ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
http://www.naewna.com/local/270871
วันศุกร์ ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2560, 06.00 น.
ตั้งแต่วันศุกร์ที่แล้ว ซึ่งเป็นวันประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญฝนตกแต่เช้ามืดทำให้ลานแรกนาชุ่มฉ่ำเป็นพิเศษ ฝนยังตกต่อเนื่องมาอีกทุกวัน รวมทั้งเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดเทอม ชาว กทม. เตรียมตัวเผชิญกับสภาพการจราจรบนท้องถนน ซึ่งคาดว่ารถน่าจะกลับมาติดตามปกติ แต่ผิดคาดรถไม่ได้ติดตามปกติ แต่รถติดมากเป็นพิเศษ เพราะฝนถล่มกรุงตั้งแต่ตี 3 จนถึงเช้าตรู่ “น้ำรอการระบาย” เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ บางโรงเรียนประกาศปิดโรงเรียนต่อ เพราะน้ำท่วมโรงเรียน….
เมื่อพูดถึงเรื่องน้ำ ก็อดคิดถึง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ ไม่ได้…ไม่รู้ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ จะประกาศใช้ทันในยุคของรัฐบาลปัจจุบันหรือไม่ เห็นว่าอยู่ที่ สนช. แล้วแต่ สนช. จะหยิบขึ้นมาพิจารณาเมื่อไรไม่มีใครกล้ายืนยัน…
ร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ…….เกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลที่ว่า ปัจจุบันสถานการณ์ที่เกี่ยวกับน้ำก่อให้เกิดปัญหามากมายทั้งภาวะการขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง ภาวะน้ำท่วมในฤดูฝน ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ใช้น้ำ ตลอดจนปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทำให้คุณภาพน้ำเสียไปจนไม่อาจนำน้ำมาใช้ประโยชน์ได้ และบางกรณีก่อให้เกิดอันตราย หรือความเสียหายต่อ คน สัตว์ พืช และทรัพย์สิน ด้วยเหตุนี้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องจึงมีความเห็นร่วมกันว่า ควรจะมีมาตรการควบคุมและบริหารแหล่งน้ำ ที่ดินที่ต่อเนื่องกับแหล่งน้ำ และทรัพยากรธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับน้ำ
การควบคุมและบริหารดังกล่าวควรมีองค์กรบริหารการใช้น้ำในระดับชาติ และระดับท้องถิ่นเพื่อวางนโยบายและกำกับดูแลการจัดการเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำด้วยความรอบคอบ และเหมาะสม ตลอดจนกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ปัญหาน้ำท่วม การอนุรักษ์และพัฒนาทรัพยากรน้ำอย่างถาวร โดยจะต้องมีบทลงโทษตามกฎหมายกับคนที่ละเมิดไม่ปฏิบัติตามกฎกติกาที่กำหนดไว้…
นั่นคือเหตุผลของการ มี พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ…..
พ.ร.บ.ฉบับนี้ กำหนดให้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำเป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.นอกจากนี้ใน พ.ร.บ.ยังกำหนดให้มีคณะกรรมการทรัพยากรน้ำคณะหนึ่ง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรน้ำ เป็นประธาน มีปลัดกระทรวงทรัพยากรน้ำ เป็นรองประธาน มีปลัดกระทรวงอีก 6 กระทรวง เป็นกรรมการในจำนวนนี้มี ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ร่วมอยู่ด้วย
ดูองค์ประกอบของคณะกรรมการแล้ว รู้สึกเป็นห่วงพี่น้องเกษตรกร…ปลัดกระทรวงเกษตรฯ เพียงคนเดียวในคณะกรรมการจะเอาอยู่หรือไม่….เรื่องน้ำเพื่อการเกษตรเป็นเรื่องใหญ่ เขื่อนที่สร้างขึ้นส่วนใหญ่ก็เพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตร เขื่อนหลักๆ เช่น เขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นต้น การทำฝนเทียม หรือฝนหลวง ก็เพื่อให้เกษตรกรมีน้ำใช้เพาะปลูก และเพื่อเติมน้ำในเขื่อนให้เพียงพอกับการจัดสรรให้กับพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร แต่น้ำในเขื่อนที่จัดสรรให้เกษตรกรผ่านระบบชลประทานนั้นมีเพียงส่วนน้อย เกษตรกรยังต้องอาศัยฟ้าฝนตามฤดูกาล และอาศัยแหล่งน้ำธรรมชาติประเภท ห้วย หนอง คลอง บึง อีกจำนวนไม่น้อย
นอกจากนี้ ยังมีน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค น้ำเพื่ออุตสาหกรรม น้ำเพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องกับทุกประเภทของการใช้น้ำก็คงบอกว่าการใช้น้ำของตนสำคัญเช่นกัน พ.ร.บ.ฉบับนี้ จึงออกมาเพื่อการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ และแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบ ส่วนการบังคับใช้กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ต้องรอดู เมื่อมีการประกาศใช้ พ.ร.บ. ฉบับนี้แล้ว….
ที่แน่ๆ คือ มีชื่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ เป็นประธานคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ กรรมการชุดนี้มีหน้าที่พิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและการกำหนดลุ่มน้ำเพื่อให้เกิดประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน…..พ.ร.บ.ฉบับนี้จึงเป็นการพิสูจน์ฝีมือ และวิสัยทัศน์ของทหารบก ที่จับพลัดจับผลูมาบริหารจัดการน้ำ……ต้องติดตามดูผลงาน….ห้ามพลาด
แว่นขยาย