#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/509617

กยท.ระดมสมองป้องกัน-พัฒนาถุงมือยางไทย
วันพุธ ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (ผู้ว่าฯกยท.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ไปทั่วโลก ส่งผลให้แต่ละประเทศตระหนักถึงมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงระบาดโรค COVID-19 หลายประเทศ จึงต้องการใช้ถุงมือยางมากขึ้นโดยเฉพาะถุงมือยางที่ใช้ทางการแพทย์ สำหรับไทยในฐานะประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยางทางการแพทย์เป็นอันดับสองของโลก รองจากประเทศมาเลเซีย มีมูลค่าการส่งออก ประมาณ 37,381 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14.76 ส่งผลให้การผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน
ผู้ว่าการ กยท.กล่าวต่อว่า ปัจจุบันถุงมือยางของไทยเป็นที่ต้องการแพร่หลายทั่วโลก ทำให้เกิดผลกระทบด้านกำลังผลิตและส่งออก ที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดโลก รวมถึงมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งกยท.ตระหนักประเด็นดังกล่าว อาจเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์และชื่อเสียง ตลอดจนความเชื่อมั่นที่มีต่อนักลงทุนในต่างประเทศ จึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ กรมการค้าภายใน สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) สมาคมผู้ผลิตถุงมือยางไทย สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กรมวิชาการเกษตร รวมถึงนักวิชาการ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หาแนวทางร่วมกันป้องกันแก้ปัญหาอุตสาหกรรมถุงมือยางของไทย ภายใต้กรอบความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ผู้ผลิต และภาคธุรกิจ
ด้านนางวราภรณ์ ขจรไชยกูลที่ปรึกษาด้านการควบคุมและแปรรูปอุตสาหกรรมยางปลายน้ำด้านยางแห้งกล่าวว่า ไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกถุงมือยาง แบ่งเป็น ถุงมือยางธรรมชาติ และถุงมือยางสังเคราะห์ไปทั่วโลก ภายใต้มาตรฐานรับรองคุณภาพสินค้า ISO 11193-1 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับสากลสำหรับถุงมือตรวจโรค ผลิตจากยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ และ ISO 10282 สำหรับมาตรฐานถุงมือผ่าตัด แต่ยังมีมาตรฐานระดับประเทศที่จำกัดการนำเข้าถุงมือยางธรรมชาติ ได้แก่ ASTM ซึ่งเป็นมาตรฐานของสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบต่อการส่งออกถุงมือยางธรรมชาติของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ(MTEC) ได้วิจัยสามารถลดปริมาณโปรตีนที่ละลายน้ำในถุงมือยางธรรมชาติได้ต่ำกว่า 200 ไมโครแกรม ตามมาตรฐานที่ ASTM กำหนด โดยคุณสมบัติทางการภาพยังคงเหมือนเดิม ขณะนี้ การวิจัยดังกล่าวผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการแล้ว อยู่ระหว่างการทดสอบในระดับโรงงาน จึงเชื่อว่าถุงมือยางของประเทศไทยมีความปลอดภัยและสามารถส่งออกไปทั่วโลกได้ โดยก้าวต่อไปจะมีการร่วมบูรณาการพัฒนาด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีถุงมือยาง ของหลายภาคส่วน เช่น กยท. MTEC กรมวิทยาศาสตร์บริการ มหาวิทยาลัยต่างๆ และผู้ประกอบการถุงมือยาง