เลาะรั้วเกษตร : พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/local/253187

วันศุกร์ ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2560, 06.00 น.

281225166

เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพูดถึงงานวันเด็กว่า ปีนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์งดจัดงาน “เด็กไทย หัวใจเกษตร” หลังจากที่จัดติดต่อกันมา 13 ปี จนมีแฟนคลับซึ่งเป็นเด็กๆ แถวรังสิต ปทุมธานีและบริเวณใกล้เคียงจำนวนนับหมื่นๆ คน ที่รอคอยงานนี้ทุกปี ปีนี้เด็ก คงเหงาไม่รู้จะไปเที่ยวที่ไหน ปรากฏว่าเด็กๆ แห่เข้าไปเที่ยวงานวันเด็กในพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ กันหนาแน่น เพราะเป็นสถานที่เคยจัดงาน “เด็กไทย หัวใจเกษตร” มาก่อนในช่วง 10 ปีแรก

การที่กระทรวงเกษตรฯ ใช้พิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ เป็นสถานที่จัดงานวันเด็ก เพราะต้องการจะโปรโมทให้ประชาชนทั่วไปได้รู้จัก และเข้าไปเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์กันให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากงานวันเด็กแล้ว ยังมีอีกมากมายหลายงาน เช่น งานสถาปนากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็หลายครั้ง ตั้งแต่ ครบรอบ 111 ปี จนถึง 119 ปี ก่อนที่จะเปลี่ยนมาจัดที่หน้ากระทรวงเกษตรฯ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ งานวันข้าวและชาวนาไทยก็เคยจัดที่นี่ งานเศรษฐกิจพอเพียง งานไหม งานเกษตรอินทรีย์ ล้วนแต่ใช้สถานที่พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ ทั้งนั้น

หากจะย้อนกลับไปในอดีต กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สร้างพิพิธภัณฑ์การเกษตรเฉลิมพระเกียรติฯ ขึ้นในพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน ที่ตำบลคลอง 1 อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ในโอกาสที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ในปี พ.ศ. 2539 โดยให้กรมชลประทานเป็นผู้ออกแบบอาคารและควบคุมการก่อสร้าง สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเมื่อ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์เมื่อ 21 มกราคม พ.ศ. 2545

ด้วยเหตุที่การจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ ต้องมีคนดูแล มีการบริหารจัดการที่ดี แต่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไม่ได้ตั้งอัตรากำลังรองรับกับภารกิจนี้ จึงมีปัญหาด้านการดูแล และบริหารจัดการ ไม่สามารถคงสภาพของการจัดแสดงให้ถาวรได้ ต่อมาในปี พ.ศ.2552 จึงได้แก้ปัญหาโดยการจัดตั้งเป็น สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน)

ก่อนที่จะเป็นองค์การมหาชน การจัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์อยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับมอบหมายให้ไปดูแล ปรับปรุง ในส่วนของตน ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ไม่ได้มีงบประมาณ หรือมีผู้รับผิดชอบอย่างจริงจัง ยิ่งกรมป่าไม้แยกออกไปอยู่กับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนนี้จึงขาดคนดูแล กาลเวลาผ่านไปสิ่งต่างๆเริ่มทรุดโทรม ประกอบกับการนำเสนอเป็นบอร์ดภาพ และตัวหนังสือมากกว่าการแสดงของจริงตามลักษณะของพิพิธภัณฑ์ ความน่าสนใจจึงน้อยไปสักนิด พิพิธภัณฑ์การเกษตรฯ จึงไม่ติดตลาดเท่าที่ควรจะเป็น

ถ้าพูดถึงอาคารสถานที่ ตัวอาคารพิพิธภัณฑ์ดูหรูหรา ทันสมัยดี อาจจะอยู่ห่างจากถนนใหญ่ลึกเข้าไปหน่อย ไม่สะดวกสำหรับชาวบ้านที่จะเดินเข้าไป แต่สิ่งนี้คงไม่ใช่ปัญหา ปัญหาน่าจะอยู่ที่บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์ ตั้งแต่ป้ายชื่อพิพิธภัณฑ์ ที่ดูไม่สง่างาม ไม่สะดุดตาผู้คนที่ผ่านไปมา แถมพื้นที่บริเวณป้ายพิพิธภัณฑ์ยังกลายเป็นวินมอเตอร์ไชค์ และป้ายรถเมล์ รวมทั้งรถเร่ขายอาหารการกินอีก จึงดูไม่เป็นระเบียบ ไม่น่ามอง ไม่สง่างามสมกับเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติฯ ถ้าจัดภูมิทัศน์ตรงนี้ใหม่ให้สวยงาม มีต้นไม้เขียวๆ ดอกไม้สีสดๆ ให้สมเป็นกระทรวงเกษตรฯ น่าจะทำให้สะดุดตาผู้คนที่ผ่านไปมามากขึ้น

แม้ปัจจุบัน สำนักงานพิพิธภัณฑ์จะหารายได้เลี้ยงตัวเอง ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆ มากมาย แต่นั่นคงเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะวัตถุประสงค์หลักของพิพิธภัณฑ์ คงไม่ใช่เป็นสถานที่จัดกิจกรรม แต่เป็นสถานที่ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป รวมทั้งนักท่องเที่ยวได้มาเรียนรู้วิถีชีวิตการเกษตรของไทย ผ่านเรื่องราว (Story) และสิ่งที่จัดแสดงทั้งของจริง และของที่จำลองขึ้นมา ถ้าเนื้อหาภายในดี รูปแบบการนำเสนอน่าสนใจ คงเรียกแขกได้ไม่ยาก เพราะสมัยนี้ปากต่อปาก กดไลค์ กดแชร์ กระจายไปอย่างไว

ฝากท่านรัฐมนตรีทั้ง 2 ท่าน ทั้งพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ และ รมช. ชุติมา บุณยะประภัศร ไว้พิจารณา พัฒนาและปรับปรุงสถานที่ให้สวยและสง่างาม ปรับปรุงเนื้อหาและรูปแบบในพิพิธภัณฑ์ให้น่าสนใจ ก็จะเป็นอานิสงส์กับเยาวชนคนรุ่นหลัง ให้เขาภูมิใจกับอาชีพเกษตรกรอย่างที่ท่านพูดอยู่เสมอ

แว่นขยาย

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s