ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/379958
เลาะรั้วเกษตร : เรื่องของ ยาง (อีกครั้ง)
เมื่อวันศุกร์สัปดาห์ที่แล้ว ได้ฟังนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พูดในรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ถึงเรื่องของยางพาราที่รัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหา โดยเท้าความย้อนหลังไปถึงปี 2547 ว่า เป็นปีที่รัฐบาลยุคนั้นสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกยางเพิ่มขึ้นนับล้านไร่ โดยไม่ได้วางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ส่งผลมาถึงปัจจุบันที่ทำให้เดือดร้อนเพราะราคายาง
ถ้ายังจำกันได้ ภายหลังการส่งเสริมให้ปลูกยางล้านไร่ รัฐมนตรีที่มาดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลายท่าน พยายามหาเสียงกับชาวสวนยางว่าจะต้องทำราคายางให้ถึงกิโลกรัมละ 100 บาทให้ได้
จะด้วยความเฮง หรือ ความสามารถไม่ยืนยัน ชาวสวนยางเคยเห็นราคายางขึ้นไปถึง 100 บาท หรือ กว่านั้น ชาวสวนยางร่ำรวยไปตาม ๆ กัน ส่งผลให้เกษตรกรในหลายจังหวัด โค่นไม้ผลที่ราคาไม่ค่อยดี หันมาปลูกยางแทน แต่ยางกิโลกรัมละ 100 บาท อยู่กับชาวสวนยางไม่ยาวนาน เพราะมีสาเหตุและสถานการณ์ที่นายกรัฐมนตรี
ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตยางของไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นช่วงๆ โดยเฉพาะในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ปริมาณผลผลิตพุ่งขึ้นสูงถึง 4.5 ล้านตัน ในขณะที่ราคายางพาราในตลาดโลกกลับลดลง นอกจากนี้สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา กับจีน และประเทศคู่ค้าอื่นๆ ของสหรัฐอเมริกา ทำให้การส่งออกยางพาราของไทยไปยังตลาดจีน ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของไทยมีปัญหา เมื่อส่งออกไม่ได้ ปริมาณยางในประเทศก็มีมาก ส่งผลให้ราคาตกต่ำ
นายกรัฐมนตรี ระบุว่าจากสถานการณ์ดังกล่าว คงพึ่งพาการส่งออกต่อไปไม่ได้ รัฐบาลจึงตัดสินใจจะแก้ปัญหาด้วยการเร่งรัดการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น และพยายามแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน โดยเสนอแนวทางการแก้ปัญหาผ่านคณะกรรมการยางพาราและคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ
รัฐบาลเสนอทั้งที คณะกรรมการทั้ง 2 คณะ มีหรือจะคัดค้าน….
แนวทางแก้ปัญหาของรัฐบาล คือ จะมีโครงการพัฒนาอาชีพของชาวสวนยางเพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้นระหว่างราคายางยังตกต่ำอยู่ ให้มีการเปลี่ยนพื้นที่ปลูกยางที่ต้นยางมีอายุ 25 ปีขึ้นไป หรือต้นยางที่ไม่สมบูรณ์ไปปลูกพืชอื่นแทน รวมทั้งส่งเสริมการปลูกพืชอื่นแซมในสวนยางเพื่อเพิ่มรายได้
ให้เกษตรกรหยุดกรีดยางเป็นเวลา 1-2 เดือน ซึ่งจะสามารถลดปริมาณผลผลิตยางลงได้เดือนละ 5 แสนตัน พร้อมกับให้ กยท.ไปทำโครงการ ฝากน้ำยางไว้กับต้นยางช่วงราคาตกต่ำ โดยเชิญชวนให้ชาวสวนยางเข้าร่วมโครงการแบบสมัครใจให้ได้สัก 80% ของชาวสวนยางทั้งหมด ระหว่างที่หยุดกรีดยาง ก็ต้องหาอาชีพอื่นให้ชาวสวนยางมีรายได้ด้วย
อีกแนวทางหนึ่ง คือ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการยางล้อรถยนต์เชิญชวนให้ประชาชนเปลี่ยนยางล้อรถยนต์ในช่วงปีใหม่ในราคาถูก และสามารถนำใบเสร็จไปลดภาษีได้ ส่วนผู้ประกอบการก็จะได้สิทธิพิเศษทางภาษีด้วยเช่นกัน แนวทางสุดท้าย คือ เร่งรัดการใช้ยางในประเทศอย่างเร่งด่วน โดยส่งเสริมการใช้ยางและผลิตภัณฑ์ยาง ทุกรูปแบบ
ในมาตรการที่ประกาศมาทั้งหมดคงใช้งบประมาณมิใช่น้อย และบางมาตรการก็ใช้ไม่ได้ผลอย่างที่คาดหวัง มีเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยกล่าวถึง นั่นคือ การลงทุนในอุตสาหกรรมแปรรูปยางภายในประเทศ ทั้งที่จะเป็นวิธีที่จะดูดซับปริมาณผลผลิตยางในประเทศได้มากทีเดียว หรือ กยท.ว่าอย่างไร….ออกมาส่งเสียงบ้าง…ชาวสวนยางจะได้มีที่พึ่ง