#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/509360

รายงานพิเศษ : แก้ปัญหาทรัพยากรน้ำยั่งยืน…มั่นคงด้วยพระราชดำริ
วันอังคาร ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ในฐานะหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้น้อมนำพระราชกระแสของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน มาขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ โดยจัดลำดับความสำคัญแผนงาน งบประมาณโครงการพระราชดำริที่มีความพร้อม ไม่ติดปัญหาอุปสรรคใดเป็นลำดับแรก
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชกระแสให้ สืบสาน รักษา และต่อยอดงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริใน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ให้แล้วเสร็จ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชน ซึ่งสทนช.ได้นำพระราชกระแสดังกล่าว มาขับเคลื่อนและใช้วางแผนบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งในปัจจุบันและอนาคต
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการ สทนช. กล่าวว่า สทนช.ได้นำแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มาใช้แก้ปัญหาน้ำทั้งปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำ โดยเฉพาะการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ในปัจจุบันต้องยอมรับว่า ประเทศไทยประสบปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศค่อนข้างสูง จะเห็นได้จากสภาพฝนเปลี่ยนไปจากค่าเฉลี่ยในอดีตมาก ฝนจะตกกระจุกตัวมากขึ้น ฤดูฝนมาช้าลง และทิ้งช่วงนาน ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดน้ำท่วม รวมทั้งปัญหาขาดแคลนน้ำ ดังนั้นจึงทำให้พื้นที่ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซากเป็นพื้นที่เดียวกัน ผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหาย และเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาความยากจน
ในขณะที่การขยายพื้นที่ชลประทานทำได้อย่างจำกัด ประเทศไทยมีพื้นที่ 321.2 ล้านไร่ รวม 70,129 หมู่บ้าน แบ่งเป็น พื้นที่ทำการเกษตร 158.2 ล้านไร่ โดยในจำนวนนี้ที่เป็นพื้นที่ที่อยู่นอกเขตชลประทานถึง 128.05 ล้านไร่ หรือ ร้อยละ 80ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
เพื่อปัญหาดังกล่าว สทนช. ได้บูรณาการกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน หน่วยงานส่วนท้องถิ่น ด้วยการสนับสนุนทางเทคนิคจาก มูลนิธิอุทกพัฒน์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) หรือ สสน. ได้นำแนวพระราชดำริเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้แก้ปัญหา ซึ่งจะเป็นเครื่องมือที่นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและเกิดการพัฒนาทรัพยากรน้ำที่ช่วยแก้ไขปัญหาน้ำในพื้นที่ได้ตรงกับสาเหตุ เกิดความมั่นคงในทุกด้าน ทั้งด้านน้ำ ด้านผลผลิต ด้านรายได้ ด้านโครงสร้างทางสังคมของชุมชน และเป็นส่วนสำคัญในการเพิ่มความเข้มแข็งและความมั่นคงในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้อย่างยั่งยืน
การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ มีองค์ประกอบหลัก 5 ส่วน ประกอบด้วย 1.แหล่งน้ำต้นทุน 2.แหล่งเก็บกักน้ำสำรอง 3.ระบบการเชื่อมโยงน้ำต้นทุนและแหล่งเก็บกักน้ำสำรอง 4.ระบบกระจายน้ำ และ 5.ความพร้อมของชุมชนผู้รับประโยชน์ ในการขับเคลื่อนการจัดการน้ำชุมชน ถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งจะไม่สามารถขับเคลื่อนให้ประสบความสำเร็จได้จึงต้องอาศัยกลไกการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันระหว่างชุมชน และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจากหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา มูลนิธิ หรือภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบและยั่งยืน
ที่ผ่านมาได้นำแนวพระราชดำริดังกล่าวมาใช้แก้ปัญหาไปแล้ว 1,659 หมู่บ้าน รวมทั้งขยายผลดำเนินงานพัฒนาชุมชนที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จ 60 ชุมชน ในพื้นที่ 19 ลุ่มน้ำ โดยได้สร้างเครือข่ายการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจน และขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ
“การจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ โดยเฉพาะในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ช่วยส่งผลให้ชุมชนสามารถบริหารความเสี่ยง บรรเทาปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งในพื้นที่ของตน ช่วยสร้างความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการน้ำ เพิ่มความมั่นคงด้านน้ำ นำไปสู่การเพิ่มผลผลิตและเพิ่มรายได้ สร้างศักยภาพให้กับชุมชนในการปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์น้ำที่ไม่แน่นอน รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน” ดร.สมเกียรติ กล่าว
นอกจากนี้ สทนช. ยังได้กำหนดทิศทางการดำเนินงานยึดโยงตามแนวทางพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการบูรณาการหน่วยงานแก้ปัญหาน้ำร่วมกัน ดังเช่นกรณีการสร้างเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ซึ่งได้มีพระราชดำริให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานด้วยกัน แทนที่จะเป็นเพียงหน่วยงานเดียวอย่างที่เคยเป็นมา อีกทั้งยังได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขับเคลื่อนงานโครงการพระราชดำริให้เป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ เพื่อที่จะสานงานต่อ ก่องานใหม่ จัดการน้ำตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่10
ทั้งนี้ สทนช. ได้เสนอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณาให้ความเห็นชอบหลากหลายโครงการ โดยล่าสุด กนช.ได้ติดตามและเร่งขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีโครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานก่อสร้าง ดังเช่น
โครงการอ่างเก็บน้ำลำน้ำชีอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ เป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดกลางความจุ 70.21 ล้านลูกบาศก์เมตรเมื่อแล้วเสร็จจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 75,000 ไร่ และฤดูแล้ง 30,000 ไร่ วงเงิน 3,100 ล้านบาท โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดชัยภูมิ ความจุ 46.90 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อแล้วเสร็จ สามารถช่วยเหลือพื้นที่ชลประทานในฤดูฝน 40,000 ไร่ และฤดูแล้ง 8,000 ไร่ วงเงิน 3,100 ล้านบาท เป็นต้น
ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงตระหนักถึงความสำคัญของ “น้ำ” และการพัฒนาแหล่งน้ำที่จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของราษฎร ตลอดจนมีพระราชปณิธานที่จะมุ่งสืบสาน รักษาและต่อยอด โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ทำให้วันนี้ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระจายอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศได้อำนวยประโยชน์ สร้างฐานะทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับพสกนิกร และเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการพัฒนาอาชีพ ความเป็นอยู่ของราษฎร สร้างความมั่งคั่ง มั่นคง และยั่งยืน สร้างรอยยิ้ม และความปีติสุขให้เกิดขึ้นกับพสกนิกรในพระองค์ตลอดไป…..


