#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/510065

สทนช.เร่งเครื่องทำผังจัดการ22ลุ่มน้ำทั่วปท.
วันศุกร์ ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2563, 06.00 น.
สทนช.เดินหน้าส่งผู้เชี่ยวชาญลงพื้นที่อีก 8 ลุ่มน้ำภาคกลางและอีสาน ศึกษาข้อมูลจัดทำผังน้ำ พร้อมเปิดเวทีรับฟังความเห็นภาคประชาชน ขีดเส้นแล้วเสร็จทั้ง22 ลุ่มน้ำ ภายในปี 2566 หวังใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างเป็นระบบ
ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ปี 2563 สทนช.จัดทำผังน้ำต่อเนื่องในอีก 8 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำชี มูล บางปะกง แม่กลอง สะแกกรัง ป่าสัก เจ้าพระยา และท่าจีนหลังจากก่อนหน้านี้ เมื่อปี 2562 เริ่มศึกษาการทำแผนหลักผังน้ำและคัดเลือกลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำจันทบุรี ขึ้นมาเป็นพื้นที่ตัวอย่าง ซึ่งการจัดทำผังน้ำดังกล่าวดำเนินการภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดย ขณะนี้ สทนช. พร้อมคณะที่ปรึกษาลงพื้นที่ทั้ง 8 ลุ่มน้ำ ศึกษารายละเอียดลักษณะของลุ่มน้ำแต่ละแห่ง ทั้งในด้านกายภาพของพื้นที่ การใช้ประโยชน์ที่ดินในอดีตถึงปัจจุบัน ข้อกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินตามผังเมือง การพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ระบบโครงสร้างพื้นฐาน
นอกจากนี้ ยังจะรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลจากแผนที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1.แผนที่แสดงโครงข่ายระบบระบายน้ำในปัจจุบัน ทิศทางการไหลของน้ำ วิเคราะห์สภาพและสาเหตุของการเกิดอุทกภัยและภัยแล้ง2.แผนที่แสดงระบบป้องกันน้ำท่วมและการบรรเทาอุทกภัย การบริหารจัดการอุทกภัย มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา 3.แผนที่แสดงจุดประกาศภัยแล้ง การบริหารจัดการภัยแล้ง มูลค่าความเสียหายและวิเคราะห์การแก้ไขปัญหาที่ผ่านมา จากหน่วยงานต่างๆ จัดทำแผนที่แสดงสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่กีดขวางทางน้ำ ตลอดจนการรวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อนำมากำหนดขอบเขตผังน้ำ
ทั้งนี้ ในการจัดทำผังน้ำดังกล่าวจะอยู่ภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้ใช้น้ำ ภาคประชาชน คณะกรรมการลุ่มน้ำ และคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำระดับจังหวัด หลังจากนั้นจะนำเสนอต่อคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบ และส่งมอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมโยธาธิการและผังเมือง กรมทรัพยากรน้ำ กรมเจ้าท่า เป็นต้น นำไปจัดทำผังระบายน้ำตามภารกิจของหน่วยงานภายใต้ข้อมูลผังน้ำฉบับเดียวกันต่อไป
“คุณสมบัติของผังน้ำเมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยกำหนดขีดความสามารถรับน้ำของแม่น้ำแต่ละสาย ทิศทางการไหลหรือระบายน้ำ สิ่งกีดขวางทางน้ำ และพื้นที่
รับน้ำ พื้นที่เก็บน้ำหากเกิดกรณีน้ำแล้ง เพื่อให้ควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินตามขอบเขตของทางน้ำ โดยจะกำหนดรูปแบบของผังน้ำที่เหมาะสม ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและยอมรับในระดับสากล นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประยุกต์แผนงานหรือโครงการเพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งผังน้ำยังจะช่วยสนับสนุนแผนป้องกันแก้ไขภาวะน้ำแล้งน้ำท่วม การรักษาคุณภาพน้ำ และฟื้นฟูแหล่งน้ำอย่างเป็นเอกภาพร่วมกันได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย” เลขาธิการสทนช. กล่าว
อย่างไรก็ตาม การจัดทำผังน้ำแต่ละลุ่มน้ำมีลักษณะกายภาพและสภาพปัญหาที่แตกต่างกัน ต้องใช้เทคนิคจัดทำผังน้ำที่อิงกับธรรมชาติได้ พร้อมกำหนดลักษณะขนาดสิ่งกีดขวางทางน้ำที่ชัดเจน รวมถึงการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้น้ำมีเส้นทางการไหลของน้ำ โดยผลการศึกษาของทั้ง 8 ลุ่มน้ำ จะแล้วเสร็จในวันที่ 20 กันยายน 2564 และจะดำเนินการศึกษาจนครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ภายในปี 2566 และเมื่อผังน้ำถูกประกาศใช้ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ.2561 แล้ว จะทำให้การบริหารจัดการน้ำของทุกหน่วยงานจะเป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีความเป็นระบบมากขึ้น มีการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างคุ้มค่าที่สุด ขณะเดียวกัน สามารถช่วยบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ สามารถรักษา เส้นทางน้ำ ไม่สูญหายและถูกเก็บรักษาไว้ให้คนรุ่นหลังนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป