เลาะรั้วเกษตร :ว่ากันคนละเรื่อง

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/443298

281225166

เลาะรั้วเกษตร :ว่ากันคนละเรื่อง

วันศุกร์ ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2562, 06.00 น.

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แสดงความยินดีกับว่าที่อธิบดีกรมหม่อนไหม และเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรไปแล้ว แต่ลืมแสดงความยินดีกับคนเกษตรอีกท่านหนึ่ง ที่หลายคนคงลืมไปแล้ว นั่นคือ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธีรภัทร ประยูรสิทธิ์ ที่ถูกย้ายให้ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษ สำนักนายกรัฐมนตรี สมัยรัฐบาล คสช. แต่จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา มีชื่อธีรภัทร ประยูรสิทธิ มาดำรงตำแหน่ง ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี แทนพัชราภรณ์ อินทรียงค์ ที่จะเกษียณอายุราชการ ในอีกไม่กี่วันนี้

กลับมาแวดวงเกษตรที่มีความเคลื่อนไหวในหลายเรื่อง ที่ยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง คือสารเคมี 3 ชนิด คือ ไกลโฟเซต พาราควอท และคลอร์ไพรีฟอส ที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ กำลังผลักดันให้มีการยกเลิกให้ได้ภายในปีนี้ ซึ่งจากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 18 กันยายน ประธานการประชุม อภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมได้ชี้แจงว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้มีบัญชาเกี่ยวกับเรื่องสารเคมี 3 ชนิดนี้ว่า ให้กระทรวงเกษตรฯ ไปสร้างความเข้าใจกับผู้เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือ หน่วยงานของรัฐผู้นำเข้า เกษตรกร และผู้บริโภค ให้ทราบถึงปัญหา วิธีการ และผลกระทบของสารเคมีดังกล่าว รวมทั้งหาสาร หรือวิธีการอื่นทดแทนการใช้สารเคมี 3 ชนิดนี้ ภายใน 60 วัน

ที่เป็นห่วงคือ กระทรวงเกษตรฯ จะให้ใครไปทำความเข้าใจ ทำความเข้าใจโดยวิธีใด เพราะรัฐมนตรีเองยังไม่เข้าใจสารเคมี 3 ชนิดนี้อย่างดีพอ ฟังแต่ข้อมูลด้านเดียว และยืนยันอย่างแข็งกร้าวว่าต้องยกเลิกเท่านั้น แต่ไม่ได้วิเคราะห์ถึงผลที่ตามมาในด้านต่างๆ อย่างรอบคอบ เช่นที่ผู้บริหารควรจะเป็น….

หรือแม้แต่กระทรวงสาธารณสุขเอง รัฐมนตรีว่าการ อนุทิน ชาญวีรกูล ก็ออกมาตอกย้ำที่ดูเหมือนจะดีว่า ถ้าเป็นคนที่มีสติสัมปชัญญะดีสารพิษอันตรายขนาดนี้ถ้าไม่ยกเลิกก็ไม่รู้จะว่าอย่างไร…ก็อาจจะมีคนย้อนถามท่านกลับไปเหมือนกันว่า ถ้าเป็นคนที่มีสตติสัมปชัญญะดี ควรจะมีการศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนที่จะเชื่อข้อมูลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่าต้องมีอะไรอยู่ในกอไผ่แน่ๆ มิเช่นนั้นคงไม่มีการส่งต่อไม้กันอย่างเหนียวแน่นเช่นนี้….

พักเรื่องสารเคมี มาว่าเรื่องการช่วยเหลือเกษตรกรกันบ้าง ความเคลื่อนไหวเรื่องนี้แม้จะไม่ใช่ภารกิจของกระทรวงเกษตรฯ โดยตรง แต่กระทรวงเกษตรฯ มีส่วนในการให้ข้อมูล หรือชี้เป้าให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ในการจ่ายเงินอุดหนุนให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ตามโครงการสนับสนุนต้นทุนการผลิตให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปีการผลิต 2562/63 โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการปลูกข้าว ไร่ละ 500 บาท รายละไม่เกิน 20 ไร่ ทั้งนี้ต้องเป็นเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวนาปีกับกรมส่งเสริมการเกษตรจำนวน 4.5 ล้านราย วงเงินรวม 2.4 หมื่นล้านบาท

ส่วนเกษตรกรที่ประสบภัยแล้ง และอุทกภัย กระทรวงการคลังมีมาตรการช่วยเหลือ โดยให้ ธ.ก.ส. ปล่อยสินเชื่อให้เกษตรกรเป็นสินเชื่อฉุกเฉินรายละ 50,000 บาท ปลอดดอกเบี้ยในปีแรก และสินเชื่อเพื่อฟื้นฟูสภาพพื้นที่ และชีวิตความเป็นอยู่รายละ 500,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ต่อปี

มาถึงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยของกระทรวงเกษตรฯ ที่ดำเนินการไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน ที่ผ่านมา คือ โครงการจิตอาสากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ช่วยเหลือฟื้นฟู ดูแลเกษตรกรผู้ประสบภัย โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เฉลิมชีย ศรีอ่อน ได้เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ ที่สำนักงานชลประทานที่ 7 อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

โครงการนี้ให้หน่วยงานของกระทรวงเกษตรฯ ในพื้นที่ได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือเกษตรกรตามภารกิจหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆ พร้อมๆ กันในพื้นที่จังหวัดที่ประสบอุทกภัย 21 จังหวัด

ฝ่ายรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ประภัตร โพธสุธน หลังจากลงพื้นที่ประสบอุทกภัยจังหวัดร้อยเอ็ด ได้รับรายงานพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิได้รับความเสียหายกว่า 8 แสนไร่ ก็เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี ช่วยเหลือเกษตรกรโดยการส่งเสริมอาชีพหลังน้ำลด โดยการให้เกษตรกรปลูกถั่วเขียว ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และ เลี้ยงโคขุน โดยเฉพาะการเลี้ยงโคขุนนี้จะชงโครงการสนับสนุนเงินกู้ให้เกษตรกรรายละ 120,000 บาท สำหรับซื้อลูกวัว 5 ตัว

บังเอิญเห็นองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร ลงโฆษณาประชาสัมพันธ์ในหนังสือพิมพ์เต็มหน้าสี่สี พื้นที่ส่วนหนึ่งเชิญชวนช่วยเหลือเกษตรกร 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วยการซื้อลองกองที่จะนำมาจำหน่ายที่ อ.ต.ก. ระหว่างนี้จนถึงวันที่ 12 ตุลาคม นี้ แต่พื้นที่อีกส่วนหนึ่ง เป็นรูปรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า พร้อมกับข้อความซึ่งเป็นนโยบายที่มอบให้อ.ต.ก. ดำเนินงาน คือ การแก้ปัญหาผลไม้ล้นตลาด แต่ไม่ได้มีเนื้อหาสาระที่เป็นข้อมูลอะไรที่เป็นรูปธรรม

เป็นภาพและข้อความโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ดูจะเร่งรีบทำให้ทันปีงบประมาณนี้หรือเปล่าไม่กล้ายืนยัน

ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ คงเห็นได้ว่า ภารกิจของรัฐมนตรีทั้ง 4 ท่านของกระทรวงเกษตรฯ ต่างคนต่างว่ากันไป อะไร คือ นโยบายหลักที่เป็นเอกภาพของกระทรวงเกษตรฯ ยังมองไม่เห็น…

แว่นขยาย

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s