ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/457018
เลาะรั้วเกษตร : ด้วยความเป็นห่วง
ระยะนี้มีข่าวคราวเกี่ยวกับภาคเกษตรขึ้นหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ และข่าวที่สื่อมวลชนนำมาเป็นประเด็นร้อนอยู่ 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ เรื่องของที่ดิน ส.ป.ก. ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝีปากกล้าของจังหวัดราชบุรี ปารีณา ไกรคุปต์ ที่ทำให้มีชื่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ในฐานะผู้กำกับดูแลสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม กลับมาอยู่ในหน้าสื่ออีกครั้ง หลังจากหายหน้าไปจากวงการนานนับเดือน
อีกข่าวหนึ่ง คงไม่พ้นเรื่องการแบน 3 สารเคมี คือ พาราควอต ไกลโฟเซต และคลอร์ไพริฟอส ที่รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ อีกท่านหนึ่ง คือ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ตามติดการตรวจสอบสต๊อกสารเคมีทั้ง 3 ชนิด ที่ยังคงเหลืออยู่ในมือผู้ประกอบการแบบเรียลไทม์เลยทีเดียว แถมยังมอบหมายประธานที่ปรึกษา ฉกรรจ์ แสงรักษาวงศ์ แจงกับสื่อเกี่ยวกับตัวเลขสต๊อกที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอด (สต๊อกมีชีวิต) ละเอียดยิบ แบบไม่รักษาหน้าหน่วยงานที่เคยนั่งในตำแหน่งอธิบดีมาก่อน แถมยังยืนยันมาตรา 52 ของพ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมว่า ผู้ประกอบการต้องเสียค่าใช้จ่ายในการทำลายสารเคมีที่มีไว้ในครอบครองนั้นเอง
เงื่อนไขนี้น่าจะใช้ในกรณีของสารเคมีที่ไม่ได้มาตรฐานมากกว่า แต่นี่เป็นสารเคมีที่เขาเสียเงินซื้อและนำเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย วันดีคืนร้ายบอกให้เขาเสียเงินทำลายของของเขาเอง…เขาคงยอมกัน..
วันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาเกษตรกรและสมาคมที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีเกษตร ออกมารวมพลังสวมเสื้อดำที่มีข้อความบนอกเสื้อว่า “แบน NGO # SAVE เกษตรกรไทย”และแยกกันเดินทางไปยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรี เฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่กระทรวงอุตสาหกรรม
สาระสำคัญของหนังสือทั้ง 3 ฉบับ กล่าวถึงผลกระทบของการแบนสารเคมี 3 ชนิด และให้รัฐบาลทบทวนมติของ คณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่เพราะเป็นผู้ที่ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อน
การออกมารวมพลังกันครั้งนี้ เกษตรกรมาจากหลายจังหวัด จำนวนหลายพันคน มีสายข่าวบอกว่า บางจังหวัดถูกผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งสกัดไม่ให้มาร่วมเรียกร้องในครั้งนี้ ถึงอย่างนั้นก็นับว่าเป็นการรวมพลังที่ใช้ได้ทีเดียว นี่ขนาดเปลี่ยนวันจากวันที่ 28 พฤศจิกายน มาเป็นวันที่26 พฤศจิกายน เพื่อที่จะส่งเสียงไปถึงคณะกรรมการวัตถุอันตรายชุดใหม่ ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธาน ซึ่งจะมีการประชุมคณะกรรมการ กันในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562
ผลการประชุมของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา สร้างความไม่พอใจให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรฯ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ อย่างมากเพราะคณะกรรมการมีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ปรับระดับคลอร์ไพริฟอส และ พาราควอต จากวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 เป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4แต่ให้ชะลอกการยกเลิกการใช้ออกไป 6 เดือน เพื่อให้หาวิธีการและสารทดแทนอย่างเหมาะสมส่วนไกลโฟเซตนั้นไม่ยกเลิกการใช้แต่ให้จำกัดการใช้ งานนี้จะสร้างรอยร้าวระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่ ต้องรอดูกันต่อไป
เช่นเดียวกับเรื่องสารเคมี 3 ชนิด ก็ยังคงต้องว่ากันต่อไป เพราะยังไม่จบเพียงเท่านี้แน่ฝากท่านผู้มีอำนาจทั้งหลาย จะทำอะไรกรุณาพิจารณาให้รอบคอบเพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียว ยังต้องค้าขายกับประเทศอื่นๆ และยังเป็นสมาชิกองค์กรระหว่างประเทศอีกหลายองค์กรที่มีกฎ กติกา มารยาท ต้องปฏิบัติตามอีกหลายประการ ก่อนจะประกาศนโยบายอะไรออกมา กรุณาศึกษากันอย่างรอบด้าน และปรึกษาหลายๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้องมิเช่นนั้นก็จะเกิดเหตุการณ์อย่างที่ผ่านมาอีก
ระหว่างที่เกษตรกรออกมาเรียกร้องความเป็นธรรม ก็มีข่าวว่า นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่งตั้ง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข อนุทิน ชาญวีรกูล เป็นประธานกรรมการนโยบายการจัดการสารเคมีแห่งชาติ
คณะกรรมการชุดนี้ มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบายและแผนแม่บทการจัดการสารเคมีให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดรับกับยุทธศาสตร์ชาติและแผนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ให้ข้อเสนอแนะการปรับปรุงกฎหมายกฎระเบียบเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กำกับเร่งรัดติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของแผนแม่บทการจัดการสารเคมี และสนับสนุนให้มีการบูรณาการทำงานและงบประมาณเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีระหว่างภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาวิจัยเพื่อให้เกิดการจัดการสารเคมีที่เหมาะสมรวมถึงการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ และคณะทำงานเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการสารเคมีที่เหมาะสมตามความจำเป็น และปฏิบัติงาน หรือดำเนินการอื่นใดตามที่นายกรัฐมนตรีมอบหมาย
คณะกรรมการชุดนี้เดิม ชื่อ “คณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี” จัดตั้งขึ้นภายใต้ แผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี ซึ่งมีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เป็นแผนที่บูรณาการทำงานร่วมกันโดยหลายกระทรวงและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนายุทธศาสตร์การจัดการสารเคมี ขึ้น มีนายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน
ที่หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาเพราะเป็นห่วงว่า รองนายกรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกูล มาเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายการจัดการสารเคมีแห่งชาติ ชุดนี้ ท่านจะจัดการเป็นเพียงอย่างเดียวคือ การแบน เท่านั้น ด้วยเหตุผล เพื่อสุขภาพของประชาชน…เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้…
แว่นขยาย