#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
https://www.posttoday.com/dhamma/639686
วันที่ 06 ธ.ค. 2563 เวลา 10:56 น.โดย อุทัย มณี
*****************
หลังจากเจอวิกฤติการณ์โควิด-19 กิจกรรมต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดเอาไว้ถูกยกเลิกบ้าง เลื่อนบ้าง ไม่เว้นแม้กระทั้งงานประสาทปริญญาของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยด้านพระพุทธศาสนาที่มีนิสิตมาเรียนทั้งพระและฆราวาสประมาณ 20,000 ท่าน นิสิตนานาชาติอีก 20 กว่าประเทศมากกว่า 1,200 ท่าน มีวิทยาเขตอีก 40 กว่าแห่ง สถาบันสมทบในต่างประเทศอีก 6 แห่ง มีคณาจารย์เจ้าหน้าที่ 3,680 ราย เปิดสอน 5 คณะ (รวมบัณฑิตวิทยาลัย) 105 สาขาวิชา มีวิทยาลัยพุทธศาสน์นานาชาติ มีวิทยาลัยพระธรรมทูต มีสถาบันวิจัยพุทธศาสตร์ มีสถาบันวิปัสสนา มีการเรียนการสอนทั้งศาสตร์สมัยใหม่และพระไตรปิฎก ตามพระราชปณิธานของผู้ก่อตั้งคือ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ปัจจุบัน มจร น่าจะเป็นมหาวิทยาลัยด้านพระพุทธศาสนาที่เข้มแข็งที่สุด มีจำนวนพระสงฆ์เรียนมากที่สุดและมีนิสิตนานาชาติในประเทศไทยมากที่สุด ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายของ มจร ที่ต้องการให้มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้สู่การเป็น “มหาวิทยาลัยพุทธศาสนาระดับโลก”

สำหรับปีนี้งานรับปริญญาจะมีขึ้น ระหว่างวันที่ 12 -13 ธันวาคม 2563 นี้ มีผู้รับปริญญาทั้งพระและฆราวาสจำนวน 3,482 ท่าน ผู้เขียนในฐานะศิษย์เก่า คงไม่พลาดต้องไปดูบรรยากาศดังเช่นทุกปี
ผู้เขียนเคยไปร่วมงานรับปริญญาตามสถาบันต่าง ๆ มาเป็นจำนวนมาก ที่ มจร ไม่เหมือนที่อื่น
@ ที่นี่ ทุกปีมีคนจำนวนคนมาร่วมงานหลายหมื่นคน
@ ที่นี้ เป็นแหล่งรวมของนิสิตนานาชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ไม่ต่ำกว่า 30 ชาติพันธุ์
@ ที่นี้มีคนมาร่วมงานจำนวนมาก เพราะนิสิตบางรูปเป็นเจ้าอาวาส บางรูปเป็นเจ้าคณะอำเภอ บางรูปพระภิกษุที่มารับกิตติมศักดิ์ เป็นเจ้าคณะจังหวัด คนติดตามก็หลายร้อยคน รถบัสจำนวนนับสิบคัน
@ ที่นี้มีซุ้มแสดงนิทรรศกาลทั้งของวิทยาเขต ของนิสิตนานาชาติ ของหลักสูตรต่าง ๆ นับ 100 ซุ้ม แต่และซุ้มต่างก็ประชันตบแต่งซุ้มที่สื่อถึงวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่นของตนเอง เช่น กัมพูชา ลาว พม่า มอญ ยะไข ไทใหญ่
อันนี้ไม่นับรวมซุ้มขายของที่ระลึกอีกหลายสิบร้าน โรงทานฟรีที่เคยเจอของมูลนิธิร่วมกตัญญูบ้างของแม่ชีทศพร จากวัดพิชยญาติการามบ้าง ส่วนร้านที่เสียงเงินมีนับร้อยร้าน
ทั้งหมดคือจุดเด่นและเสน่ห์ของความเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้
เสียดาย..ปีนี้ผู้รับที่เป็นบรรดากิตติมศักดิ์ มาร่วมงานไม่ได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ยกไปปีหน้าหรือหากสถานการณ์โควิด-19 ลดเบาลง ผู้รับจะเดินทางมารับเองหรือจะเชิญผู้บริหาร มจร ไปมอบก็ว่ากันไปเป็นราย ๆ
และเสียดาย..ปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และงานแบบนี้จำนวนคนก็มากสมเด็จพระสังฆราช ประมุขสงฆ์ไทย มิได้เสร็จมา แต่ทรงมอบให้สมเด็จพระวันรัต และสมเด็จพระมหาธีราจารย์ มาปฎิบัติหน้าที่แทน
นอกจากนี้ เนื่องจากตอนนี้เราอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 มจร จึงเข้มงวดเรื่องการป้องกันโควิด-19 ทั้งวันซ้อมรับปริญญา ในวันที่ 10 -11 ธันวาคม และวันรับจริงวันที่ 12 – 13 ธันวาคม พ.ศ.2563 ให้ใส่แมสทุกท่าน และบัณฑิตทุกระดับต้องเข้าร่วมการซ้อม จึงสามารถเข้ารับประทานปริญญาบัตรในวันรับจริงได้
ผู้เขียนในฐานะศิษย์เก่าสถาบันการศึกษาแห่งนี้ขอแสดงความยินดีกับผู้สำเร็จการศึกษาทุกท่าน รวมทั้งผู้ที่ได้รับกิตติมศักดิ์ทั้งหลายด้วย
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถือว่าเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ด้านพระพุทธศาสนาที่มีศิษย์เก่าตอนนี้น่าจะครอบคลุมในวงการพระสงฆ์ตั้งแต่ระดับมหาเถรสมาคม ลงมาจนถึงเจ้าอาวาสแล้ว ถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาสงฆ์ที่หล่อเลี้ยงกล่อมเกลาวิธีคิด วิสัยทัศน์ และวิธีทำงานในวงการสงฆ์ทุกระดับชั้น รวมทั้งหล่อหลอมศาสตร์ในพระไตรปิฎกประยุกต์เข้ากับศาสตร์สมัยใหม่ให้กับคณะสงฆ์ได้อย่างลงตัว และที่สำคัญศิษย์เก่า มจร มีบทบาทไม่น้อยในการสร้างความเจริญและความมั่นคงให้กับพระพุทธศาสนาในประเทศไทย
