ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
http://www.naewna.com/local/299571
x
แจงสี่เบี้ย : สหกรณ์ฯโครงการหลวงถ้ำเวียงแก จำกัด โชว์ผลงานสร้างความยั่งยืนภายใต้เกษตรพอเพียง
สหกรณ์การเกษตรขยายผลโครงการหลวงถ้ำเวียงแก จำกัด อ.สองแคว (ถ้ำเวียงแก) จ.น่าน เป็นอีกหนึ่งสหกรณ์ที่ถูกก่อตั้งขึ้นมาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชนเผ่าม้งใน จ.น่าน มีเป้าหมายสำคัญคือ ต้องการให้ชุมชนเป้าหมายบนพื้นที่สูงมีคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดี และมีความมั่นคงทางอาหาร มีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน ลดการบุกรุกทำลายป่าเพื่อทำการเกษตร
มูลนิธิโครงการหลวงได้เข้ามาส่งเสริมให้คนในชุมชน โดยใช้องค์ความรู้และกระบวนการเรียนรู้ของโครงการหลวง ผสมผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นในการพัฒนาชุมชนบนพื้นที่สูง เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน ภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ 9
ทั้งนี้สหกรณ์การเกษตรขยายผลโครงการหลวงถ้ำเวียงแก จำกัด อ.สองแคว เดิมใช้ชื่อสหกรณ์การเกษตรหมู่บ้านป่าไม้ถ้ำเวียงแก จำกัด ต่อมาเกษตรกรมีความประสงค์อยากเข้าร่วมด้านการเกษตรกับโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงถ้ำเวียงแก จึงเปลี่ยนชื่อเป็นสหกรณ์การเกษตรขยายผลโครงการหลวงถ้ำเวียงแก จำกัด โดยสมาชิกส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวม้ง ปัจจุบันมีสมาชิก 71 รายมีทุนเรือนหุ้น 13,370.00 บาท ทุนดำเนินงาน 1,801,741.99 บาท ผลดำเนินงานปีที่ผ่านมามีกำไร 86,802.01 บาท ซึ่งสหกรณ์ได้เน้นการดำเนินธุรกิจ ได้แก่ การจัดหาสินค้ามาจำหน่าย และสินเชื่อในการก่อสร้าง (โรงเรือนพลาสติก) สำหรับปลูกผักส่งให้กับมูลนิธิโครงการหลวง ซึ่งเป็นตลาดหลักของเกษตรกร
อย่างไรก็ตาม การจัดตั้งสหกรณ์ถือเป็นหนึ่งในหลายภาคส่วนที่มีบทบาทลดการบุกรุกทำลายป่า และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชนเผ่าบนพื้นที่สูง ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นซึ่งแม้ว่าในระยะแรกของการเข้าไปส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มจะเป็นไปได้ยาก แต่ด้วยการทำงานของภาครัฐที่เข้าถึง พร้อมกับได้น้อมนำพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะช่วยชาวเขาให้ช่วยตนเองในการปลูกพืชที่มีประโยชน์ และมีมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนในด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาไปสู่การอยู่ดี กินดี ให้แก่ประชาชนในชนบท โดยเฉพาะสาขาเกษตรกรรม ที่เน้นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน จากการให้ข้อมูลและชี้แจงให้ชนเผ่าม้งทราบถึงปัญหา พร้อมกับแนวทางการส่งเสริมอาชีพอย่างมั่นคง ทำให้ชนเผ่าม้งค่อยๆ เกิดการยอมรับและมีความเชื่อมั่นมากขึ้น กระทั่งเกิดผลสำเร็จก็ทำให้การดำเนินงานของสหกรณ์เป็นไปได้ด้วยดี ภายใต้การดำเนินชีวิตแบบพอเพียงอย่างแท้จริง