#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/lady/508970

แหวกฟ้าหาฝัน : Ceramic ใน Museum of Decorative Art Barcelona
วันอาทิตย์ ที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.
ใน Museum of Decorative Art ของการจัดแสดงประเภทหนึ่งที่ต้องมีเสมอ นอกเหนือจากเก้าอี้ก็คือ Ceramic หรือเครื่องเคลือบ คำว่า Ceramic มาจากภาษากรีก keramos ที่มีความหมายว่า สิ่งที่ถูกเผา Ceramic เป็นผลิตภัณฑ์แข็งที่ประกอบด้วยวัสดุที่ไม่ใช่สารอินทรีย์ อาทิ โลหะ หรืออโลหะที่เชื่อมต่อกันด้วย ionic bond เซรามิกแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ ตามส่วนประกอบ คือ แบบที่มีองค์ประกอบเป็นดินเหนียวเหมือนอย่างเซรามิกโบราณ และแบบที่มีส่วนผสมหลากหลายซึ่งมักใช้ในอุตสาหกรรมได้หลายรูปแบบขึ้นกับความแข็ง ความทนทานและความเป็นสื่อนำไฟฟ้า ในอดีตวัสดุเซรามิกที่มีการใช้งานมากที่สุดคือ ดินเหนียว โดยในช่วงแรกเรียกผลิตภัณฑ์ประเภทนี้ว่า ไชนาแวร์ เพื่อเป็นเกียรติให้กับคนจีนซึ่งเป็นผู้บุกเบิกการผลิตเครื่องปั้นดินเผารุ่นแรกๆ
เซรามิกในยุคแรกสุดนั้นถูกนำมาใช้ทำหม้อ ไห และแจกันโดยอาจมีส่วนผสมเฉพาะดินเหนียว หรือสารอื่น อาทิ ซิลิกา ก่อนนำไปเผาไฟให้ร้อน อย่างไรก็ดี เซรามิกในยุคแรกๆ นั้นมักมีรูจำนวนมากจึงดูดซึมน้ำมาก ต่อมาการผลิตเซรามิกได้รับการพัฒนาเทคนิคให้มีการผสมสารเคลือบจึงทำให้มีผิวเรียบขึ้น และมีรูน้อยลงจนมีลักษณะคล้ายแก้ว ลักษณะเด่นของเซรามิกก็คือ มันสามารถทนความร้อนได้ถึงร่วมพันองศาเซลเซียส แต่เมื่อโลกสามารถผลิตแก้วซึ่งมีคุณสมบัติในการทนความร้อนสูงได้เช่นเดียวกัน คุณสมบัติในเรื่องการทนความร้อนสูงของเซรามิกจึงดูด้อยค่าลง ถึงกระนั้นก็ตาม การนำเซรามิกมาใช้ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง และการผลิตเซรามิกก็ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ จนมีการเปลี่ยนส่วนผสมจากดินขาว มาเป็นอะลูมิเนียมออกไซด์ซึ่งกลายเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะ และพัฒนายิ่งขึ้นอีกด้วยการผสมซิลิคอนคาร์ไบด์และทังสเตนคาร์ไบด์ที่นำมาใช้ทางด้านการแพทย์ อิเล็กทรอนิกส์และวิศวกรรม เช่น สารกึ่งตัวนำอาวุธ

เซรามิกมีความสำคัญอย่างยิ่งทางด้านโบราณคดี เพราะสิ่งขุดพบประเภทนี้สร้างความเข้าใจทั้งด้านวัฒนธรรม เทคโนโลยี และพฤติกรรมมนุษย์ในอดีตได้ ในการศึกษาเซรามิกทำให้นักโบราณคดีสามารถที่จะเข้าใจเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดียิ่งกว่านั้นการเปรียบเทียบสิ่งขุดพบประเภทนี้ยังทำให้การสร้างลำดับเวลาทำได้ง่ายขึ้นอีกต่างหากด้วย
นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ทราบดีแล้วว่าทั้ง Ceramic และ Porcelain คือเครื่องเคลือบในภาษาไทย แล้วสองคำนี้ในภาษาอังกฤษมีความแตกต่างกันอย่างไร Ceramicคือ เครื่องเคลือบที่ทำจากดินเหนียวที่ถูกเผาจนร้อนจนมีความแข็งมากขึ้น แต่ความหนาแน่นและการดูดน้ำมากกว่า Porcelain จึงทำให้เซรามิกเหมาะกับการทำวัสดุที่ใช้ภายในบ้าน ส่วน Porcelain ก็เป็นดินเหนียวที่ถูกเผาเช่นกัน แต่จะมีความหนาแน่นและความคงทนสูงกว่าจึงมีราคาแพงกว่า ทั้งCeramic และ Porcelain ต่างสามารถใช้ทำเครื่องเรือนได้ อาทิ พื้น อีกทั้งยังใช้ทำเครื่องครัวได้ด้วย เช่น จาน ชาม ความแตกต่างที่แยกคำทั้งสองออกจากกันคือ ความสามารถในการดูดน้ำ Porcelain จะดูดน้ำน้อยกว่า 0.5% ในขณะที่ Ceramic จะดูดน้ำมากกว่านั้นอันเป็นผลจากชนิดของดินเหนียวที่ใช้ในการทำที่แตกต่างกันนั่นเอง
นักท่องเที่ยวที่ได้มาเยือน Museum of Decorative Art Barcelona จะได้ชมตัวอย่างทั้งงาน Ceramic และ Porcelain โดยเรียงตามลำดับเวลาซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้เห็นพัฒนาการในการผลิต แต่ยังจะได้เรียนรู้ถึงพัฒนาการในการใส่สีเข้าไปในงานอีกต่างหากด้วย






