ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/446220
ซอกแซกอาเซียน : 10 ตุลาคม 2562
เมื่อการประชุมเจรจาที่กระทรวงเกษตรป่าไม้และประมงของญี่ปุ่นเสร็จ ตอนบ่ายแก่ๆ เขาก็พาไปชมโรงงานแปรรูปข้าว หรือโรงสีนั่นแหละ ตั้งอยู่ในจังหวัดชิบะ ไม่ไกลจากโตเกียวมากนัก เพราะโรงงานแห่งนี้แหละที่ทางการญี่ปุ่นจ้างให้สีข้าวและบรรจุกระสอบ เพื่อจัดส่งไปช่วยเหลือต่างประเทศ
การเดินทางของคณะเราซึ่งรวมถึงผู้แทนฟิลิปปินส์ ทางญี่ปุ่นจัดรถตู้ให้นั่งรวมกันไป มีคนขับพร้อม เข้าใจว่าเป็นรถราชการ พูดถึงคนขับรถยนต์ หรือที่เรามักเรียกติดปากกันว่า พขร. ผมชอบระบบของญี่ปุ่นเขามาก อันที่จริงแล้ว เราคงพอทราบกันล่ะว่าของเขาควรจะเป็นอย่างไร แต่ผมอยากนำมาเสนอไว้อีกครั้ง เผื่อว่าท่านผู้บริหารราชการเมืองไทยจะเห็นงามและคิดเอาไปใช้บ้าง นั่นคือ พขร. หน่วยราชการญี่ปุ่นนี้ เขาจะแต่งตัวสุภาพมาก ใส่เสื้อขาวแขนสั้นทับในกางเกงขายาวสีดำ รองเท้าหนังสีดำ และใส่ถุงมือสีขาว ทุกครั้งที่นำรถมาจอดเทียบเพื่อให้แขกผู้โดยสารขึ้นลงรถตู้ เขาจะวิ่งมายืนที่ประตูผู้โดยสารคอยเปิดและปิดประตู พร้อมโค้งคำนับ ยิ้มแย้มแจ่มใส จนเราก็ต้องขอบคุณและคำนับตอบด้วยความเกรงใจ ดูแล้วช่างน่าประทับใจดีแท้ครับ ที่เขาทำได้เช่นนี้ ส่วนหนึ่งเท่าที่ผมพอรู้มาอยู่บ้างสำหรับในประเทศที่เจริญแล้ว ไม่ว่าสิ่งที่ทำนั้นจะเป็นอาชีพที่ดูต่ำต้อย อย่างเช่น คนกวาดถนนก็ตาม เป็นเพราะมีความภาคภูมิใจในอาชีพที่ทำและการได้รับเกียรติจากสังคมโดยเท่าเทียมกัน กล่าวง่ายๆ คือ ในสังคมที่ยึดถือค่านิยมตามระบบคุณธรรม แทบจะไม่มีใครดูถูกใคร ไม่ว่าใครจะประกอบอาชีพอะไร หากเขาคนนั้นประกอบอาชีพด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตและเคารพในสิทธิและเกียรติของคนอื่นครับ
ตกตอนเย็นหลังจากไปดูงานการสีข้าวของญี่ปุ่น ซึ่งโดยสรุป ผมว่าคงจะไม่มีใครทำได้เทียบเท่า หรือใกล้เคียงกับระบบของเขาเป็นแน่ คณะก็เดินทางกลับมาโตเกียว และในตอนค่ำ ก็จะเป็นการเลี้ยงรับรองของเจ้าภาพตามประเพณี แต่การเลี้ยงรับรองของญี่ปุ่นแตกต่างอย่างมากกับที่ฟิลิปปินส์ เพราะสถานที่จัดเลี้ยงไม่ได้ใช้ห้องประชุมใหญ่ของกรมหรือสำนักงานพร้อมมีดนตรีเต้นรำกันอย่างครื้นเครงสุดเหวี่ยง แต่ของญี่ปุ่นไปจองร้านอาหารข้างนอก และจัดแบบพิธีการเป๊ะเลยซึ่งความจริงทางสำนักเลขานุการแอปเตอร์ของพวกเราเองก็เคยจัดเลี้ยงแบบนี้มาหลายครั้งแล้วเมื่อมีการประชุมกันในวาระต่างๆ ที่กรุงเทพฯ
สถานที่จัดเลี้ยงเป็นห้องอาหารตั้งอยู่บนอาคารสูง ไม่ไกลจากย่านอาซะกุสะซึ่งเป็นจุดท่องเที่ยวที่สำคัญของโตเกียวเท่าใดนักห้องอาหารคงราวๆ ชั้นที่ 20 เห็นจะได้ สามารถมองออกผ่านกระจกเห็นวิวเมืองโตเกียวด้านหนึ่งสวยงามมาก มีคนร่วมงานเลี้ยงประมาณเกือบ 20 คน เจ้าภาพญี่ปุ่นมีท่านอธิบดีมาเอง นั่งกลางโต๊ะยาวหันหลังให้กระจก ส่วนแขกทั้งหมดนั่งหันหน้าออกกระจกเห็นวิวได้ และนี่คือวิธีการจัดโต๊ะที่นั่งตามโปรโตคอลที่ถูกต้องแบบหนึ่ง บนโต๊ะหน้าเก้าอี้นั่งจะเขียนชื่อและตำแหน่งผู้นั่งไว้ทุกคน และมีกระดาษเขียนเมนูอาหารไว้ด้วยทุกที่นั่ง เรียกว่าเต็มรูปแบบพิธีการทูตเลย
แต่บรรยากาศงานเลี้ยงที่ญี่ปุ่นคืนนั้น กลับไม่ดูเงียบเกร็งไปตามระบบระเบียบพิธีการทูตเท่าใดนัก เพราะต้องขอบคุณท่านอธิบดีญี่ปุ่นที่กรุณาพูดคุย และสร้างบรรยากาศที่เป็นกันเองให้กับพวกเราทุกคนขึ้นชื่อว่าคนญี่ปุ่นแล้ว เกือบทุกคนดื่มจัดมากกินเหล้าเบียร์เหมือนกินน้ำ พอได้ที่ก็จะเริ่มพูดจาเสียงดังฟังชัด พร้อมกับพูด “คัมปาย” คล้ายๆ กับ“กัมเปย”ในภาษาจีน ชนแก้วกันถี่ๆขณะที่อาหารก็มาตามคอร์ส แต่ก็ไม่ดึกอะไรนัก สักสามทุ่มก็เลิก เพราะเห็นเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรฯ ญี่ปุ่นบอกว่า เจ้านายแกคงพอ เพราะก่อนจะมาพบกินกับพวกเรา แกไปงานเลี้ยงอื่นมาก่อน นี่ก็เป็นภารกิจของผู้ใหญ่นะ กลางคืนยันดึกดื่นต้องเข้าสังคมไม่ต่างกันเลยเกือบทั่วโลก
เวลาสามทุ่มของญี่ปุ่น สำหรับคอดื่มถือว่ายังเยาว์วัยมาก พวกเจ้าหน้าที่ก็เลยนัดแนะพวกเราไปกินกันต่ออีกร้าน ซึ่งเหมือนกับผมเมื่อสมัยยังหนุ่มๆ อยู่ที่มักจะร่วมกับเพื่อนคอเดียวกัน ชวนกันไปต่อ “ข้าวต้มสัก 1 แบน” หมายถึงจะไปกินข้าวต้มก่อนกลับบ้าน แต่เมื่อไปถึง กลับไปสั่งเหล้าที่ร้านข้าวต้มกินต่ออีก คนญี่ปุ่นก็เช่นกัน ที่โดยทั่วไปจะกินจนกระทั่งประมาณเที่ยงคืนหรือตีหนึ่ง ซึ่งเป็นเวลารถไฟใต้ดินเที่ยวสุดท้าย จึงได้เวลาแยกย้ายกลับบ้าน
ชาญพิทยา ฉิมพาลี
chanpithya@apterr.org