ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/432580
ชายคาพระพิรุณ : 12 สิงหาคม 2562
สัปดาห์ที่ผ่านมาเห็นข่าว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจราชการโครงการทุเรียนคุณภาพและการบริหารจัดการทุเรียนคุณภาพของเกษตรกรและกลุ่มเกษตรกร ณ บริเวณตลาดกลางยางพารา ต.สะเตง อ.เมืองยะลา จ.ยะลา ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้ว่า จ.ยะลา เป็นพื้นที่ปลูกทุเรียนที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า ยะลามีพื้นที่ปลูกทุเรียนกว่า 67,000 ไร่ เนื้อที่เก็บเกี่ยวประมาณ 48,000 ไร่ และมีแนวโน้มการปลูกทุเรียนเพิ่มขึ้น ให้ผลผลิตรวมกว่า 41,000 ตันต่อปี สร้างรายได้ 1,600 ล้านบาทต่อปี จังหวัดยะลาจึงนับเป็นแหล่งปลูกทุเรียนแหล่งใหญ่ที่สุดในภาคใต้ตอนล่าง จุดเด่นของทุเรียนยะลา คือ สภาพภูมิอากาศ และพื้นที่ปลูกที่มีลักษณะเป็นพื้นที่ลาดเทมีผืนป่า “ฮาลาบาลา” โอบล้อม ทำให้ไม่มีปัญหาน้ำแช่ขัง ทุเรียนจึงมีคุณภาพดี เนื้อแห้ง เนียนนุ่ม รสชาติหอมหวานมันส์ จนได้รับฉายาว่า “ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา” ซึ่งถือเป็นทุเรียนที่มีคุณภาพ รสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภคทั้งภายในและต่างประเทศ
นอกจากนี้ จ.ยะลายังได้กำหนดให้ทุเรียนเป็น 1 ในวาระของจังหวัด “ยะลาเมืองทุเรียน (Yala Durian City) “ ตั้งเป้าหมายให้จังหวัดยะลาเป็นเมืองทุเรียนแห่งภาคใต้ตอนล่าง เน้นการผลิตทุเรียนคุณภาพ ตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่เป็นหลัก ด้วยการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มคุณภาพผลผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มจากการแปรรูป และที่สำคัญคือให้เป็นศูนย์กลางตลาดค้าส่ง และธุรกิจแปรรูปทุเรียนในพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 ที่ต้องการยกระดับศักยภาพการแข่งขัน และการหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางสู่รายได้สูง ส่งเสริมผู้ประกอบการที่เข้มแข็งและพาณิชย์ดิจิทัล พัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการให้มีความยืดหยุ่น สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจเพิ่มสัดส่วนความเป็นเจ้าของของคนไทยและสนับสนุนให้มีการขยายตลาดที่มีแบรนด์สินค้าและช่องทางการตลาดที่เป็นของตนเองมากขึ้น ตลอดจนพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรม และมอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดยะลา เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนวาระจังหวัดยะลา ยะลาเมืองทุเรียน (Yala Durian City) มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องร่วมบูรณาการเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตและแก้ไขปัญหาให้แก่เกษตรกรชาวสวนทุเรียน ผ่านกระบวนการเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) ที่มีอยู่ทุกอำเภอ ซึ่งมีฐานการเรียนรู้ตามประเด็นต่าง ๆ เช่น การลดต้นทุนการผลิต การป้องกันกำจัดโรคและแมลงศัตรูทุเรียน การพัฒนาคุณภาพผลผลิต การจัดการน้ำในสวนทุเรียน การตลาดนำการผลิตและการเพิ่มมูลค่าจากผลผลิตทุเรียน
สำหรับทุเรียนยะลาในปีนี้ ได้เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตและส่งออกสู่ท้องตลาดผ่านพ่อค้าคนกลาง หรือ ล้ง รับซื้อทุเรียนไปแล้วกว่า 15% ซึ่งราคารับซื้อขณะนี้ ทุเรียนเกรด AB อยู่ที่ราคา 86 บาทต่อกิโลกรัม เกรด C ราคา 67 บาทต่อกิโลกรัม และตกไซต์ประมาณ 40 บาทต่อกิโลกรัม โดยราคาดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ชาวสวนทุเรียนมีความพึงพอใจกับราคาเป็นอย่างมาก มีรายได้เพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากทุเรียนมีคุณภาพจากการเข้าไปส่งเสริมพัฒนาให้ชาวสวนได้รับใบรับรอง GAP และโดยเฉพาะการคัดเลือกเกษตรกรแปลงใหญ่เข้าร่วมกับโครงการทุเรียนคุณภาพของสถาบันปิดทองหลังพระฯ เพื่อเชื่อมโยงด้านการตลาด ช่องทางการจำหน่าย รวมถึงความร่วมมือต่างๆ ซึ่งได้เข้ามาส่งเสริมตั้งแต่เริ่มฤดูการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตทุเรียนคุณภาพ
อย่างไรก็ดี ว่าที่ร้อยตรีสมสวย ปัญญาสิทธิ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมส่งเสริมการเกษตรให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไม้ผล โดยส่งเสริมให้เกษตรกรดำเนินการผลิตตามมาตรฐานและยกระดับสู่การรับรอง (GAP) การพัฒนาคุณภาพผลผลิตสู่การส่งออก การรวมกลุ่มทำตลาดล่วงหน้า การยกระดับสินค้าเกษตรที่เป็นอัตลักษณ์และเหมาะสมกับพื้นที่เพื่อเพิ่มมูลค่า นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดในการจัดตั้งสมาพันธ์ชาวสวนทุเรียนไทย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ วางแผนพัฒนาการผลิตและการตลาดร่วมกัน สร้างความเข้มแข็งองค์กรเกษตรกรเพื่อการพัฒนาและบริหารจัดการทุเรียนระดับประเทศ โดยเชื่อมโยงกลุ่มชาวสวนทุเรียนทั้ง 6 ภูมิภาค มาร่วมกันวางแผนกำหนดแนวทางพัฒนาและบริหารจัดการทุเรียนทั้งระบบ ซึ่งในเบื้องต้นได้คัดเลือกจากเกษตรกรแปลงใหญ่ระดับอำเภอใน 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัด นนทบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ปราจีนบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด นครนายก ชลบุรี ศรีสะเกษ อุบลราชธานี บุรีรัมย์ นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี ยะลา ปัตตานี ระนอง กระบี่ สงขลา นราธิวาส สตูล และตาก โดยเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจังหวัดยะลาได้รวมกลุ่มเป็นแปลงใหญ่มากที่สุดในประเทศ จำนวน 16 แปลง เกษตรกรสมาชิก 951 ราย พื้นที่รวม 6,495.50 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ 900 กก./ไร่ เป็นผลผลิตจากแปลงใหญ่รวม 5,845.95 ตัน สร้างรายได้ 320 ล้านบาทต่อปี…
ขุนเกษตรา