คนฉลาดล้ำ รอบคอบจัด ซึ่งไม่เคยมีมากพอให้ใช้ ม้าเจ๊กควรได้รับโทษหนักพอตัว แต่ไม่ใช่โทษประหาร และหัวม้าเจ๊กก็คงจะอยู่รับใช้จ๊กก๊กต่อไป ถ้าสังคมจ๊กก๊กไม่ได้มีปัจจัยอ่อนไหวเรื่องความยุติธรรม
หัวม้าเจ๊กจึงเอาไว้เซ่นสังเวยสังคม สังคมที่อ่อนไหวกับความยุติธรรม สังคมที่อ่อนไหวจนต้องใช้โทษหนักเพื่อเป็นสัญลักษณ์ ซึ่งไม่สมดุลกับน้ำหนักความผิดพลาด และมาตรฐานการบริหารบุคลากรเอาซะเลย