#ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/459830
เลาะรั้วเกษตร : ถึงเวลาต้องเติบโต
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และ 2 ปีต่อแต่นี้ จะมีข้าราชการที่อยู่ในเจเนอเรชั่น เบบี้บูมเกษียณอายุราชการจำนวนมาก ประกอบกับข้าราชการในเจเนอเรชั่นนี้เข้าร่วมโครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนด หรือ เออร์รี่ รีไทร์ จำนวนมากเช่นเดียวกัน แถมในช่วงเวลาหนึ่งรัฐบาลก็มีนโยบายการคุมกำเนิดข้าราชการ ทำให้หลายหน่วยงานประสบปัญหาขาดแคลนบุคคลากรที่มีประสบการณ์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่จะถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้ข้าราชการรุ่นต่อๆ ไปให้มีความรู้และประสบการณ์มากพอที่จะขึ้นมาแทนรุ่นพี่ หรือที่มักจะกล่าวกันว่า “โตไม่ทัน”
หลายหน่วยงานเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนภารกิจของหน่วยงาน โดยเฉพาะหน่วยงานที่เป็นหน่วยงานที่มีมานานแต่พัฒนา หรือจัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานใหม่ ที่ใหญ่ขึ้น และมีภารกิจเพิ่มมากขึ้น อย่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่พัฒนาขึ้นมาจากสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2518 สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรองรับโครงการพระราชดำริฝนหลวง ของในหลวง รัชกาลที่ 9
ต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ได้มีการรวมสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวง และกองบินเกษตรจัดตั้งเป็นสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อปฏิบัติการทำฝนหลวงให้แก่เกษตรกรและประชาชน เติมน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำต่างๆ วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีการดัดแปรสภาพอากาศ และบินบริการสนับสนุนการปฏิบัติ งานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งสนับสนุนการปฏิบัติงานด้านการเกษตรอื่นๆ
ในปี 2554 เริ่มมีแนวคิดในการยกฐานะสำนักงานปฏิบัติการฝนหลวงและกองบินเกษตร ขึ้นเป็นกรม มีการนำเสนอ ครม. และ ครม.เห็นชอบในหลักการ จนกระทั่ง 24 มกราคม 2556 ได้มีพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม จัดตั้ง “กรมฝนหลวงและการบินเกษตร”ขึ้น เพื่อให้การบริหารจัดการการปฏิบัติการฝนหลวงเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และมีความคล่องตัวในการบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น
กาลเวลาผ่านไปไม่ถึง 10 ปี กรมฝนหลวงฯประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากร ในขณะที่ภารกิจมีเพิ่มมากขึ้น เหมือนอย่างที่อดีตอธิบดีกรมฝนหลวงฯ วราวุธ ขันติยานันท์ เคยเล่าว่าเมื่อปี 2520 มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงอยู่เพียง 4 หน่วย จะออกปฏิบัติการช่วยเหลือภัยแล้งเฉพาะกรณีที่มีการร้องขอผ่านมาทางผู้ว่าราชการจังหวัด ช่วงนั้นซึ่งบางปีแล้งมาก บางปีแล้งน้อยสลับกันไป แต่ต่อมาสถานการณ์ภัยแล้งเริ่มเป็นไปอย่างกว้างขวาง จากที่เคยมีเพียง10-15 จังหวัด เพิ่มเป็น 30-40 จังหวัด เมื่อมีการร้องขอมาให้ไปทำฝนหลวงพร้อมๆ กัน หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเริ่มไม่พอ
ปัจจุบัน กรมฝนหลวงฯมีศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 5 ศูนย์ ประจำ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง และภาคใต้
แต่ละศูนย์มีหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง 3-4หน่วย รับผิดชอบพื้นที่ทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด
อธิบดีกรมฝนหลวงฯ สุรสีห์ กิตติมณฑล บอกว่า ปัจจุบัน กรมฝนหลวงฯ มีอัตรากำลังข้าราชการเพียง 205 อัตรา ลูกจ้าง 144 อัตรา พนักงานราชการ 144 อัตรา ในจำนวนอัตรากำลังทั้งหมดนี้ เป็นนักบิน 75 อัตรา จากภารกิจที่เพิ่มขึ้น คำนวณอัตรากำลังแล้วกรมฝนหลวงฯ ควรมีอัตรากำลังข้าราชการเพิ่มอีก 321 อัตรา พนักงานราชการเพิ่มอีก 475 อัตรา โดยเป็นนักบินอีก 58 อัตรา
จำนวนอัตรากำลังที่เพิ่มขึ้นอีกเกือบ 800 อัตรา หรือเพิ่มขึ้น 2 เท่า ของที่มีอยู่เดิมนี้ คงไม่สามารถเพิ่มได้ภายในบัดดล กปร. หรือ ก.พ. จะมีความเห็นว่าอย่างไร คงต้องใช้เวลาเวลา แต่อธิบดีสุรสีห์ ก็ยังอยากเพิ่มนักบินภายในปี 2563 นี้อีกสัก 44 อัตรา ที่เหลือก็ทยอยเพิ่มไปจนถึงปี 2565 คงต้องฝากความหวังไว้กับ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่าว่าจะมีกำลังภายในผลักดันได้มากน้อยเพียงไร
แต่ก็น่าจะวางใจได้ เพราะรัฐมนตรีช่วย ธรรมนัส ประกาศว่า ต้องปรับโครงสร้างกรมฝนหลวงฯให้สอดคล้องกับปริมาณงานที่เพิ่มขึ้น ภัยธรรมชาติรุนแรงขึ้นทุกปี ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร เกษตรกรเดือดร้อน การขาดแคลนน้ำทำให้ผลผลิตเสียหาย ที่ผ่านมาใครจะทำหรือไม่ทำไม่รู้ แต่ในยุคของรัฐมนตรีช่วยธรรมนัส จะต้องทำให้สำเร็จ งานเพิ่ม คนต้องเพิ่ม……ว่ากันไป
บุคลากรที่สำคัญของกรมฝนหลวงฯ คือ นักบิน เพราะการทำฝนหลวง ต้องใช้เครื่องบินเป็นพาหนะนำสารเคมีสำหรับทำฝนขึ้นไปโปรยบนก้อนเมฆ ดังนั้นจึงไม่ใช่นักบินธรรมดา แต่เป็นนักบินที่ต้องมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับเทคโนโลยีการทำฝน รู้ลักษณะการก่อตัวของก้อนเมฆ รู้ขั้นตอนและกรรมวิธีทำฝนเทียมด้วย
การปรับโครงสร้างกรมฝนหลวง ถ้าไม่ดำเนินการภายใน 5 ปีนี้ จะมีปัญหามาก เพราะนักบินที่มีอยู่จะทยอยเกษียณอายุราชการไปหมด นักบินใหม่ๆ ที่เข้ามาแทนจำเป็นต้องมีการเรียนรู้จากนักบินรุ่นพี่ก่อน ที่สำคัญคือนักบินใหม่ๆ ส่วนใหญ่เป็นพนักงานราชการ จะอยู่กับราชการไม่ได้นานเพราะสถานะไม่มั่นคง ค่าตอบแทนไม่จูงใจ ถ้าเขามีประสบการณ์แล้ว ก็มักจะลาออกไปทำงานกับสายการบินพาณิชย์
จะมีมาตรการจูงใจอย่างไรให้นักบิน เห็นภารกิจการทำฝนหลวงเพื่อบรรเทาภัยแล้ง ซึ่งจะมีผลกระทบกับคนไทยทั้งประเทศ เป็นภารกิจที่มีเกียรติ น่าภาคภูมิใจ สามารถช่วยเหลือคนไทยได้ทั้งประเทศ ที่สำคัญคือ เป็นการสืบสานพระราชดำริของในหลวง รัชกาลที่ 9 ให้ยั่งยืนตลอดไป……การปรับโครงสร้างอย่างเดียวคงช่วยไม่ได้มากนัก เพราะการมีแต่ปริมาณ แต่ไม่มีคุณภาพ คือไม่มีจิตใจรักองค์ ไม่ทุ่มเทการทำงานเพื่อองค์กร…การมีคนมากก็ไม่เกิดประโยชน์…..ผู้บริหารกรมฝนหลวงและการบินเกษตร คงต้องช่วยกันคิด…
แว่นขยาย