ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
http://www.naewna.com/local/272058
วันศุกร์ ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560, 06.00 น.
ดูข่าวน้ำท่วมจังหวัดเชียงใหม่แล้ว ไม่ค่อยสบายใจ…เหมือนภาพเก่าๆ เมื่อปี 2554 กลับมาหลอนอีกครั้ง ปีนั้นน้ำท่วมไล่ลงมาเรื่อยๆ จากภาคเหนือ สู่นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี แล้วเข้าสู่กรุงเทพมหานคร แม้แต่สนามบินดอนเมือง และฐานทัพอากาศดอนเมือง ที่ไม่มีใครคาดคิดว่าน้ำจะท่วม ในที่สุดก็ไม่รอด….
มาพ.ศ. นี้..น้ำท่วมเชียงใหม่ เหตุเพราะฝนตกต่อเนื่องทั้งวันทั้งคืน สถานีสูบน้ำไฟฟ้าขัดข้องเครื่องสูบน้ำไม่ทำงาน ทำให้มีน้ำท่วมขัง แถมยังมีน้ำไหลบ่าจากดอยสุเทพ มาสมทบด้วย ทำให้น้ำท่วมตัวเมืองเชียงใหม่ โดยที่ประชาชนไม่ทันตั้งตัว น่าเห็นใจสำหรับคนที่ได้รับความเดือดร้อน ข้าวของเสียหาย
ในเวลาเดียวกันที่จังหวัดอื่นๆ ทั้ง กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก และ จังหวัดเลย ก็เผชิญกับสภาวะน้ำท่วมเช่นกัน อาจจะเกิดจากฝนตกต่อเนื่อง ระบบระบายน้ำขัดข้อง หรือ น้ำป่าไหลหลาก หรือสาเหตุอื่นใดก็ตาม แต่นั่นคือสัญญาณเตือนให้ตระหนักว่าอย่าประมาทกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และอ้างนั่นอ้างนี่โดยไม่พูดถึงการบริหารจัดการ ผู้ว่าราชการจังหวัดเอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดก็คงอยู่เฉยไม่ได้ ต้องเตรียมพร้อมรับมือตลอดเวลา
อีกหน่วยงานหนึ่งที่คงอยู่ไม่เป็นสุขนักกับสถานการณ์ฝนตกต่อเนื่อง และน้ำป่าไหลหลาก นั่นคือ กรมชลประทาน อธิบดีกรมชลประทาน สัญชัยเกตุวรชัย จึงตั้งโต๊ะแถลงข่าว เมื่อไม่กี่วันมานี้ถึงแนวทางการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนปี 2560 แต่การบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานเป็นไปเพื่อการเกษตร หรือการเพาะปลูกเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะให้สนองตอบนโยบายการผลิตข้าวครบวงจร โดยในลุ่มเจ้าพระยา กำหนดให้บริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ ปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวให้เสร็จภายในเดือนกรกฎาคม เพื่อจะสามารถเก็บเกี่ยวหนีน้ำหลากได้ทัน และเพื่อจะใช้พื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ หรือรับน้ำในเดือนสิงหาคม
ส่วนพื้นที่เจ้าพระยาตอนล่าง ให้ปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวให้เสร็จภายในเดือนสิงหาคม เพื่อหลีกเลี่ยงฤดูน้ำหลากในเดือนกันยายน พร้อมกับจะใช้พื้นที่ดังกล่าวรองรับน้ำหากเกิดกรณีน้ำหลากได้จำนวน 1,500 ล้านลูกบาศก์เมตร
ส่วนกรณีที่ฝนตกหนักในช่วงนี้ อธิบดีกรมชลประทาน บอกว่า เป็นผลดีกับพื้นที่เกษตร เพราะเกษตรกรจะใช้น้ำฝนเป็นหลัก ทำให้ลดการใช้น้ำชลประทาน เขื่อนต่างๆ จึงระบายน้ำน้อยลง ปริมาณน้ำที่เก็บกักไว้จึงมีเพิ่มมากขึ้น เก็บไว้ใช้ยามฝนทิ้งช่วง….แต่อย่าเก็บไว้มากเกินจนต้องเร่งระบายไปท่วมพื้นที่อื่นๆ ให้เดือดร้อนกันไปทั่วก็แล้วกัน
ก่อนหน้านั้น กรมชลประทานก็จัดสัมมนาเรื่อง “ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ และการบูรณาการแผนการดำเนินการสิ่งกีดขวางทางน้ำ” โดยเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท การรถไฟแห่งประเทศไทย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี รวมทั้งระดมสมองเสนอข้อคิดเห็นต่าง ๆ
สิ่งกีดขวางทางน้ำที่ต้องดูแลไม่ให้เป็นอุปสรรค หรือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมที่สำคัญ คือ ถนน สะพาน สิ่งก่อสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ รวมทั้งชุมชนที่ขยายตัว และ ระบบระบายน้ำ อันหมายรวมถึง คู คลอง แม่น้ำ ที่มีสิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำ ไม่ว่าจะเป็นขยะ ดินตะกอนที่ทับถมไม่มีการขุดลอกเป็นเวลานาน และวัชพืชน้ำ โดยเฉพาะผักตบชวาที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วจนกระทรวงเกษตรฯ ต้องตั้งงบประมาณกำจัดผักตบชวาปีละหลายร้อยล้านบาท ถ้าเป็นงบประมาณรวมกับหน่วยงานอื่นด้วย ก็นับได้หลายพันล้านบาท….แต่ก็ยังเอาชนะผักตบชวาไม่ได้อยู่ดี..
เอาเถอะ จะบริหารจัดการน้ำกันอย่างไร ก็รีบจัดการ รีบเตรียมการ อย่าวางใจ หรืออย่าคิดบวกกันเกินไปนัก เพราะถ้าน้ำท่วมขึ้นมา ไม่ว่าเกษตรกร หรือคนเมือง ก็เดือดร้อนพอกัน ทุกวันนี้แค่ฝนตก รถติดอยู่บนถนนเป็นชั่วโมงก็ทำลายเศรษฐกิจไปมากพอแล้ว อย่าให้สถานการณ์น้ำท่วมแบบปี 2554 กลับมาอีกเลย….เศรษฐกิจจะเสียหายยับเยิน…เพราะฉะนั้นรัฐบาลนี้ต้อง “เอาให้อยู่”
แว่นขยาย