ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
http://www.naewna.com/local/251250
วันศุกร์ ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2560, 06.00 น.
เมื่อปี พ.ศ.2552-2553 เคยมีเรื่องราวการระบาดของพืชน้ำชนิดหนึ่งที่จัดเป็นวัชพืชที่ทำความเสียหายให้กับระบบนิเวศแหล่งน้ำอย่างร้ายแรง พืชน้ำที่ว่านี้คือ “จอกหูหนูยักษ์”ในครั้งนั้น มีการระบาดของจอกหูหนูยักษ์ในแหล่งน้ำสำคัญหลายแห่ง เช่น แหล่งน้ำในเขตอำเภอคลองหอยโข่ง และอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และเขื่อนแม่กลอง ในเขตอำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี
เขื่อนแม่กลอง ทำหน้าที่ระบายน้ำให้กับพื้นที่การเกษตรของ 7 จังหวัด คือ สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม ราชบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม และเพชรบุรี รวมทั้งระบายน้ำสู่แม่น้ำแม่กลองด้วย เมื่อน้ำไหลไปก็จะพาจอกหูหนูยักษ์ไหลตามไปด้วย
เหตุที่จอกหูหนูยักษ์สามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยการแตกยอดออกไปเรื่อยๆ ประกอบกับลำต้นหักง่าย ส่วนที่หักออกไปจากต้นเดิมสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ ถ้าไม่มีการป้องกันกำจัดการเพิ่มปริมาณของจอกหูหนูยักษ์จึงใช้เวลาที่รวดเร็ว ตามข้อมูลระบุว่า จอกหูหนูยักษ์สามารถเพิ่มปริมาณได้ 2 เท่า ภายใน 2-4 วัน และจาก 1 ต้น สามารถ เจริญเติบโตครอบคลุมพื้นที่ได้กว่า 6 หมื่นไร่ภายใน 3 เดือน
การแพร่กระจายอย่างรวดเร็วของจอกหูหนูยักษ์ มีผลกระทบต่อระบบนิเวศของแหล่งน้ำ ทำให้แสงไม่สามารถส่องผ่านลงไปยังพื้นน้ำเบื้อล่าง ทำให้สิ่งมีชีวิตในน้ำขาดออกซิเจนจนอาจทำให้ปลา และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ในน้ำตาย การทับถมของซากจอกหูหนูยักษ์ที่ตายลงจะทำให้แหล่งน้ำตื้นเขิน เป็นอุปสรรคต่อการสัญจรทางน้ำ จอกหูหนูยักษ์อาจจะปิดกั้นทางน้ำไหล ทำให้น้ำไหลได้ช้า ไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตร หรือ ใช้น้ำผลิตกระแสไฟฟ้าได้
ถ้าเปรียบเทียบกับผักตบชวา จอกหูหนูยักษ์มีความสามารถในการเจริญเติบโตและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่าผักตบชวา เพราะจอกหูหนูยักษ์สามารถเจริญเติบโตได้ภายใต้ร่มเงาของผักตบชวา ขยายพันธุ์อย่างช้าๆ จนเบียดออกมานอกกลุ่มผักตบชวาได้
จอกหูหนูยักษ์ เป็นสิ่งต้องห้ามตามพระราชบัญญัติกักพืช พ.ศ. 2507 ตามประกาศของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2521 โดยระบุชื่อในประกาศว่า “เฟิร์นน้ำซาลวิเนีย” ซึ่งเป็นพืชที่มิได้มีกำเนิดในประเทศไทย หากพบว่าผู้ใดมีไว้ในครอบครอง ผู้ครอบครองจะต้องทำลาย หรือถ้าให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ทำลาย เจ้าหน้าที่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ครอบครองได้ถ้าผู้ใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ขัดขืน ขัดขวางการกระทำ หรือการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
สำหรับจอกหูหนูยักษ์ที่เข้ามาระบาดในประเทศไทยได้นี้ สืบสาวราวเรื่องได้ความว่ามีผู้นำมาจำหน่ายที่สวนจตุจักร เมื่อปี 2544 โดยระบุว่าเป็นสมุนไพร ในครั้งนั้นกรมวิชาการเกษตรได้ทำการกำจัดออกไปโดยปฏิบัติตามกฎหมายภายใต้ พ.ร.บ.กักพืช ต่อมาในช่วงปี 2552 และ 2553 ก็พบการระบาดอีกดังที่กล่าวมาแล้ว ครั้งนั้นกรมวิชาการเกษตรได้ทำการรณรงค์ขอความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ในการป้องกันกำจัดจึงสามารถควบคุมได้ ถึงกระนั้นก็พบว่ายังมีร้านจำหน่ายจอกหูหนูยักษ์ และมีผู้ชื่นชอบความงามของจอกหูหนูยักษ์ปลูกเป็นไม้ประดับอยู่จำนวนหนึ่ง
การป้องกันกำจัดจอกหูหนูยักษ์ที่กรมวิชาการเกษตรแนะนำคือ
ให้นำออกจากแหล่งน้ำ โดยใช้สวิงช้อนออกจากแหล่งน้ำให้หมด ไม่ให้ส่วนที่หักของจอกหูหนูยักษ์เหลืออยู่เพราะลำต้นที่หักสามารถเจริญเติบโตเป็นต้นใหม่ได้ ให้นำไปตากแห้งและเผาทิ้ง หรือฝังดิน หากจะใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชต้องคำนึงถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆในแหล่งน้ำนั้นด้วย
การป้องกันที่ดีที่สุดคือ การไม่นำมาปลูกให้แพร่กระจายออกไป
ที่เท้าความมายืดยาวนี้เพื่อจะบอกว่า ผลจากน้ำท่วมภาคใต้ในปีนี้ ได้พบว่าเกิดการแพร่ระบาดของจอกหูหนูยักษ์ในแหล่งน้ำสำคัญของหลายจังหวัดในภาคใต้อีกแล้ว ทั้งทะเลสาบสงขลา และทะเลน้อย พัทลุง ถ้ายังไม่มีหน่วยงานไหนลงไปกำจัดอย่างจริงจัง ท่าทางจอกหูหนูยักษ์จะเพิ่มปริมาณได้อย่างรวดเร็วด้วยความสบายใจ นั่นหมายความว่าคงยากที่จะกำจัด และคงเป็นมหันตภัยที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะต้องมาเสียงบประมาณในการกำจัดอย่างมากมายในภายหลัง
ก่อนหน้านี้เมื่อต้นปี 2558 พบการแพร่ระบาดของจอกหูหนูยักษ์ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนกิ่วลม จังหวัดลำปาง พื้นที่กว่า 2,400 ไร่ ครั้งนั้นกรมชลประทานผู้ดูแลเขื่อนไหวตัวทันร่วมกับจังหวัดลำปาง เร่งกำจัดจนควบคุมการระบาดได้
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ มอบให้กรมชลประทานหาวิธีกำจัดผักตบชวา ไม่ทราบว่ากรมชลประทานดำเนินการไปถึงไหน เผื่อจะได้ฝากเรื่องกำจัดจอกหูหนูยักษ์พ่วงไปด้วย แต่งานนี้ช้าไม่ได้ มิเช่นนั้นจะเป็นอย่างสหรัฐอเมริกา ที่ต้องใช้งบประมาณในการควบคุมและกำจัดพืชน้ำชนิดนี้ในมลรัฐหลุยส์เซียน่าเพียงรัฐเดียวเป็นเงินถึงหมื่นล้านบาท
เงินหมื่นล้านน่าจะไปทำอย่างอื่นได้อีกเยอะ
แว่นขยาย