ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/424795
ชายคาพระพิรุณ : 8 กรกฎาคม 2562
ช่วงนี้ผลไม้หลายชนิดกำลังทยอยออกสู่ตลาด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมส่งเสริมการเกษตร ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการพัฒนาและบริหารจัดการผลไม้ (Fruit Board) ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์ไม้ผลเศรษฐกิจของประเทศ ประจำปี 2562 ว่าไม้ผลภาคเหนือ ประกอบด้วย ลำไยใน 8 จังหวัดภาคเหนือ ปีนี้มีปริมาณผลผลิต จำนวน 624,321 ตัน แบ่งเป็น ลำไยในฤดู 341,028 ตัน ลำไยนอกฤดู 283,293 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณ 675,549 ตัน ลดลง 7.5% เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเกิดฝนแล้ง ปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอ อากาศร้อน เกิดพายุร้อนและวาตภัย ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) จะอยู่ในเดือนสิงหาคม ส่วนลิ้นจี่ มีปริมาณผลผลิต จำนวน 26,278 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา ปริมาณ 41,220 ตัน ลดลง 36.25% สาเหตุเกิดจากภาวะฝนทิ้งช่วง อากาศร้อนจัด แห้งแล้ง เกษตรกรลดการดูแลรักษาเพราะราคาไม่จูงใจ ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) อยู่ในเดือนพฤษภาคม ผลผลิตไม่เพียงพอจำหน่าย
สำหรับสถานการณ์ไม้ผลภาคใต้ ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ปี 2562 ทุเรียน มีปริมาณผลผลิต จำนวน 445,220 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 304,267 ตัน เพิ่มขึ้น 46.33% เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ราคาดี จูงใจให้เกษตรกรบำรุงรักษาดูแลผลผลิตดีขึ้น ทำให้ต้นมีความสมบูรณ์ ออกดอกและติดผลมากขึ้น ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) อยู่ในเดือนสิงหาคม มังคุด มีปริมาณผลผลิต จำนวน 156,118 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 110,364 ตัน เพิ่มขึ้น 41.46% เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น ต้นมีความสมบูรณ์ออกดอกและติดผลมากขึ้น ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เดือนกรกฎาคม – เดือนสิงหาคม เงาะ มีปริมาณผลผลิต จำนวน 69,371 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 71,884 ตัน ลดลง 3.5% สาเหตุจากอากาศร้อนจัดและน้ำไม่เพียงพอในช่วงเดือนเมษายนส่งผลให้ดอกร่วง ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เดือนสิงหาคม – เดือนกันยายน และลองกอง มีปริมาณผลผลิต จำนวน 67,687 ตัน เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา จำนวน 42,870 ตัน เพิ่มขึ้น 57.89% เนื่องจากมีช่วงแล้งเหมาะสมกับการออกดอก และต้นมีความสมบูรณ์ออกดอกเพิ่มขึ้น ช่วงที่ผลผลิตออกมาก (peak) เดือนกันยายน – เดือนตุลาคม โดยที่ประชุมคณะกรรมการฯ เห็นชอบแผนบริหารจัดการผลไม้ ปี 2562 เพื่อให้จังหวัดใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการบริหารจัดการผลไม้ในฤดูกาลผลิต ปี 2562 แบบเบ็ดเสร็จด้วยตัวเอง โดยผ่านกลไกคณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากผลผลิตการเกษตรระดับจังหวัด (คพจ.) ให้เป็นไปตามกลไกตลาดปกติ ในเชิงปริมาณเน้นการจัดสมดุลอุปสงค์และอุปทาน ในเชิงคุณภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์พัฒนาผลไม้ไทย พ.ศ. 2558 – 2564 โดยผลไม้ภาคเหนือ ได้แก่ ลำไย เน้นบริหารจัดการลำไยในฤดู ปริมาณ 341,028 ตัน แผนบริหารจัดการผลไม้ภาคใต้เน้นผลผลิตในฤดู รวม 580,401 ตัน แบ่งเป็น ทุเรียน จำนวน 366,938 ตัน มังคุด จำนวน 145,025 ตัน เงาะ จำนวน 68,438 ตัน โดยการบริหารจัดการเชิงปริมาณ ได้แก่ การกระจายผลผลิตในประเทศ ด้วยวิธีการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตผ่านผู้ประกอบการ (ล้ง) วิสาหกิจชุมชน ศูนย์คัดแยกผลไม้ชุมชน สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร Modern Trade ไปรษณีย์/ตลาดออนไลน์ ตลาดค้าผลไม้ภายในจังหวัด การจำหน่ายตรงผู้บริโภค การจัดงานประชาสัมพันธ์ เป็นต้น การแปรรูป ด้วยวิธีการแช่แข็ง อบแห้ง กวน ทอด และการส่งออก (ผลสด)
การทำบัญชีครัวเรือน เป็นเครื่องมือนำทางให้ผู้ทำบัญชี รู้จักคิด รู้จักจ่าย รู้จักออมและเกิดแรงจูงใจที่จะปรับเปลี่ยนตนเองสู่ชีวิตที่ดียิ่งขึ้น และก่อเกิดแนวคิดพัฒนาอาชีพ ทำให้รู้รายได้ รู้รายจ่าย มีเงินออม ซึ่งเด็กและเยาวชนเป็นอีกกลุ่มเป้าหมายที่กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ได้ให้ความสำคัญ โดยมุ่งเน้นให้เยาวชนนักเรียนตระหนักและเห็นประโยชน์ของการบันทึกบัญชี และสามารถจัดทำบัญชีรับ-จ่ายของตนเอง รวมทั้ง ยังเป็นการสร้างและผลักดันให้เยาวชนนักเรียนเป็นกลไกในการขับเคลื่อนการจดบันทึกบัญชีและเป็นเครือข่ายในการถ่ายทอดความรู้ด้านการจดบันทึกบัญชีรับ-จ่ายในครัวเรือนให้กับบุคคลในครอบครัวและบุคคลผู้ใกล้ชิด ซึ่งเป็นการปลูกฝังการสร้างวินัยทางการเงินให้เยาวชนรู้จักการวางแผนการใช้จ่ายเงิน นำไปสู่การดำเนินชีวิตตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อเร็วๆนี้ นายโอภาส ทองยงค์ อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จึงมีนโยบายให้ กองประสานงานโครงการพระราชดำริ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นำโดยนางสาวปัทมนันท์ ผดุงชีวิต ผู้อำนวยการกลุ่มประสานงานและติดตามผล พร้อมด้วยบุคลากรในสังกัด เป็นวิทยากรบรรยายในโครงการ “ออมไม่อด จดไม่จน” ร่วมกับสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดอบรมสอนแนะการจัดทำบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่นักเรียน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 จำนวน 320 ราย เพื่อส่งเสริมให้เด็กมีความรู้ ความเข้าใจ การจดบันทึกบัญชีรายรับ–รายจ่ายที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ปลูกฝังให้เด็ก และเยาวชน รู้จักการออมเงิน รู้คุณค่าของเงิน และมีวินัยทางการเงินมากขึ้น และแจกสมุดบัญชีต้นกล้าเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่นักเรียนที่เข้ารับการอบรมพร้อมทั้งแนะนำการบันทึกบัญชีด้วยมือถือโปรแกรม “Smart Me” ซึ่งเป็นนวัตกรรมการบันทึกบัญชีของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นอกจากนี้ยังมีการประกวดแต่งคำขวัญเกี่ยวกับการออม และมอบรางวัลให้แก่นักเรียนที่ชนะการประกวด ณ โรงเรียนเบญจมราชาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นับเป็นนโยบายที่ดี ที่จะช่วยปลูกฝังให้เยาวชนได้รู้จักการออมตั้งแต่วันนี้ เพื่อสบายในวันข้างหน้า…
ขุนเกษตรา