#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
https://www.komchadluek.net/news/agricultural/459322
ครบรอบ 105 ปี กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมน้อมรำลึก”พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย”พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์

24 กุมภาพันธ์ 2564 – 13:58 น.
ครบรอบ 105 ปี กรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมน้อมรำลึก”พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย”พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์
“สหกรณ์เป็นวิธีการจัดการรูปหนึ่ง ซึ่งบุคคลหลายคนรวมกันโดยความสมัครใจของตนเองในฐานะที่เป็นมนุษย์ โดยมีสิทธิ์เสมอหน้ากันหมด เพื่อบำรุงตัวเองให้เกิดความจำเริญในทางทรัพย์”พระดำรัสความตอนหนึ่งที่พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ มีพระนามเดิมว่า พระองค์เจ้ารัชนีแจ่มจรัส หรือนามปากกาว่า น.ม.ส.”พระบิดาแห่งการสหกรณ์ไทย” ตรัสถึงสหกรณ์ไทยในฐานะนายทะเบียนสหกรณ์พระองค์แรก เมื่อ 105 ปีแล้วและนับเป็นการเริ่มต้นการสหกรณ์ในประเทศไทยอย่างสมบูรณ์


จุดเริ่มต้นของสหกรณ์ไทยเกิดจากสภาพปัญหาความยากจนของชาวนาช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 หลังจากประเทศไทยเริ่มมีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศมากขึ้น ทำให้ระบบเศรษฐกิจชนบทค่อยๆ เปลี่ยนจากเลี้ยงตัวเองมาเป็นระบบเพื่อการค้า ชาวนาที่ไม่มีทุนของตนเองต้องหันไปพึ่งพากู้ยืมเงินจากบุคคลอื่นทำให้ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราสูงและยังถูกเอาเปรียบจากพ่อค้าและนายทุน จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบตลอดเวลา หนำซ้ำยังมีหนี้สินเพิ่มพูนมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสภาพปัญหาดังกล่าวทำให้ทางราชการคิดหาวิธีช่วยเหลือ ด้วยการจัดหาแหล่งทุนให้กู้และคิดดอกเบี้ยในอัตราต่ำ
และสรุปมี 2 วิธีที่จะช่วยเหลือชาวนาในขณะนั้น คือจัดตั้งธนาคารเกษตรและวิธีการสหกรณ์ประเภทหาทุน วิธีแรกตกไป เพราะติดขัดปัญหาเรื่องเงินทุนและหลักประกันเงินกู้ จึงเห็นชอบ วิธีที่ 2 วิธีการสหกรณ์ประเภทหาทุน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของสหกรณ์
จากนั้นพระองค์ได้ทดลองจัดตั้งสหกรณ์หาทุนขึ้นเป็นครั้งแรกที่อ.เมือง จ.พิษณุโลก ใช้ชื่อว่า”สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้” โดยจดทะเบียนเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2459 และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2527 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติกำหนดให้วันที่ 26 กุมภาพันธ์ของทุกปี เป็น “วันสหกรณ์แห่งชาติ ” เป็นวันที่ชาวสหกรณ์ทั่วประเทศ ร่วมใจกัน น้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณของพระราชวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์ ที่ทรงริเริ่มทดลองจัดตั้งสหกรณ์ และทรงส่งเสริมให้มีการเผยแพร่ขยายอุดมการณ์สหกรณ์ หลักการและวิธีการสหกรณ์ ไปทั่วประเทศ เป็นผลดีต่อการพัฒนาประเทศสืบมาจนบัดนี้ นับเป็นเวลา 105 ปีแล้ว
สำหรับการจัดตั้งสหกรณ์ในระยะแรกได้ดำเนินไปอย่างช้าๆกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 การสหกรณ์จึงได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วมีการจัดตั้งสหกรณ์ประเภทอื่นๆขึ้นเช่นสหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์ที่ดินร้านสหกรณ์
ต่อมาสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ขยายหน่วยงานที่ดูแลสหกรณ์จากระดับกรมขึ้นมาเป็นระดับกระทรวง เป็นกระทรวงสหกรณ์ ก่อนถูกยุบไปรวมกับกระทรวงการพัฒนาการแห่งชาติ เพราะขาดกำลังเจ้าหน้าที่ จนเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2515 ถูกยุบมารวมอีกครั้งเหลือเพียงแค่ระดับกรมเป็น “กรมส่งเสริมสหกรณ์” นับแต่นั้นมา
จากจุดเริ่มต้นการจัดตั้ง”สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้”จวบจนปัจจุบันได้มีการแบ่งย่อยสหกรณ์ออกเป็น 7 ประเภทอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกรมส่งเสริมสหกรณ์ ประกอบด้วย สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ประมง สหกรณ์นิคม สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ สหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน รวมทั้งสิ้น 7,976 แห่ง มีสมาชิกกว่า 11 ล้านคน มีทุนดำเนินงานรวมกว่า 3 ล้านล้านบาท
“ปัจจุบันมีสหกรณ์ทั้งหมด7,976แห่งเป็นสหกรณ์ภาคการเกษตร 4,422 แห่ง นอกนั้นเป็นสหกรณ์นอกภาคการเกษตร ทั้งสองประเภทนี้แยกย่อยได้ 7 ประเภท แต่ละประเภทให้บริการสมาชิกของตัวเองตามลักษณะของสหกรณ์นั้น ๆ เช่น สหกรณ์การเกษตรเป็นการรวมกลุ่มของพี่น้องเกษตรกร ช่วยเหลือกันในเรื่องการผลิต รวบรวมผลผลิต เงินทุนต่าง ๆ สหกรณ์ออมทรัพย์ก็ดูแลประชาชนที่มีรายได้ประจำ เช่น ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจหรือบริษัทเอกชน ทำหน้าที่เป็นแหล่งทุนให้กับสมาชิก”
นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงภารกิจของสหกรณ์แต่ละประเภทในโอกาสครอบรอบ 105 ปีกรมส่งเสริมสหกรณ์ พร้อมย้ำว่าความสำเร็จในการดำเนินงาน จนปัจจุบันสหกรณ์มีสินทรัพย์ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 3.3 ล้านล้านบาท มากเป็นอันดับ 3 รองจากธนาคารพาณิชย์และธนาคารของรัฐ กลไกสำเร็จของความสำเร็จดังกล่าวมาจาก 3 ส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย ตัวสมาชิกของสหกรณ์ คณะกรรมการสหกรณ์และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน ซึ่งทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องร่วมมือประสานการดำเนินกิจการสหกรณ์ให้เป็นไปด้วยดี ภายใต้ธรรมาภิบาล โดยมีกรมส่งเสริมสหกรณ์เป็นผู้กำกับดูแล ในฐานะนายทะเบียน ให้คำแนะนำ ส่งเสริมการดำเนินงานกิจการของสหกรณ์ในเรื่องต่าง ๆ ภายใต้กรอบของกฎหมาย


นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์

“ทั้ง 3 ส่วนนี้จะต้องร่วมด้วยช่วยกัน แต่ละส่วนต้องรู้จักหน้าที่ของตัวเองว่าตัวเองมีหน้าที่อะไรบ้าง สมาชิกต้องรู้จัก สิทธิและหน้าที่ในฐานะสมาชิกของสหกรณ์ คณะกรรมการซึ่งได้รับเลือกจากสมาชิกก็ต้องดูแลทรัพย์สิน ดูแลสมาชิกให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ในส่วนของเจ้าหน้าที่ก็ต้องมีหัวจิตหัวใจในการให้บริการ ดูแลให้บริการแก่สมาชิกในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะในส่วนของเงินทุนสหกรณ์ต้องไม่ให้ได้รับความเสียหาย”อธิบดีกรมส่งเสริมหกรณ์กล่าวย้ำ
ในโอกาสครบรอบ 105 ปี การสหกรณ์ไทย วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2564 นี้ ขอเชิญชวนสมาชิกสหกรณ์ทั่วประเทศร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาคุณขององค์ผู้ให้กำเนิด “สหกรณ์ไทย”พระราชวรวงศ์เธอ กรมหมื่นพิทยาลงกรณ์”พระบิดาแห่งสหกรณ์ไทย”
