Life & Health : วุ้นในตาเสื่อม โรคตาที่ไม่ควรละเลย #ศาสตร์เกษตรดินปุ๋ย

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/lady/509586

Life & Health : วุ้นในตาเสื่อม โรคตาที่ไม่ควรละเลย

Life & Health : วุ้นในตาเสื่อม โรคตาที่ไม่ควรละเลย

วันพุธ ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.

ดวงตา อวัยวะที่มีความสำคัญและละเอียดอ่อนที่ควรค่าแก่การทะนุถนอมและต้องบำรุงรักษาเป็นพิเศษ เพราะนอกจากดวงตาจะช่วยเปิดโลกกว้างให้เรามองเห็นสิ่งต่างๆ แล้ว ยังช่วยเพิ่มเสน่ห์และสะท้อนถึงการมีสุขภาพดี

ข้อมูลจาก พญ.วรางคณาทองคำใส จักษุแพทย์ เปิดเผยว่าวิถีการดำเนินชีวิตในทุกวันนี้ดวงตาคู่สวยของคุณมักจะถูกทำร้ายโดยที่คุณเองก็ไม่ทันตั้งตัว ด้วยสาเหตุต่างๆ เช่น แสงแดด ฝุ่น ควัน มลภาวะ หรือแม้แต่การนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ ทุกวัน รู้สึกบ้างไหมว่า สายตาของคุณเคร่งเครียด อ่อนล้ามากขึ้น แต่เราก็ยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำงาน เล่นอินเตอร์เนตกันต่อไป แม้จะมีอาการตาล้าตาเบลอ ตาแห้ง แสบตาไปจนถึงปวดตา ยิ่งถ้าเรามองข้ามปล่อยให้เกิดขึ้นบ่อยๆ เป็นเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดอาการทางสายตาอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรควุ้นในตาเสื่อม (Vitreous degeneration) ภาวะตาแห้ง (Dry eyes) โรคจุดรับภาพที่จอประสาทตาเสื่อม (AMD) มีผลให้ความสามารถในการมองเห็นลดลง มองภาพไม่ชัด หรือเห็นภาพบิดเบี้ยวไปจนถึงขั้นทำให้สูญเสียการมองเห็นได้

ในที่นี้ขอพูดถึงโรควุ้นในตาเสื่อม โดยถ้าใครเคยมีประสบการณ์การมองเห็น เป็นลักษณะคล้ายกับหยากไย่ลอยไปลอยมา หรือมีเหมือนยุงบินไปมา ปัดเท่าไรก็ไม่โดนสักที หรือวงใหญ่ ๆ คล้ายเมฆ ลอยบังในตาข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง คงเกิดความวิตกกังวลอยู่ไม่น้อย เพราะไม่รู้ว่าสาเหตุมันคืออะไรจะมีปัญหาเกี่ยวกับดวงตาเราหรือไม่แล้วจะอันตรายไหม เมื่อเป็นเช่นนี้เราลองมารู้จักโรควุ้นในตาเสื่อมกันดีกว่า…

วุ้นในตาเสื่อม คืออะไร

วุ้นในตาเสื่อม (Vitreous Degeneration) จัดเป็นภาวะความเสื่อมของวุ้นตา (Vitreous) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของลูกตา ปกติวุ้นตาจะมีลักษณะเป็นเจลหนืด ใส คล้ายไข่ขาวอยู่ในดวงตา บริเวณด้านหลังของเลนส์ตา ทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้แสงผ่าน ให้สารอาหารแก่จอประสาทตาและเซลล์ผนังลูกตาชั้นใน และยังช่วยพยุงลูกตาให้คงรูปเป็นทรงกลม

เมื่อเข้าสู่วัยกลางคน หรือผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป วุ้นตาจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างจากวุ้นกลายสภาพเป็นน้ำ ต่อมาวุ้นในตาที่เสื่อมก็จะหดตัวและลอกตัวจากจอตา เกิดเป็นตะกอนขุ่น หรือเป็นเส้นขาวๆ เงาขุ่นๆ ที่ลอยไปลอยมาอยู่ในตาเรานั่นเอง

ปัจจัยการเกิดและวิธีสังเกตน้ำวุ้นตาเสื่อม

ความเสื่อมของวุ้นในลูกตาที่มีการหนาตัวและหดตัวของเส้นใยน้ำวุ้นตา ทำให้เส้นใยดังกล่าวมีขนาดใหญ่และเห็นชัดขึ้น โดยผู้ป่วยจะเห็นเป็นจุด หรือเส้นคลายหยากไย่ลอยไปลอยมา โดยเฉพาะเวลากลอกตาจะรู้สึกเหมือนมีแมลงหรือยุงบินอยู่ข้างหน้าและจะเห็นชัดเจนขึ้นเวลามองที่ผนังสีขาวหรือมองท้องฟ้า ซึ่งไม่ทำให้การมองเห็นลดลง ในระยะแรกผู้ป่วยจะสังเกตเห็นจุดเหล่านี้ได้ง่าย แต่เมื่อเวลาผ่านไปสมองจะเกิดการเรียนรู้ผู้ป่วยจะรู้สึกมีอาการเห็นจุดเหล่านี้น้อยลงและจะชินมากขึ้น

ในบางครั้งอาจพบร่วมกับแสงระยับคล้ายแสงแฟลช หรือฟ้าแลบในตาโดยจะเห็นแสงแฟลชชัดขึ้น เมื่ออยู่ในที่มืดหรือในเวลากลางคืนซึ่งเกิดจากการหดรั้งตัวของวุ้นตาที่ยังไม่ร่อนหลุดจากจอตาอย่างสมบูรณ์ และอาการจะหายไปเมื่อมีการร่อนหลุดจากจอตาอย่างสมบูรณ์

แม้วุ้นตาเสื่อมเป็นความเสื่อมตามอายุของทุกคนและยังไม่มีการรักษาให้หายได้ แต่ก็ไม่เป็นอันตรายและไม่ได้ทำให้สายตามัวลง จะมีเพียงแค่การก่อให้เกิดความรำคาญในช่วงแรกๆ เท่านั้น เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเราก็จะเกิดความเคยชินและปรับตัวได้เองจนกระทั่งเลิกสนใจไปในที่สุด ส่วนใครถ้ามีอาการเหมือนเห็นไฟแปลบหรือไฟแฟลชร่วมด้วยนั้น อาจจะสืบเนื่องจากน้ำวุ้นตาไปดึงรั้งจอประสาทตาจนเกิดการฉีกขาด ซึ่งถ้าหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษาก็จะทำให้เกิดโรคจอประสาทตาหลุดลอก หรือ Retinal Detachment ซึ่งมีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้

รู้จักถนอมและปกป้อง

ก่อนที่ดวงตาจะเสื่อมสภาพจนยากที่จะเยียวยา คุณควรดูแลถนอมสุขภาพดวงตาจากภายใน โดยการเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ โดยเฉพาะอาหารประเภทผักและผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ที่สำคัญ มีสารต้านอนุมูลอิสระ เช่น วิตามินเอ ซี อี เบต้าแคโรทีน ลูทีนซีแซนทีน สังกะสี รวมถึงแอนโธไซยาโนไซด์ ซึ่งเป็นสารพฤกษเคมีในกลุ่มเฟลโวนอยด์ ที่พบได้ในผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ ซึ่งอาจช่วยชะลอความเสื่อมของดวงตาขณะเดียวกันคุณควรพักผ่อนอย่างเพียงพอและออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดที่ดวงตาดีขึ้น รวมถึงพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจเช็คสุขภาพดวงตาปีละครั้ง หากเมื่อไรก็ตามที่พบอาการผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเห็นเงาดำจุดใหม่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นแสงวาบในตา หรือเห็นเงาคล้ายม่านบังตาบางส่วน ควรรีบพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจรักษาอย่างทันท่วงที

นอกจากนี้เมื่อใดที่ดวงตาอ่อนล้าจากการใช้สายตานานๆ ควรหยุดพัก โดยอาจมองออกไปไกลๆ กวาดสายตาไปทางซ้ายบ้าง ขวาบ้าง สลับกันไป จะช่วยผ่อนคลายความเครียดของดวงตาได้ รวมทั้งหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เป็นอันตรายต่อดวงตา ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ท่ามกลางแดดจ้า มีลมโกรก รวมทั้งการสูบบุหรี่หรืออ่านหนังสือในที่ที่มีแสงสลัว

เพียงเท่านี้ดวงตาคู่สวยของเราก็จะสดใส เปล่งประกาย และมีสุขภาพดีไปอีกนาน

ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์

ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s