#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
https://www.komchadluek.net/news/knowledge/458907
พระกริ่งแม่อยู่หัว วัดท่าคุระ ขอได้-ไหว้รับ แต่ต้องรำโมราแก้บน

20 กุมภาพันธ์ 2564 – 08:22 น.
พระกริ่งแม่อยู่หัว วัดท่าคุระ ขอได้-ไหว้รับ แต่ต้องรำโมราแก้บน คอลัมน์… ตามรอย ตำนานแผ่นดิน โดย… เอก อัคคี
คงต้องบอกว่า งานประเพณีโนราแก้บน รำโนราแก้บน วัดท่าคุระ จังหวัดสงขลา หนึ่งปีมีเพียงครั้งเดียว กับประเพณีโบราณอันศักดิ์สิทธิ์ สรงน้ำพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัว พระพุทธรูปเก่าแก่ คู่บ้านคู่เมือง หลังประสบความสำเร็จดั่งใจหวังนั้นถือว่า เป็นหนึ่งเดียวในโลกเลยก็ว่าได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง… ความเชื่อและพิธีกรรมทำน้ำพระพุทธมนต์ แห่งสายสรรพวิชาไสยเวทย์สำนัก”เขาอ้อ”

พระกริ่งแม่อยู่หัว รุ่นสอง ด้านหน้า
เพราะในวันพุธแรกของข้างแรมเดือน 6 ของทุกปี สำหรับชาวลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจะถือว่าเป็นวันสมโภช “พระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัว”ที่ลูกหลานซึ่งออกเดินทางไปอยู่ต่างบ้านแดนไกลจะเดินทางกลับมาทำบุญให้บรรพบุรุษ
“พระแม่อยู่หัว”เป็นพระพุทธรูปทองคำขนาดเล็กจิ๋ว ปางสมาธิที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดท่าคุระ ตำบลคลองรี อำเภอสทิงพระ มาแล้วกว่า 300 ปี องค์ท่านจะถูกอัญเชิญออกจากมณฑป มาประดิษฐานไว้ในที่สำหรับสรงน้ำ เพื่อให้ชาวพุทธได้ร่วมกันสรงน้ำ และแก้บนด้วยการรำโนรา ด้วยความเลื่อมใสในความศักดิ์สิทธิ์

พระกริ่งแม่อยู่หัว รุ่นสอง ด้านหลัง
ซึ่งในงานก็จะมีพิธีการรำโนราถวายเพื่อแก้บน หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าเหมรย พิธีกรรมวันแกร จะเริ่มต้นด้วยการบวชแก้บน ทั้งการบวชพระ บวชชี บวชชีพราหมณ์ และการอัญเชิญและสรงน้ำพระพุทธรูปเจ้าแม่อยู่หัว ในขณะที่คณะโนราเข้าโรงทำพิธีเบิกโรง ลงโรง ประกาศครู เชิญครู กราบครู โนราใหญ่รำถวายครู และการรำทั่วไป
ส่วนพิธีกรรมในวันที่ 2 จะเป็นวันเซ่นไหว้ครูหมอโนราและเจ้าแม่อยู่หัว แก้บน รำโนราถวาย เหยียบเสน ส่งครูและทำพิธีตัดเหมรย ด้วยแรงศรัทธาอันแรงกล้า ชาวบ้านจึงต่างผลัดเปลี่ยนกันมารำแก้บน เพื่อให้เกิดความมีสิริมงคลกับตัวเอง และครอบครัวตลอดไป

พระกริ่งแม่อยู่หัว รุ่นสอง ก้นอุดหล่อยันต์อุ
เจ้าแม่อยู่หัวหมายถึง พระพุทธรูปทองคำที่สร้างแทนตัวบุคคลที่ชาวบ้านท่าคุระบุคคลทั่วไปให้ความเคารพนับถือและเชื่อว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ ที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้เมื่อหลายร้อยปีมาแล้วจึงเป็นมรดกตกทอดมาให้คนรุ่นหลังได้เคารพสักการบูชาสืบต่อกันมา รวมทั้งเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ที่รวมจิตใจเป็นหนึ่งทำให้ลูกหลาน เจ้าแม่อยู่หัว แม้ว่าจะมีขนาดหน้าตักกว้างเพียง 2 นิ้วแต่มีความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์มาก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นสมัยสุโขทัยตอนปลายหรืออยุธยาตอนต้น ประมาณ พ.ศ. 1900
ในปีหนึ่งลูกหลานสามารถเห็นพระพุทธรูปแม่เจ้าอยู่หัวได้ครั้งเดียวตอนสรงน้ำ ในวันพุธแรกข้างแรมเดือนหกเท่านั้น ซึ่งทำติดต่อกันมานับร้อยปีมาแล้วและลูกหลานเจ้าแม่อยู่หัวต้องรักษาประเพณีสืบมา
สำหรับรูปหล่อพระกริ่งนั้นเท่าที่ทราบข้อมูลมามีการสร้างเพียงสองรุ่น โดยทางวัดท่าคุระ ซึ่งในปัจจุบันนี้ หายากมากเพราะลูกหลานของชาวบ้านที่สืบเชื้อสายมาจากชาวท่าคุระ ต่างเก็บไว้บูชาพกพาติดตัวไม่ค่อยที่จะปล่อยออกมาในตลาดสนามพระสักเท่าไรนัก อย่างในปี ปี2505 พิมพ์นั่ง เป็นพระเก่าหายาก ไม่ค่อยพบเจอครับ หรืออย่างในปี2528 ก็ได้มีการจัดสร้างอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า รุ่นสร้างมณฑป ที่ได้รับความนิยมมาก แต่ก็หายากสุดๆเหมือนกัน

พร้อมกล่องเดิมจากทางวัดท่าคุระ
ส่วนตัวผมเองก็ได้รับมอบเป็นมรดกมาจากคุณแม่เพียงหนึ่งองค์ เพราะท่านเองเป็นลูกหลานตายายย่านจากบ้านท่าคุระ เกิดและเติบโตที่นั่น จึงถือว่าเป็นพระเครื่องถิ่นบ้านเกิดของแม่ที่ผมเอกพกพาบูชาติดตัวได้อย่างสนิทใจ
โดยส่วนตัวก็มีประสบการณ์ตรงเรื่องขอได้ไหว้รับจาก พระเครื่อง-พระกริ่งแม่อยู่หัวเช่นกัน จึงถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำตัวที่ไม่เคยห่างจากตัวเลยตั้งแต่ได้รับมอบมา สำหรับพระกริ่งรุ่นนี้จัมีสองพิมพ์คือ พิมพ์แขนตันกับพิมพ์แขนทะลุ ซึ่งต่างก็ได้รับความนิยมพอกัน เพราะหายากทั้งสองพิมพ์ ส่วนเนื้อชนวนมวลสารนั้นก็เป็นการชนวนโบราณของทางวัดท่าคุระมาหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียว เป็นเหตุจึงสร้างได้เพียงจำนวนน้อยนิด ใครมีใครครอบครอง ถ้าเป็นลูกหลานชาวบ้านท่าคุระก็นับเป็นวาสนาแล้วล่ะครับท่าน!!