#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/lady/509144

จาก‘โทรมาตร’ถึง‘ปัญญาประดิษฐ์’ เฝ้าระวังอุทกภัย-ฟื้นฟูเศรษฐกิจชุมชน
วันจันทร์ ที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.
“อุทกภัย” หรือน้ำท่วม เป็นภัยพิบัติสำคัญอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นเป็นประจำในประเทศไทย และเกิดขึ้นได้ทุกภาค ซึ่งการที่ฝนตกเป็นเรื่องของธรรมชาติไม่สามารถไปห้ามได้ แต่มนุษย์เราเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับธรรมชาติและลดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ ผ่านการใช้เทคโนโลยีช่วยในการเตือนภัย เมื่อรู้ก่อนว่ามีฝนตกหนักระดับน้ำสูงขึ้นใกล้ถึงจุดเสี่ยง ก็จะได้เตรียมพร้อมรับมือ เช่น ขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงหรืออพยพผู้คนไปอยู่ในที่ปลอดภัย
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา “แนวหน้า” ร่วมกับคณะสื่อมวลชนอีกหลายสำนัก มีโอกาสได้ไปร่วมงานแถลงข่าวความคืบหน้า “โครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อตรวจวัดข้อมูลภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำ” ณ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จ.เชียงใหม่ โดยได้รับเกียรติจาก ศ.(พิเศษ)ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ มาเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของโครงการนี้ ซึ่ง สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ประธานกรรมการมูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ได้เสด็จไปทรงเปิดสถานีโทรมาตรอัตโนมัติ พร้อมทอดพระเนตรการเฝ้าระวังป้องกันอุทกภัย ณ ศูนย์สาธิตการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝกด่านป่าไม้ที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันเสาร์ที่ 25 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา
ศ.(พิเศษ)ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการที่ปรึกษา และประธานคณะกรรมการบริหาร มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย เล่าว่า มูลนิธิฯ ดำเนินภารกิจบรรเทาทุกข์มา 25 ปี หรือก็คือการแจกถุงยังชีพและตั้งโรงครัวพระราชทานในพื้นที่ที่ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ กระทั่งองค์ประธานกรรมการมูลนิธิฯคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภานเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชรมหาวัชรราชธิดา ทรงมีรับสั่งว่า หากมีกระบวนการระวังป้องกันภัยที่ดี ทุกข์และการบรรเทาทุกข์ย่อมลดลง
“เราก็ร่วมมือกับสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ที่มีท่านอาจารย์ ดร.รอยล จิตรดอน ตอนนี้เป็นประธานบอร์ดอยู่ สสน. ก็ร่วมมือกับเรา เราก็ลองดูบางแห่งถ้าเราไปติดตั้งโทรมาตร (Telemeter) แล้วก็มีการฝึกอบรมชาวบ้าน ชุมชน ที่มีความเข้มแข็ง ให้สามารถรับสัญญาณเตือน เพราะโทรมาตรมันจะคอยบอกว่าระดับน้ำฝนตกมามากน้อยแค่ไหน ถ้าฝนตกลงมาถึงระดับกี่มิลลิเมตรต่อนาทีต่อชั่วโมงดินจะถล่มถ้าอยู่บนเขา ถ้าฝนตกมาเท่านั้นเท่านี้น้ำจะท่วม น้ำป่าไหลหลาก เราก็ลองติดดูที่บ้านร้องแง อ.ปัว จ.น่าน” ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว
ข้อมูลจากเว็บไซต์ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. (www.hii.or.th) อธิบายว่า ระบบโทรมาตร คือ อุปกรณ์ที่สามารถตรวจวัดค่าทางฟิสิกส์ เคมี หรือ ชีวภาพ แล้วส่งค่าที่วัดได้ไปยังที่ที่กำหนดไว้ได้เอง ในเงื่อนไขต่างๆ ที่กำหนดไว้ ค่าหรือข้อมูลที่ตรวจวัดอาจจะเป็นข้อมูลระดับเสียง อุณหภูมิ ความชื้น ค่าความเป็นกรด ด่าง หรือ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ หรือ แม้กระทั่งภาพถ่ายหรือข้อมูลที่เกิดขึ้นจากตัวระบบโทรมาตรเอง เช่น สถานะการทำงาน เป็นต้น
ศ.(พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เล่าต่อไปว่า เมื่อเกิดฝนตกหนัก โทรมาตรจะส่งสัญญาณไปที่เซิร์ฟเวอร์ (Server) ซึ่ง สสน. จะมีเจ้าหน้าที่คอยดูอยู่ตลอดว่าปริมาณน้ำเป็นอย่างไรบ้าง หากระดับน้ำสูงใกล้ระดับอันตรายก็จะส่งข้อความสั้น(SMS) แจ้งเตือนไปยังผู้นำชุมชนบริเวณนั้นเช่น ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อให้แจ้งเตือนคนในชุมชนอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ในชุมชนยังมีการซ้อมอพยพอยู่เป็นระยะๆ
แต่ด้วยความที่โครงการนี้เกี่ยวข้องกับหลายพื้นที่ และแต่ละพื้นที่ก็มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ อีกทั้งเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานที่มีความชำนาญแตกต่างกัน นำมาสู่ “การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่าง 7 หน่วยงาน” ได้แก่ 1.สสน. ในฐานะผู้เชี่ยวชาญเรื่องทรัพยากรน้ำ 2.สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้รับผิดชอบงานด้านระบบโทรคมนาคม 3.กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ซึ่งมีหน้าที่ดูแลพื้นที่อุทยาน 4.กรมป่าไม้ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ป่าที่ไม่ใช่อุทยาน 5.กรมการปกครอง ซึ่งกำกับดูแลผู้นำชุมชนที่เป็นกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน 6.กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ซึ่งกำกับดูแลผู้นำชุมชนที่เป็นผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และ 7.การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมีหน้าที่ดูแลระบบไฟฟ้าในเกือบทุกจังหวัด ตั้งเป้าหมายว่าจะติดตั้งระบบโทรมาตรทั้งภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวม 510 จุด
“ทำไมต้องเป็นที่ต้นน้ำ มันก็ต้องติดในที่ที่เรามีข้อมูลแล้ว เช่น จากเว็บไซต์ Thaiwater.net ก็ดี จากสถิติ (Record) ต่างๆ ที่ผ่านมาหลายสิบปีก็ดี ปริมาณน้ำฝนในแต่ละปีผู้เชี่ยวชาญเขาก็จะบอกเลยว่ามันตกตรงไหนมาก เพราะฉะนั้นถ้าตกตรงไหนมากโทรมาตรก็จะต้องตั้งตรงนั้น มันไม่สามารถมาตั้งในเมืองได้ มันก็เลยไม่ใช่เรื่องง่าย มันเป็นเรื่องยาก ก็ต้องไปตั้งอยู่ที่ต้นน้ำ เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าต้นน้ำ ฝนก็จะตกอยู่ตรงนั้นมากเป็นพิเศษ” ศ.(พิเศษ)ดร.สุรเกียรติ์ อธิบาย
ศ.(พิเศษ)ดร.สุรเกียรติ์ ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันระบบโทรมาตรติดตั้งไปแล้ว 80 จุดในภาคเหนือ จำนวน 12 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลำปาง พะเยา แพร่ น่าน ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย และอุทัยธานีหลังจากนี้อีกประมาณ 1-1 ปีครึ่ง จะเดินหน้าติดตั้งกระจายไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ต่อไป โดยทำควบคู่ไปกับการฝึกอบรมผู้นำชุมชนและฝึกซ้อมแผนอพยพในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาได้รับการตอบรับอย่างดี เนื่องจากประชาชนเห็นตรงกันว่า ความเสียหายจากภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ป้องกันได้
นอกจากโครงการติดตั้งสถานีโทรมาตรอัตโนมัติเพื่อตรวจวัดข้อมูลภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝน และระดับน้ำในพื้นที่ป่าต้นน้ำแล้ว มูลนิธิอาสาเพื่อนพึ่ง (ภาฯ) ยามยาก สภากาชาดไทย ยังร่วมกับ 4 มหาวิทยาลัยจาก 4 ภาค คือมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ภาคเหนือ) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ภาคใต้)และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (กรุงเทพฯ) ระดมสมองเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจระดับชุมชนจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19
ซึ่งสถานการณ์โรคระบาดดังกล่าวได้ทำให้ “การทำธุรกรรมออนไลน์” มีความสำคัญเพิ่มขึ้น “จะทำอย่างไรให้คนแต่ละภาครู้ว่า
ภาคอื่นๆ มีสินค้าอะไรขายบ้าง” โดยทางสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน(Carnegie Mellon University) สหรัฐอเมริกา ที่มีชื่อเสียงด้านเทคโนโลยี “ปัญญาประดิษฐ์ (AI)” กำลังอยู่ระหว่างพัฒนา “ระบบสั่งการด้วยเสียง” เพื่อให้ผู้ที่ไม่ถนัดในการกดแป้นพิมพ์สามารถซื้อ-ขายสินค้าทางออนไลน์ทำได้อย่างสะดวกสบายขึ้น
“เหตุผลที่ทำแบบนี้เพราะอะไร? หนึ่ง..มาจากเรื่องโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจเรามีปัญหา เราก็จำเป็นต้องช่วยพี่น้องประชาชน เหตุผลที่สองซึ่งจริงๆ สำคัญกว่าคือพื้นที่ชุมชนเหล่านี้ก็คือพื้นที่ที่น้ำท่วมซ้ำซากนั่นเองเพราะฉะนั้นการที่เราจะพัฒนาอย่างยั่งยืน และช่วยเหลือฟื้นฟูอย่างยั่งยืนในพื้นที่เหล่านี้อยู่แล้ว เราก็รีบทำเสียตอนนี้เลยตั้งแต่น้ำยังไม่ท่วม เพราะสถิติ 10-20 ปีที่ผ่านมา พื้นที่ชุมชนเหล่านี้ก็น้ำท่วมซ้ำซากอยู่แล้ว ฉะนั้นเราก็ช่วยได้ทั้ง2 ประเด็นเลย คือ ฟื้นฟูอย่างยั่งยืนจากน้ำท่วม และจากผลกระทบโควิดด้วย” ศ.(พิเศษ)ดร.สุรเกียรติ์กล่าวในท้ายที่สุด




