#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/652124

วันจันทร์ ที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
เมื่อเร็วๆ นี้ เครือข่ายภาควิชาการและภาคประชาสังคม ซึ่งประกอบด้วยองค์กรและบุคคลที่ดำเนินงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ 26 องค์กร เผยแพร่ 6 ข้อเสนอประเด็นความหลากหลายทางเพศต่อผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2565 “Vote For Sexual Diversity-โหวตเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ” เนื่องในโอกาสที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) จะมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) ในวันที่ 22 พ.ค. 2565 โดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้
1.ประกาศให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่เป็นมิตรต่อประชาชนหลากหลายทางเพศ ในฐานะที่กรุงเทพมหานครถูกยกย่องให้เป็นเมืองสวรรค์ของประชาชนหลากหลายทางเพศ และ ททท. (การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย) มีแคมเปญส่งเสริมนักท่องเที่ยวหลากหลายทางเพศให้มาท่องเที่ยวในประเทศไทย บุคลากรของสำนักงานเขตทุกพื้นที่จึงต้องให้บริการประชาชนในทุกๆ มิติของชีวิต
โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิความหลากหลายทางเพศโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงบริการสาธารณะ บริการด้านสุขภาพอนามัย เป็นต้น 2.จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เรื่องสิทธิความหลากหลายทางเพศของกรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็นศูนย์กลางความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งกลุ่มเยาวชน ครอบครัว ผู้ปกครอง บุคลากรทางการศึกษา เปิดโอกาสให้ภาคประชาสังคม มีส่วนร่วมพัฒนาองค์ความรู้ด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศร่วมกับบุคลากรของกรุงเทพมหานคร
3.บริหารจัดการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่คำนึงถึงประชาชนหลากหลายทางเพศ เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับประชาชนหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ เช่น พื้นที่สาธารณะ สถานที่ทำงาน สถานบันเทิง รวมทั้งในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ภัยพิบัติ การแพร่ระบาคไวรัสโควิค-19 ต้องมีการกำหนดมาตรฐานในการให้ความช่วยเหลือและดูแลประชาชนทุกกลุ่มโดยไม่เลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ
และส่งเสริมให้ประชาชนหลากหลายทางเพศมีส่วนร่วมในการคิดตัดสินใจร่วมดำเนินงานและประเมินผลในคณะกรรมการชุดต่างๆ ของกรุงเทพมหานครเช่น สภาเยาวชนกรุงเทพมหานคร คณะกรรมการส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมกรุงเทพมหานคร เป็นต้น 4.จัดตั้งบริการสายด่วนให้คำปรึกษาและส่งต่อเฉพาะประชาชนหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ความช่วยเหลือในกรณีเกิดฉุกเฉินถูกกระทำความรุนแรง ถูกเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ
5.กำหนดมาตรการทางกฎหมายกฎระเบียบ ในสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้ประชาชนหลากหลายทางเพศมีโอกาสในการเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม เช่น การรับสมัครนักเรียน การรับสมัครงาน โดยไม่ขึ้นอยู่กับเพศสภาพ และปราศจากการเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศ และ 6.แสดงวิสัยทัศน์ต่อประเด็น “สมรสเท่าเทียม” เพื่อช่วยให้เกิดความรู้ความเข้าใจในประเด็นดังกล่าวกับสาธารณะมากขึ้น
โดยทั้ง 6 ข้อข้างต้น เสนอโดยองค์กรและบุคคลที่ดำเนินงานด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ ตามรายชื่อดังต่อไปนี้ 1.มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ 2.มูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยเพื่อสิทธิมนุษชยน 3.มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ 4.มูลนิธิเอ็มพลัส 5.มูลนิธิธีรนาถ กาญจนอักษร 6.สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย 7.ศูนย์ความเป็นเลิศการวิจัยด้านเพศภาวะ เพศวิถีและสุขภาพมหาวิทยาลัยมหิดล 8.โครงการส่งเสริมสุขภาวะและลดช่องว่างในการเข้าถึงบริการสุขภาพของคนข้ามเพศประเทศไทย
9.คลินิกแทนเจอรีน สถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี 10.ผศ.ดร.กนกวรรณ ธราวรรณ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล 11.องค์กรพิ้งค์มังกี้ เพื่อความหลากหลายทางเพศ จังหวัดลพบุรี 12.สำนักพิมพ์สะพาน 13.โรงน้ำชา 14.กลุ่มพยูนศรีตรัง จังหวัดตรัง 15.กลุ่มทำทาง 16.กลุ่มคนตาบอดผู้มีความหลากหลายทางเพศ 17.Trans for career Thailand 18.Non-Binary Thailand
19.SAGA Thailand 20.Intersex Thailand 21.AroAce-clusionist : Aromantic&Asexual Exist 22.GIRLxGIRL 23.ชวินโรจน์ พัชรพร นักวิชาการอิสระด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ 24.ศรัทธารา หัตถีรัตน์ นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ 25.พริษฐ์ ชมชื่น นักกิจกรรมอิสระด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศ และ 26.มูลนิธิซิสเตอร์
อีกด้านหนึ่ง กลุ่มทำทาง ได้เปิดหัวข้อรณรงค์ “ผู้ว่าฯ กทม. ต้องมีนโยบายจัดบริการทำแท้งปลอดภัย ฟรี ถูกกฎหมายโดยรัฐ อย่างน้อย 1 แห่งใน กทม.”บนเว็บไซต์ Change.org ระบุว่า กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีผู้ที่ต้องการรับบริการยุติการตั้งครรภ์มากที่สุด ปัจจุบัน กฎหมายทำแท้งก็เปลี่ยนแล้ว ในอายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ไม่มีความผิดทั้งผู้ให้และผู้รับบริการ มากกว่า 12 สัปดาห์ กฎหมายก็กำหนดให้ทำได้ ตามเงื่อนไขกว้าง เช่น ความผิดปกติด้านกาย จิต, ตัวอ่อนพิการ, ถูกข่มขืน (ไม่ต้องแจ้งความ), อายุครรภ์ 12-20 สัปดาห์ ยังเข้าปรึกษาทางเลือกแล้วเข้ารับบริการได้
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือบัตรทอง ยังสนับสนุน 3,000 บาท ให้โรงพยาบาลรัฐสามารถเบิกจ่ายในการให้บริการทำแท้ง (ต่อราย) อีกด้วย ทำให้ รพ.รัฐ ที่ให้บริการ หลายๆ แห่งสามารถให้บริการฟรี แต่ในกรุงเทพฯ จะไปรับบริการ ต้องจ่าย 5,000 บาทเป็นอย่างต่ำ ไม่มี รพ.รัฐ ที่ให้บริการฟรี เหตุใดในกรุงเทพฯ มีแต่โรงพยาบาลและคลินิกเอกชน (ทั้งหมด 6 แห่ง) ส่วน รพ.รัฐ ถ้าจะเข้า ต้องมีเงื่อนไข ข่มขืน ตัวอ่อนพิการ ตั้งครรภ์แล้วเป็นอันตราย เป็นต้น
มีคำถามว่าเหตุใด รพ.รัฐไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ที่ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ทำแท้งได้แล้ว รพ. เบิกอุดหนุนจาก สปสช. 3,000 บาทต่อคน เท่านี้ คนก็ได้รับบริการฟรีแล้ว รพ.ที่ทำแบบนี้ปัจจุบันไม่ใช่ว่าไม่มี โดยอยู่ในพื้นที่ จ.สิงห์บุรี จึงเรียกร้องไปยังผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. หากได้รับการเลือกตั้ง ขอให้จัดให้มีสถานบริการทำแท้ง อายุครรภ์ต่ำกว่า 12 สัปดาห์ ฟรี (เบิก สปสช.) ให้คนกรุงเทพฯ
หมายเหตุ : กฎหมายการทำแท้งซึ่งถูกแก้ไขหลักเกณฑ์อายุครรภ์ตามที่อ้างถึงข้างต้น คือประมวลกฎหมายอาญา หมวด 3 ความผิดฐานทำให้แท้งลูก โดยมีการแก้ไขมาตรา 301 และมาตรา 305 เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2564 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 138 ตอนที่ 10 ก ลงวันที่ 6 ก.พ. 2564 เรื่อง พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 28) พ.ศ. 2564