อย่าเห็นหนูๆเป็น‘ตัวตลก’ มองให้ลึก…โพสต์‘คลิปเด็ก’

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

http://www.naewna.com/scoop/227526

วันพุธ ที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2559, 06.00 น.

“เด็กคือผ้าขาว”…

คำกล่าวที่สื่อว่าวัยเด็กเป็นช่วงเวลาแห่งความบริสุทธิ์ นั่นทำให้พ่อแม่ผู้ปกครอง จนถึงคนอื่นๆ รู้สึกเอ็นดูในความน่ารัก “สดใส-ไร้เดียงสา” รวมถึงชื่นชมหากเห็นว่าเด็กคนใดทำความดีหรือมีความสามารถพิเศษเกินวัย เห็นได้จากผู้หลักผู้ใหญ่
มักถ่ายรูป-บันทึกวีดีโอ เพื่อ “แชร์” บอกต่อกันทั้งปากต่อปาก รวมถึงเผยแพร่ใน “โลกออนไลน์”

แม้ผู้เผยแพร่ภาพ-คลิปเด็กจะมี “เจตนาดี” ดังที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานนี้ กรณีคลิปวีดีโอครูรายหนึ่งอบรมเด็กชั้นอนุบาล 2 คน
ที่มีเรื่องกระทบกระทั่งกัน ลงท้ายเด็กทั้งสองคืนดีกัน ผู้เข้าไปชมคลิปจำนวนมากมองในแง่ “ความน่ารัก” เพราะทั้งสองเป็นเพียงเด็กอนุบาล หลายคน “ชื่นชม” ทั้งการอบรมของครู และการยอมรับผิดอย่างจริงใจของเด็กที่ทำร้ายเพื่อน แต่อีกด้านหนึ่งมีผู้ไม่สนับสนุนให้เผยแพร่ และ “ไม่ขำด้วย”

“ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์” คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ค
ส่วนตัว “Mana Treelayapewat” ระบุว่า การทำเช่นนี้ของครูอาจเข้าข่าย “เอาเด็กมาขาย” เพราะผู้ถ่ายและเผยแพร่คลิปเป็นผู้ที่เด็ก “ไว้ใจ” รวมถึงตำหนิผู้ที่เข้าไปแสดงความรู้สึก “ขบขัน” กับคลิปดังกล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเท่ากับกำลัง “ทำร้ายเด็ก” โดยไม่รู้ตัว

ไม่เพียงแต่คลิปดังกล่าวเท่านั้น เพราะหากไปดูในสื่อออนไลน์ประเภทต่างๆ ทั้งเฟซบุ๊ค, อินสตาแกรม หรือยูทูบ พบว่า มีการเผยแพร่ภาพและคลิปลักษณะนี้จำนวนมาก ไม่นับรวมรายการโทรทัศน์ที่ให้พ่อแม่ผู้ปกครองส่งคลิปบุตรหลานตัวน้อยๆ ในอิริยาบถน่ารัก หรือตลกขบขัน มาให้ทางรายการนำออกอากาศ ทั้งหมดนี้คนทำงานด้าน “สิทธิเด็ก”มองว่า “อันตราย-ไม่เหมาะสม”

“อัญญาอร พานิชพึ่งรัถ” ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ กล่าวในเวทีเสวนา “คลิปเด็ก : ถ่าย โพสต์ แชร์…มองให้ลึกกว่าความน่ารัก?” จัดโดยสถาบันสื่อเด็กและเยาวชน(สสย.) เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม ที่ผ่านมา ว่า การเผยแพร่คลิปอิริยาบถต่างๆ ของเด็ก ส่วนใหญ่เป็นฝีมือ “คนใกล้ตัว” ทั้งพ่อแม่ ญาติพี่น้อง ครู เพื่อน ซึ่งแม้ผู้เผยแพร่อาจ “ไม่มีเจตนาร้าย” แต่สิ่งเหล่านี้อาจ “ละเมิดสิทธิเด็ก” แม้จะมองเป็นเรื่องขำขัน น่ารัก แต่ลืมไปหรือไม่ว่าจะกลายเป็น “ดาบสองคม”

“กรณีเช่นนี้อาจส่งผลร้ายแรงต่อเด็ก เพราะไม่ต่างอะไรจากการประจานเด็ก เช่น กรณีคลิปครูให้นักเรียนขอโทษเพื่อน, ให้เด็กสะกดคำว่าผีแต่ออกเสียงเพี้ยน, แม่กราบลูก, ผู้ปกครองโพสต์รูปเด็กไม่ใส่เสื้อผ้า และอีกหลายๆ คลิปที่เป็นการละเมิดสิทธิเด็กในโลกออนไลน์” อัญญาอร ระบุ

สอดคล้องกับ “พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร” กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดี ที่ระบุว่า เด็กเป็นวัย
ที่ผู้ใหญ่ต้อง “เคารพ-เข้าใจ-ไม่ละเมิด” และย้ำว่า “เด็กไม่ใช่ตัวตลก” ที่จะถูกนำไป “ล้อเลียน” ให้ขบขันเป็น
ความบันเทิง เพราะขณะที่ผู้ใหญ่กำลัง “สนุก” เด็กคนนั้นอาจกำลัง “ทุกข์-เครียด”

“การนำภาพ หรือคลิปการกระทำในทางไม่ดีไปเปิดเผย อาจทำให้เด็กเครียด อับอาย เกิดความรู้สึกแย่ ถูกล้อเลียนจากเพื่อน กลายเป็นที่รู้จักของสังคม ไม่มีความเป็นส่วนตัว” พญ.จิราภรณ์ ให้ความเห็น

ในประเทศไทย…ผลกระทบต่อเด็กที่กลายเป็น “จุดสนใจ” ของผู้คน อาจยังไม่เห็นชัด แต่ในต่างประเทศเคยมีมาแล้ว หนึ่งในนั้นเป็นเรื่องของ “เจค ลอยด์” (Jake Lloyd) ผู้เคยแสดงเป็น “อนาคิน สกายวอล์คเกอร์”(Anakin Skywalker) ในวัยเด็ก จากภาพยนตร์ดัง “สตาร์ วอร์ส เอพิโซด วัน”
(Star Wars Epidode 1) หลายคนอิจฉาว่าเขาโด่งดังตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่เขากลับเปรียบชีวิตว่าเหมือน “ตกนรกทั้งเป็น”

เจค เคยเปิดเผยว่า “เกลียดทุกอย่างที่เป็นสตาร์ วอร์ส” เนื่องจากบทบาทที่แสดงทำให้ “สูญเสียชีวิตวัยเด็ก” ผู้คนที่พบเจอมักทำเสียง “ไลท์เซเบอร์”(Lightsaber) หรือดาบลำแสง อันเป็นเอกลักษณ์ของภาพยนตร์ชุดนี้ล้อเลียนเขาเสมอ ทำให้โมโหมาก อีกทั้งต้องให้สัมภาษณ์ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทำให้ “ป่วยทางจิต”

ในแง่กฎหมาย ประเทศไทยมี “พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก 2546” มาตรา 27 ห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ
ตัวเด็ก โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง หรือเกียรติคุณ หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตัวเองหรือ
ผู้อื่นโดยมิชอบ ซึ่งใน มาตรา 79 กำหนดบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนไว้ คือ “จำคุก” ไม่เกิน 6 เดือน “ปรับ” ไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก” คณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อธิบายผ่าน “สกู๊ปแนวหน้า” ว่าการจะเข้าข่ายครบองค์ประกอบความผิดต้องมี “เจตนา” ประกอบ ไม่ว่าจะเป็น “เจตนาหวังผล” เช่น เห็นเด็กทำผิดแล้วถ่ายภาพประจาน มุ่งหมายให้เป็นข่าว หรือ “เจตนาเล็งเห็นผล” แม้ไม่มีเจตนาประจาน แต่บางกรณีหากเผยแพร่แล้วเกิดความเสียหายกับเด็กแน่ๆ อาจเข้าข่ายความผิดได้ ต่างจาก “ประมาท” ที่ทำโดยไม่คิดอะไร แต่ต้องไปพิสูจน์ว่าทำเพื่อ “แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบ” หรือไม่?

ฉะนั้นการ “โพสต์-แชร์” เกี่ยวกับเด็ก ไม่ว่าแง่ใดๆ จึงต้อง “ระวัง”…

แม้ผู้โพสต์จะเป็น “พ่อแม่-ผู้ปกครอง” ของเด็กก็ตาม!!!

“รศ.ดร.เจษฎ์” แนะนำว่า ต้องทำในระดับที่เหมาะสม ถ้ามากไปจะทำให้คนรู้สึกไม่ดี เช่น ข้างบ้านมาเล่าให้ฟังทุกวัน เช้าก็บอกว่าลูกฉันเก่งจัง เย็นก็บอกลูกผมยอดเยี่ยม พูดแบบนี้ทุกวัน ผ่านไปสักเดือนเราคงไม่อยากคุยด้วยแล้ว พอผ่านไป 2 เดือน เราอาจเอาลูกไปด่าให้คนอื่นฟัง เด็กก็เป็นคนได้รับผลร้าย

“ฉะนั้นอะไรที่มากไปจะเป็นการยัดเยียด อย่าลืมว่าสื่อสังคมแพร่ขยายไปถึงคนจำนวนมาก คนข้างบ้านอาจยัดเยียดแค่คนคนเดียว แต่ถ้ายัดเยียดคนหมู่มากจะยิ่งไปกันใหญ่ พ่อแม่ชื่นชมลูกได้ แต่ต้องเหมาะสม ไม่มากเกินไป ต้องนึกถึงว่าคนอื่นๆ ไม่ได้เป็นพ่อแม่ของลูกเรา ไม่ได้รู้สึกเหมือนเราทั้งหมด เรารู้สึกอะไรแล้วแสดงออกไปหมด คนอื่นอาจรับไม่ได้” อาจารย์เจษฎ์ ฝากทิ้งท้าย

แม้เข้าใจได้ว่าเมื่อเห็นอิริยาบถที่น่ารักน่าเอ็นดู ตลอดจนความสามารถของเด็กๆ ผู้หลักผู้ใหญ่โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองย่อมอยาก “อวด” แต่อีกมุมหนึ่งใช่ว่าทุกคนจะคิดเหมือนกัน คนที่ “หมั่นไส้-ไม่ชอบ” ก็มี จึงอาจทำให้ตัวเด็กเกิดความเสียหายได้ กลายเป็นว่า…

“ผู้ใหญ่รังแกเด็ก-พ่อแม่รังแกลูก” แบบรู้เท่าไม่ถึงการณ์แท้ๆ!?!?!

SCOOP@NAEWNA.COM

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s