เลาะรั้วเกษตร : จำไว้เลย

ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/449376

281225166

เลาะรั้วเกษตร : จำไว้เลย

วันศุกร์ ที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2562, 06.00 น.

คงต้องบันทึกบนหน้าประวัติศาสตร์ของวงการเกษตรไทย พร้อมทำเครื่องหมายดอกจัน และขีดเส้นใต้หลายๆ เส้นว่า “เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตราย ได้มีมติให้ยกเลิกการใช้สารเคมีทางการเกษตร 3 ชนิด คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ตามกระแสกดดันรอบด้าน ทั้งการเมืองเอ็นจีโอ สื่อมวลชน และโซเชียลมีเดีย”

การเมือง คือ รัฐมนตรีผู้กำกับดูแลหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการขอให้ยกเลิกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอุตสาหกรรม

รัฐมนตรีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งเข้ามาทำงานได้ไม่กี่วัน ก็ประกาศว่าต้องยกเลิกการใช้สารเคมี 3 ชนิด ให้ได้ภายในปี 2562 โดยไม่ศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน แถมยังหาความชอบธรรมให้กับตนเองโดยการตั้งคณะทำงานซึ่งมีแต่ฝ่ายสนับสนุนให้แบนและคนของตนเองขึ้นมาพิจารณา เพื่อให้มติที่ประชุมออกมาเป็นเอกฉันท์ในการให้ยกเลิก และนำมติของคณะทำงานนี้ส่งให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายว่าเป็นความเห็นของกระทรวงเกษตรฯ

กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการให้ยกเลิกการใช้ตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว โดยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาความเป็นพิษของสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ตามการชี้เป้าของเอ็นจีโอและข้อมูลสนับสนุนจากผลงานวิจัยที่บิดเบือนอย่างผิดจรรยาบรรณของนักวิจัย

กระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่ประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย คือ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย

รัฐมนตรีของทั้ง 3 กระทรวง ต่างให้นโยบายแก่ผู้แทนจากหน่วยงานในสังกัดของตนออกเสียงให้ยกเลิกการใช้ ในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา

เอ็นจีโอ เป็นกลุ่มคนที่นำข้อมูลที่บิดเบือน หรือข้อมูลของสารเคมีทั้ง 3 ชนิดมาเผยแพร่ ผ่านสื่อมวลชน และโซเชียลมีเดีย แต่เผยแพร่ไม่หมด เลือกเผยแพร่แต่ด้านที่เป็นลบหรือความเป็นพิษ หรืออันตราย แต่ไม่เคยเอาข้อมูลด้านที่ดี หรือเป็นประโยชน์มาเผยแพร่ ทั้งๆ ที่สารเคมีทุกชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันมีทั้งประโยชน์และโทษ

สื่อมวลชน และ โซเชียลมีเดีย ทั้งนักข่าว คอลัมนิสต์ และคนเล่าข่าว บางคน (ส่วนใหญ่)นำเสนอข้อมูลของฝ่ายที่ต้องการให้ยกเลิกซึ่งเป็นข่าวเชิงลบเสียมาก สร้างให้ประชาชนหรือผู้บริโภคส่วนใหญ่เกิดความตื่นกลัวและสรุปรวบยอดความคิดเอาเองว่าสารเคมีทั้ง 3 ชนิดนี้มีพิษร้ายแรงและเป็นอันตราย โดยจะไม่เสียเวลาค้นหาข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นด้านบวก ซึ่งฝ่ายไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกพยายามจะเผยแพร่

กลุ่มบุคคลอีกกลุ่มหนึ่งที่กล่าวถึงกันมากในกรณีของการยกเลิกสารเคมี 3 ชนิดนี้คือ“คณะกรรมการวัตถุอันตราย”แต่หลายคนไม่ทราบที่มาและบทบาทของคณะกรรมการชุดนี้ จึงมีการกล่าวหาเนือง ๆ ในทำนองว่าไม่โปร่งใส

คณะกรรมการวัตถุอันตราย แต่งตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ก่อนฉบับล่าสุด ปีพ.ศ. 2562) มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน กรรมการอีก 27 คน ประกอบด้วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ระดับอธิบดีจาก 13 หน่วยงาน คือ กรมการขนส่งทางบก กรมการค้าภายใน กรมการแพทย์ กรมควบคุมมลพิษ กรมธุรกิจพลังงาน กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กรมส่งเสริมการเกษตร คณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ผู้แทนจาก 3 หน่วยงานคือกระทรวงกลาโหม กระทรวงคมนาคม สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งไม่เกิน 10 คน

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ มีผลงานและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาวิชาเคมี วิทยาศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ เกษตรศาสตร์ หรือกฎหมายโดยจะอยู่ในตำแหน่งคราวละ 3 ปี

เมื่อมีการปรับปรุง พ.ร.บ. วัตถุอันตรายล่าสุด ปี พ.ศ. 2562 คณะกรรมการวัตถุอันตราย ก็มีการปรับเปลี่ยนเช่นกัน โดยจะมี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานโดยตำแหน่ง กรรมการลดลงเหลือ 26 คนกรรมการโดยตำแหน่ง 17 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวง4 กระทรวง คือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ระดับอธิบดี 9 จากหน่วยงาน คือ กรมการขนส่งทางบก กรมควบคุมมลพิษ กรมเจ้าท่า กรมธุรกิจพลังงาน กรมประมง กรมปศุสัตว์ กรมวิชาการเกษตร กรมศุลกากร เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ผู้แทนจาก 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงกลาโหม กรมการค้าต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากเดิม 10 คน ลดลงเหลือ 8 คน

คณะกรรมการวัตถุอันตราย มีหน้าที่ที่สำคัญ คือ กำหนดนโยบาย มาตรการ และแผนการบริหารจัดการวัตถุอันตรายเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษา แก่รัฐมนตรี และหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับวัตถุอันตราย รวมทั้งพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายจากวัตถุอันตราย

การทำหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เท่าที่ผ่านมาน่าจะไม่เคยมีการเมืองมาแทรกแซงหรือกดดัน แต่สำหรับการทำหน้าที่ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมาใคร ๆ ก็รู้ว่าอยู่ในสถานการณ์เช่นไร…คะแนนจึงออกมาท่วมท้น..แต่ก็ยังดีที่ไม่ใช่คะแนนซึ่งเป็นเอกฉันท์ ขอคาราวะท่านที่ออกเสียงให้จำกัดการใช้….

แว่นขยาย

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s