ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/403684
ชายคาพระพิรุณ : 25 มีนาคม 2562
ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการให้มีการเร่งจ่ายเงินค่าครองชีพไร่ละ 600 บาท พร้อมกำชับให้ดูแลและติดตามเกษตรกรอย่างใกล้ชิด เนื่องจากการคาดการณ์สถานการณ์ผลกระทบจากภัยแล้ง อาจยาวนานต่อเนื่องนั้น นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร บอกว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตร จะช่วยเหลือให้เป็นปัจจัยการผลิตกับเกษตรกร ในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 13 ทุ่ง และพื้นที่งดทำนาปรัง มาปลูกพืชผัก พืชไร่ ใช้น้ำน้อยช่วงฤดูแล้งนี้ โดยเกษตรกรต้องไม่เคยเข้าร่วมโครงการที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลทุกโครงการในฤดูกาลที่ผ่านมา จะจ่ายให้กับเกษตรกร ครัวเรือนละ 1 สิทธิ์ ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร ตามพื้นที่ปลูกจริงในอัตราไร่ละ 600 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ เป็นเงินประมาณ 9,000 บาท ในพื้นที่เป้าหมาย 4.87 ล้านไร่ เกษตรกร 330,000 ครัวเรือน ภายใต้กรอบวงเงิน2,932 ล้านบาท เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และเป็นการลดภาระค่าครองชีพควบคู่ไปกับการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรสามารถรักษาศักยภาพการผลิต ส่งผลให้คุณภาพชีวิตมีความมั่นคงเข้มแข็งในการประกอบอาชีพ
อย่างไรก็ดี จากการคาดการณ์ของกรมอุตนิยมวิทยาที่แจ้งไว้ว่า ฤดูฝนมาช้า และอาจยาวนานถึงปลายเดือน พ.ค.ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายการลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง และส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยและลดความเสี่ยงในการเพาะปลูกที่ปริมาณน้ำมีไม่เพียงพอซึ่งการปลูกพืชหลังนา เกษตรกรจะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น เช่น ค่าสูบน้ำ ค่าจัดการศัตรูพืชที่สูงกว่าฤดูกาลปกติ ทำให้จะมีรายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ สำหรับโครงการ เกษตรกรต้องสมัครเข้าร่วมโดยมีเงื่อนไขสำคัญ 3 ข้อ ดังนี้ 1.เป็นเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชหลังนาปี 2561/62 ในพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2561 – 31 มี.ค 2562 และขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2562, 2.เป็นเกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกพืชหลังนา ปี 2561/2562 ยกเว้นภาคใต้ และพื้นที่ลุ่มต่ำ 13 ทุ่ง ตั้งแต่ วันที่ 1 พ.ย. 2561 – 30 เม.ย 2562 และขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2562, 3.เป็นเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชหลังนา ปี 2561/62 ในพื้นที่ภาคใต้ ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2562 – 15 มิ.ย. 2562 และขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในวันที่ 15 สิงหาคม 2562 นอกจากนี้ ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2559-2561) ปีใดปีหนึ่ง และเป็นพื้นที่เฉพาะที่นา ตั้งแต่ 1 งานขึ้นไปแต่ไม่เกิน 15 ไร่ โดยช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกพืชอื่นๆ ในนา เช่น พืชไร่ พืชผัก พืชใช้น้ำน้อย พืชอาหารสัตว์ พืชปรับปรุงบำรุงดิน ฯลฯ ยกเว้น อ้อยและสับปะรด กรณีเกษตรกรปลูกพืชหลังนามากกว่า 1 ชนิด สามารถเลือกชนิดพืชในการขอรับการช่วยเหลือแต่พื้นที่รวมกันได้ แต่ต้องไม่เกิน 15 ไร่ ต่อครัวเรือน และหากเกษตรกรปลูกพืชอายุสั้นที่มีการเพาะปลูกหลายรอบการผลิตในพื้นที่เดียวกัน เช่น พืชผัก สามารถเข้าร่วมโครงการขอรับการช่วยเหลือได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยเกษตรกรต้องแจ้งข้อมูลที่เป็นจริง เพราะจะมีคณะทํางานตรวจสอบสิทธิ์ระดับตําบล เป็นผู้ตรวจสอบสิทธิ์ และเกษตรกรสามารถแจ้งขอรับสิทธิ์ได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอที่ตั้งแปลงปลูกตามเวลาที่กำหนด นายสำราญ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับเงินช่วยเหลือชาวสวนปาล์ม ไร่ละ 1,500 อีกประมาณ 90,000 ครัวเรือน ที่กำลังรออยู่ในขณะนี้ ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถจ่ายเงินให้กับเกษตรกรได้ตั้งแต่ประมาณสัปดาห์หน้า หรือก่อนสงกรานต์ แน่นอน…
ส่วนกรณีที่เกษตรกรหลายท่าน ยังคงสับสนว่าวิสาหกิจชุมชนสามารถปลูกกัญชาได้นั้น นายสำราญ สาราบรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวชี้แจงในประเด็นนี้ว่า กัญชา ยังเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ยังปลูกและขายไม่ได้ แต่สามารถทำได้ในกรณีจำเป็น เพื่อประโยชน์ของทางราชการ การแพทย์ การรักษาผู้ป่วยหรือการศึกษาวิจัยและพัฒนา รวมถึงการเกษตร พาณิชยกรรม วิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรม เพื่อประโยชน์ ทางการแพทย์ด้วย และต้องได้รับ อนุญาตจากเลขาธิการ อย. โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ แต่สำหรับวิสาหกิจชุมชนที่จะได้รับอนุญาตให้ปลูกกัญชาได้ จะต้องมีสัญญากับหน่วยงานของรัฐ หรือ สถาบันอุดมศึกษา ที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ หรือเภสัชศาสตร์ และหน่วยงานนั้น ได้รับใบอนุญาตจาก อย. นอกจากนี้ กรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีหน้าที่ในการรับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน และจะไม่รับจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชนที่ต้องการปลูกกัญชาโดยเฉพาะ เนื่องจากขัดต่อประกาศของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน พ.ศ.2560 และหากต้องดำเนินการควบคู่ จะต้องนำสำเนาสัญญากับหน่วยงานของรัฐ หรือ สถาบันอุดมศึกษา ยื่นขอเพิ่มกิจการวิสาหกิจชุมชน ณ สำนักงานเกษตรอำเภอ ที่วิสาหกิจชุมชนจดทะเบียน…โดยส่วนตัวของขุนเกษตรา มองว่า เราเริ่มต้นจากการควบคุมเป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เพราะกัญชา สำหรับสังคมไทย ยังไม่เหมาะที่จะปล่อยให้ปลูกได้อย่างอิสระ เนื่องจากคนจำนวนหนึ่งยังใช้เพื่อเสพ ดังนั้น ค่อยๆ ปลอดล็อค ไปทีละขั้น ทีละตอน ก็สมควรดีแล้ว…
ขุนเกษตรา