#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/545746

บอร์ด กพฐ.ไฟเขียวแก้เกณฑ์รับนักเรียน ปี’64 ไม่นำผลสอบโอเน็ตมารับเด็ก ม.1,ม.4
วันศุกร์ ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2564, 18.38 น.
วันที่ 15 มกราคม 2564 นายเอกชัย กี่สุขพันธ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ประธาน กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม กพฐ. ว่า ที่ประชุมหารือถึงแนวทางจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ระลอกใหม่ ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) โดยมีข้อกังวลว่าหากวันที่ 31 ม.ค.นี้ สถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น โรงเรียนไม่สามารถจัดการเรียนการสอนปกติได้จะแก้ปัญหาอย่างไร เพราะหากเปิดเรียนไม่ได้ก็จะกระทบถึงการรับนักเรียนปีการศึกษา 2564 ซึ่งที่ประชุมมองว่า สพฐ.มีประสบการณ์การสอนทางไกลอยู่แล้ว แต่อยากให้ สพฐ.คิดวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้าแล้วประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปกครอง และนักเรียนรับทราบถึงความชัดเจน และขอให้ สพฐ.พิจารณาปรับตัวชี้วัด เพราะการเรียนการสอนในปัจจุบันเปลี่ยนไป ควรจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานณ์ในปัจจุบันด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าควรจะนำรูปแบบการสอนของครูที่สอนดีมารวมไว้ที่ส่วนกลาง เพื่อให้ครูรายอื่นๆเข้ามาดูและพัฒนาตนเองด้วย
นายเอกชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สพฐ. ได้เสนอร่างแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน และร่างแผนพัฒนาการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2564-2565 ซึ่งที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นว่า อยากเห็นแผนการศึกษาที่ชัดเจนมากขึ้น พร้อมกับเสนอให้ สพฐ.ปรับแนวทางใหม่ โดยเน้นคุณภาพของนักเรียน เช่น นักเรียนจะต้องมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ มีความรับผิดชอบต่อสังคม เป็นต้น ซึ่งทางสพฐ.จะรับข้อเสนอนี้เพื่อปรับทำเป็นแผนการศึกษาต่อไป ส่วนโครงการโรงเรียนคุณภาพของชุมชน โรงเรียนมัธยมดีสี่มุมเมือง และภูเก็ตโมเดล ตามนโยบายของนายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ที่สพฐ.เสนอมานั้น ที่ประชุมเห็นว่าเป็นตัวอย่างการพัฒนาการศึกษาที่ดี แต่ภูเก็ตโมเดลอาจจะไม่ตอบโจทย์ เพราะแต่ละพื้นที่มีบริบทความต้องการที่แตกต่างกัน จึงอยากให้การพัฒนาต่างๆ คำนึงถึงบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย
“ที่ประชุม รับทราบการแก้ไขเพิ่มเติมนโยบายและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการรับนักเรียน สังกัด สพฐ. ปีการศึกษา 2564 (ฉบับที่ 2) ตามที่ สพฐ.เสนอ สืบเนื่องจากที่ ศธ.ออกประกาศ เรื่องนโยบายการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือโอเน็ต ที่ให้นักเรียน ระดับชั้น ป.6 และ ม.3 ให้ถือเป็นสิทธิส่วนตัวของนักเรียนที่จะเข้ารับการสอบด้วยความสมัครใจ ดังนั้น สพฐ.จึงจะไม่นำผลคะแนนโอเน็ตมาใช้ในการรับนักเรียนเข้าศึกษาต่อในระดับชั้น ม.1 และ ม.4 โดยที่ประชุมเสนอว่า ขอให้ผู้อำนวยการโรงเรียนไม่พูดในลักษณะเชิงบังคับเพื่อให้นักเรียนมาสอบโอเน็ต ทั้งนี้ เพื่อให้นักเรียนมีอิสระในการสอบอย่างแท้จริง” ประธาน กพฐ. กล่าว