#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/likesara/653235

วันศุกร์ ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 11.44 น.
“เกษตรพอเพียง” ด้วยวิถีเกษตรอินทรีย์ ที่นำมาใช้กับในเมืองใหญ่นั้น มีผู้ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ เห็นผล คือ นางสาววิภาพร เสวันนา หรือ “ปุ้มปุ้ย” โดยเรื่องราวของเธอนั้นได้ถูกนำบอกเล่าผ่านเพจ “สวนผักคุณตา เกษตรพอเพียง” ซึ่งมีคุณพ่อเป็นแกนหลักในการใช้พื้นที่สาธารณะเพียง 300 ตารางวา ในซอยรามคำแหง 162 หรือ ซอยมิสทีน เนรมิตให้เป็นสวนผักกลางกรุง และปัจจุบันวิภาพรต่อยอดสวนผักในเมือง ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อทำมาแต่เดิม ออกมาสู่สวนผักกลางเมือง ในจังหวัดอุตรดิตถ์ โดยอยู่ห่างอำเภอเมืองอุตรดิตถ์เพียง 15 กิโลเมตร
“หลังจากที่ปุ้มปุ้ยมีประสบการณ์การปลูกผักที่พื้นที่ร่มเกล้าใน กทม.แล้ว ก็พบว่า การเริ่มปลูกผักจากจุดเล็กๆนั้น ทำให้การปลูกผักมีโอกาสที่จะขยายพื้นที่ออกไปได้มากกว่า และ ผู้ปลูกก็มีกำลังใจ โดยในปลายปี 2563 พ่อของปุ้มปุ้ยย้ายมาที่อุตรดิตถ์ ก็ใช้พื้นที่ 2 ไร่ปลูกเกษตรแบบผสมผสาน ต่อมาในปีนี้ขยายเป็น 10 ไร่ ซึ่งแบ่งเป็นพื้นที่ปลูกป่าไม้ยืนต้น เช่น ไม้ยางนา , ไม้สัก และ ไม้พะยูง รวมทั้งมีในส่วนของพื้นที่ปลูกไม้ผล เช่น มะม่วง และ ผักสวนครัว เช่น ฟักทอง , พริก และ บวบ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่แบ่งปลูกข้าวไว้ทานเอง โดยผลผลิตทั้งหมดในช่วงแรกก็ได้แจกจ่ายให้คนในหมู่บ้าน ตอนนี้ก็เก็บขายมีรายได้ทุกวัน และ ไม่ต้องเสียเงินซื้อกับข้าวในแต่ละวัน เพราะในสวนมีหมดทุกอย่าง” นางสาววิภาพร เล่าให้ฟังอย่างเป็นกันเอง

นางสาววิภาพรเล่าอีกว่า ในช่วงแรกที่มาทำเกษตรอินทรีย์ที่อุตรดิตถ์ พ่อซึ่งเป็นต้นแบบของการปลูกผักในเมือง ได้เริ่มปลูกกล้วย ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ให้ผลง่าย ให้ความชุ่มชื่นกับดิน โดยในช่วงแรกเมื่อได้ผลผลิตก็มีการแจกให้กับคนหมู่บ้าน จากเดิมที่เคยล้มเหลวจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว เมื่อปรับมาทำเกษตรผสมผสาน ทำให้มีผลผลิตแจกให้คนในหมู่บ้าน และ มีพอขายพอทานในเวลานี้
“พอกลับมาอยู่ที่อุตรดิตถ์ สภาพอากาศที่นี่ดีมาก สภาพแวดล้อมต่างๆ ทำให้เรามีความสุข และ มองว่าการทำเกษตรสำหรับคนยุคใหม่นั้น ทำได้ และ อยู่ได้ แต่ต้องอดทน เพราะปลูกไปแล้ว จะต้องรอให้ได้ผลผลิตนั้น ใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี จึงจะเห็นผล และ ก็พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ยังมองไม่เห็นโอกาสทางการตลาดทั้งในทางออนไลน์และออฟไลน์ แต่ก็ทนปลูกพืชเกษตรและรอให้พ่อค้าคนกลางเข้ามาซื้อ ซึ่งก็จะถูกกดราคา” นางสาววิภาพร เล่าให้ฟังถึงการเป็นเกษตรกรในยุคดิจิตอล

ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 วิภาพรกลับบ้านมาอยู่ จ.อุตรดิตถ์ ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ ทั้งพ่อและแม่ป่วยเป็นโรคโควิด ทำให้เธอต้องนำหลักการดูแลสุขภาพแบบองค์รวมที่ได้รับอบรมมาจากแพทย์วิถีธรรมมาใช้ดูแลสุขภาพของพ่อ โดยการนำสมุนไพรที่อยู่ในแปลงเกษตร มาทำสูตรยา 7 นางฟ้า คือ ลูกใต้ใบ, ขิง, ข่า, ตะไคร้, ใบมะกรูด, หอมแดง, กระชาย และใช้มะขามเปียกมาต้มรวมด้วยกัน ซึ่งเป็นสูตรดูแลพ่อให้มีร่างกายฟื้นกลับมาภายใน 14 วันและเป็นช่วงเวลากักตัว
หลังจากนั้นอีก 3-5 วันใช้สูตรถอนพิษด้วยการทำน้ำด่างจากใบย่านางและผงถ่าน โดยเธอบอกว่า พื้นฐานการทำเกษตรนั้นเชื่อมโยงกับทุกเรื่องราวในชีวิต และนำมาประยุกต์ใช้กับการดูแลสุขภาพของพ่อและแม่ได้ รวมทั้งพื้นฐานการทำเกษตร การรู้เรื่องเกษตรนั้นทำให้เธอไม่ตกอยู่ในสภาวะความกลัวโรคโควิด และทำให้เธอดูแลสุขภาพของตัวเองจนทำให้ไม่ติดโควิด ทั้งที่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย

สำหรับพื้นฐานเดิมนั้นวิภาพรจบการศึกษาปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ทำให้ปัจจุบันวิภาพรเป็นประธานเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติ จ.อุตรดิตถ์ มีสมาชิก 123 คน มีทีมงานกว่า 20 คน ขับเคลื่อนงานศาสตร์พระราชาในโซนภาคเหนือ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 พระวีระยุทธ์ อภิวีโร หรือครูบาจ๊อก พระนักพัฒนา วัดพระบรมธาตุดอยผาส้ม อ.สะเมิง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งในศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ (บวร) ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจแปลงเกษตรในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง หนึ่งในพื้นที่คือ อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์
โดยมีเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติพื้นที่ภาคเหนือเป็นผู้ประสานงาน ซึ่งนางสาว วิภาพรเล่าว่า ผลการเยี่ยมชมพบว่าเกษตรกรบางส่วนประสบความสำเร็จ เพราะมีการนำบันได 9 ขั้น ของในหลวง รัชกาลที่ 9 ไปใช้ แต่ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการทำเกษตร เพราะยังไม่เข้าใจหลักบันได 9 ขั้น และ อยู่ในช่วงเริ่มต้นทำเกษตรกรรมเพียง 1-2 ปีแรกเท่านั้น
.jpg)
“สำหรับบันได 9 ขั้นของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เป็นบันไดก้าวสู่ความพอเพียง และเป็นฐานรากของ “เศรษฐกิจพอเพียง” โดยเกษตรกรที่เดินตามศาสตร์พระราชาในการดำเนินชีวิตแบบพอเพียงนั้น ต้องทำความเข้าใจในหลักบันได 9 ขั้น ได้แก่ พอกิน, พอใช้, พออยู่, พอร่มเย็น, บุญ, ทาน, เก็บ, ขาย และข่าย
นางสาววิภาพรทิ้งท้ายเป็นกำลังใจให้กับผู้อ่านว่า ตนเองนั้นมีความสนใจปลูกผักทานเองมาเป็นเวลา 10 ปี ก็เห็นผลดีกับตนเอง เพราะฉะนั้น หากทุกคนหันมาดูแลตัวเองด้วยการปลูกผักทานเอง ไม่พึ่งพาการซื้อเพียงอย่างเดียว ก็จะทำให้มีแหล่งอาหารเป็นของตนเอง และ เห็นคุณค่าของการใช้ชีวิตอยู่ในบันได 9 ขั้น ซึ่งเป็นหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง – 003






