#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/lady/543572

พญ.เอม สิรวราภรณ์ นำทีมจากโรงพยาบาลพะเยา-เชียงคำไปช่วยสมุทรสาครสู้โควิด : อาทร จันทวิมล
วันพฤหัสบดี ที่ 7 มกราคม พ.ศ. 2564, 11.20 น.
ต้นเดือนมกราคม 2564 เกิดเหตุวิกฤติโรคไวรัสโควิดระบาดหนักที่สมุทรสาคร ทำให้มีผู้ติดเชื้อหลายพันคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานต่างด้าวชาวพม่า ทั้งที่เข้ามาอย่างถูกและผิดกฎหมายเหตุการณ์รุนแรงขึ้นต่อเนื่อง โดยผู้ติดเชื้อคนสำคัญได้แก่ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาครและภรรยา
ท่ามกลางอันตรายรอบด้าน เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ของจังหวัดสมุทรสาครได้ปฏิบัติงานในหน้าที่อย่างสุดความสามารถ แต่เนื่องจากต้องให้บริการต่อประชาชนที่เพิ่มขึ้นมาก เป็นเวลานาน จึงย่อมมีความเหนื่อยล้าเป็นธรรมดา
.jpg)
พญ.เอม สิรวราภรณ์ ซึ่งเรียนจบจากภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รุ่น 12 ของคณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อพ.ศ. 2562 ได้อาสาสมัครเป็นหัวหน้าคณะนำทีมปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ในภาวะภัยพิบัติ(Medical Emergency Response Team MERT) พร้อมกับเภสัชกร พยาบาล เวชกิจฉุกเฉินและพนักงานขับรถจากโรงพยาบาลพะเยา 9 คนและคณะของโรงพยาบาลเชียงคำอีก5 คน เดินทางไกลกว่า 700 กิโลเมตรโดยรถยนต์ เพื่อไปช่วยเหลือเป็นกำลังเสริม สนับสนุน หรือสับเปลี่ยนหมุนเวียน กับคณะแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ ในท้องถิ่น ในการให้บริการต่อผู้ป่วยโควิดที่โรงพยาบาลสนาม สมุทรสาคร บริเวณสนามกีฬา และวัดโกรกกราก ช่วง 4-18 มกราคม 2564 อย่างไม่กลัวเกรงอันตราย และความยากลำบากทั้งปวง
เมื่อข่าวการเดินทางไปสู้ภัยโควิดของทีมโรงพยาบาลพะเยา และเชียงคำแพร่ออกไป โรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ก็จัดคณะแพทย์ฉุกเฉิน เดินทางไปช่วยสมุทรสาครอีกแรงหนึ่ง และคาดว่าจะมีคณะจากจังหวัดอื่นๆ ทยอยเดินทางมาสมทบอีก
การกระทำของคณะแพทย์ฉุกเฉินอาสาสมัคร จากโรงพยาบาลพะเยาเชียงคำ ประจวบคีรีขันธ์ และจังหวัดอื่นๆ ในครั้งนี้ คล้ายกับหน่วยแพทย์จีนจากมณฑลต่างๆที่เดินทางไปช่วยดูแลผู้ป่วยโควิดในเมืองอู่ฮั่นตอนต้นปี พ.ศ.2563 และเปรียบเสมือนการส่งกองทหารจากต่างแดนไปช่วยรบในสมรภูมิอันตราย ขณะที่หน่วยในพื้นที่กำลังเหน็ดเหนื่อย อ่อนแรง ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรแก่การยกย่องสรรเสริญ และเป็นตัวอย่างอันดีแก่คณะบุคคลอื่นต่อไป