UNถกนานาชาติแก้ปัญหาโภชนาการโลก #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/local/508669

UNถกนานาชาติแก้ปัญหาโภชนาการโลก

UNถกนานาชาติแก้ปัญหาโภชนาการโลก

วันศุกร์ ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.

นางสาวทัศนีย์ เมืองแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.)เปิดเผยการประชุมแถลงรายงานสถานการณ์ความมั่นคงอาหารและโภชนาการโลก (The State of Food Security and Nutrition in the World: SOFI) ประจำปี 2563 ซึ่งสศก.ร่วมประชุมออนไลน์เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีนายอันโตนิโอ กูแตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เป็นประธาน พร้อมประธานสภามนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ ประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก (CFS) ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงโรม (FAO/IFAD/WFP) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประธานกองทุนระหว่างประเทศเพื่อพัฒนาเกษตรกรรม (IFAD) ผู้อำนวยการใหญ่โครงการอาหารโลก (WFP) ผู้อำนวยการใหญ่ UNICEF และผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ WHO ร่วมกล่าวถ้อยแถลง “รายงานสถานการณ์ความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการโลก ประจำปี 2563” ผ่านระบบออนไลน์

จากรายงานขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO พบว่าปัจจุบันโลกผลิตอาหารได้เพียงพอกับจำนวนประชากรโลก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าถึงอาหารได้ โดยตั้งแต่ปี 2557 ผู้หิวโหยมีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณ 10 ล้านคน/ปี นอกจากนี้ วิกฤตการณ์ระบาดของ COVID-19 อาจส่งผลให้เพิ่มปริมาณคนขาดสารอาหารมากถึง 83-132 ล้านคน ในปี 2563 และประชากรมากกว่า 3 พันล้านคนในโลก ยังไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารที่ดีต่อสุขภาพได้ เนื่องจากมีราคาแพงมากกว่าอาหารปกติถึง 5 เท่า จึงอาจส่งผลให้โลกมีแนวโน้มที่ไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs เพื่อยุติความหิวโหยได้ภายในปี 2573

ดังนั้น นายแม็กซิโม โตเรโร ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของFAO รายงานว่า จำเป็นต้องกำหนดนโยบายที่ปรับเปลี่ยนระบบของอาหาร ด้วยการลดต้นทุนอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ และเพิ่มการเข้าถึงอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพ (healthy diets) หาซื้อได้ในราคาที่เหมาะสม อาทิ นโยบายหลักประกันโภชนาการที่ดี สร้างแรงจูงใจลงทุนด้านโภชนาการที่ดี นโยบายส่งเสริมประสิทธิภาพตลอดห่วงโซ่การผลิต นโยบายมุ่งเน้นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค การส่งเสริมรูปแบบการบริโภคที่ทำให้สุขภาพดีและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำ เพราะการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ จะช่วยลดต้นทุนแฝงทางสังคมได้ โดยเฉพาะต้นทุนด้านสุขภาพ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อปรับเปลี่ยนไปสู่“ระบบอาหารที่ยั่งยืนและที่สามารถปรับตัวได้”(Sustainable and Resilient Food Systems) สู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ภายในปี 2573 ตามที่กำหนดไว้

โอกาสนี้ ประธานคณะกรรมการความมั่นคงอาหารโลก หรือ CFS (นายธนวรรษ เทียนสิน อัครราชทูต ฝ่ายเกษตร)กล่าวถึงความก้าวหน้าของการดำเนินงานของ CFS ซึ่งอยู่ระหว่างจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายแก่ทุกภาคส่วน ได้แก่ แนวทางปฏิบัติเชิงนโยบายด้านระบบอาหารและโภชนาการ และนโยบายด้านเกษตรเชิงนิเวศและนวัตกรรม ซึ่งจะนำเข้าสู่การพิจารณารับรองในการประชุม CFS 47 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 นอกจากนี้ CFS ยังจัดทำแนวทางปฏิบัติการลงทุนอย่างมีความรับผิดชอบ และรายงานการสร้างความมั่นคงอาหารและโภชนาการระดับโลก มุ่งสู่เป้าหมายปี 2030 เพื่อเสนอกรอบแนวคิดที่ส่งเสริมระบบอาหารและโภชนาการอย่างยั่งยืน รวมถึงแนวทางแก้ปัญหา โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีบทบาทในการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อผลักดันได้อย่างเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายความมั่นคงอาหารต่อเนื่อง โดยสศก. ได้พัฒนาระบบสารสนเทศการเกษตรเชิงพื้นที่ เพื่อบริหารจัดการความมั่นคงด้านอาหาร นำเทคโนโลยีดิจิทัล มาใช้พัฒนาระบบการจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการวางแผนพัฒนาการผลิตและบริหารจัดการอาหารให้สอดคล้องความต้องการตลาด ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤติ รวมถึงการระบาดโควิด-19 ปัจจุบันด้วย

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s