คุยกัน7วันหน : มิยาโกะ-ก็อตแลนด์ สองเกาะต้องปรับตัวรับภัยคุกคาม

#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า

https://www.naewna.com/lady/653508

คุยกัน7วันหน : มิยาโกะ-ก็อตแลนด์  สองเกาะต้องปรับตัวรับภัยคุกคาม

วันอาทิตย์ ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2565, 06.20 น.

เกาะเล็กๆ ในจังหวัดโอกินาวาทางตอนเหนือของญี่ปุ่น อยู่ในสภาพเตรียมความพร้อมทางทหารทั้งด้านเจ้าหน้าที่และอาวุธยุทโธปกรณ์ ท่ามกลางความขัดแย้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออก จนชาวบ้านกังวลผลกระทบจากสงครามและการเผชิญหน้า เช่นเดียวกับเกาะอีกแห่งของสวีเดน ที่กลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลบอลติก ขณะที่สวีเดนกำลังเตรียมความพร้อมเรื่องความเป็นไปได้ในการเข้าเป็นสมาชิกองค์กรสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต

เกาะเล็กๆ อย่างเกาะมิยาโกะ ในจังหวัดโอกินาวาของญี่ปุ่นแห่งนี้เคยเป็นที่ตั้งของสนามกอล์ฟนอกชายฝั่งเต็มไปด้วยแนวปะการังอุดมสมบูรณ์ และมีพื้นที่ให้ชาวบ้านทำการเกษตร อย่างการปลูกเมลอนและอ้อย แต่ตอนนี้ เกาะมิยาโกะเต็มไปด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างเครื่องยิงขีปนาวุธ และกำลังพลของกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นที่เตรียมความพร้อมรับมือภัยคุกคามจากจีน เนื่องจากเกาะมิยาโกะ ตั้งอยู่ห่างจากไต้หวันเพียง 249 กิโลเมตร และห่างจากเกาะที่ไม่มีคนอยู่อาศัยในทะเลจีนใต้เพียง 200 กิโลเมตร อันถือเป็นพื้นที่ความขัดแย้งสำคัญในน่านน้ำทะเลจีนใต้กับจีน

นั่นทำให้เกาะมิยาโกะ ที่มีสนามบินขนาดใหญ่ 2 แห่งและท่าเรืออีก 1 แห่งกลายเป็นจุดยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคงสำคัญที่เป็นเหมือนหน้าด่านหากความขัดแย้งในภูมิภาคกับจีนเกิดปะทุขึ้นเพราะเครื่องยิงขีปนาวุธบนเกาะแห่งนี้สามารถเล็งเป้าไปยังเรือของจีนที่แล่นเข้า-ออกน่านน้ำทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิกได้

ความเคลื่อนไหวนี้เกิดขึ้นก่อนถึงวันที่ 15 พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันครบรอบ 50 ปีที่สหรัฐฯ คืนเกาะแห่งนี้ให้กับญี่ปุ่น แต่เป็นช่วงที่สถานการณ์การเผชิญหน้าในภูมิภาคตึงเครียดมากยิ่งขึ้นผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นบนเกาะมิยาโกะ บอกว่ากำลังพล700 นาย เตรียมความพร้อมตลอดเวลาเพื่อรับมือภัยคุกคามหรือการเผชิญหน้าและหวังที่เพิ่มกำลังพลเข้ามาประจำการบนเกาะเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปกป้องดินแดน

อย่างไรก็ดี ชาวบ้านบางส่วนบนเกาะมิยาโกะ ที่ทุกวันพฤหัสบดีจะนัดกันออกมารวมตัวประท้วงตามท้องถนนและด้านนอกฐานทัพ เพื่อเรียกร้องให้ปิดฉากทัพแห่งนี้ ย้ายกำลังพลและอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ ออกไปจากเกาะ เพราะพวกเขาต้องการมีชีวิตอยู่อย่างสงบ และเกรงว่าหากยังมีกิจกรรมทางทหารบนเกาะต่อไป ที่นี่และจังหวัดโอกินาวาทั้งหมด ก็อาจกลายเป็นด่านหน้าของการเผชิญหน้าทางทหารครั้งใหม่กับจีน และชาวบ้านอาจถูกลูกหลงได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง เช่นเดียวกับเกษตรกรผู้ปลูกเมลอนรายหนึ่งบอกว่า ยิ่งมีกำลังพลและอาวุธบนเกาะมากขึ้นเท่าไหร่ ที่นี่ก็ยิ่งตกเป็นเป้าโจมตีจากจีนได้ง่ายมากขึ้นเพราะจีนอยู่ห่างออกไปเพียง 600 กิโลเมตร อยากให้ถอนกำลังพลและอาวุธออกไป แต่ก็คิดว่าเป็นเรื่องยากส่วนหนึ่งก็เพราะชาวบ้านบางส่วนได้ประโยชน์จากการมีอยู่ของฐานทัพทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย และการจ้างงานที่ได้จากฐานทัพ

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีฟุมิโอะ คิชิดะ ต้องอาศัยการสนับสนุนจากชาวบ้านในโอกินาวา ในการผลักดันโครงการก่อสร้างฐานทัพเพิ่มเติมในพื้นที่ เพื่อเป็นหลักประกันด้านความมั่นคงให้กับญี่ปุ่น แต่ก็เป็นประเด็นที่ทำให้ชาวโอกินาวาต้องปวดหัวเรื่องฐานทัพสหรัฐฯในพื้นที่ เพราะผลสำรวจความเห็นชาวโอกินาวา 812 คน จากสถานีโทรทัศน์ NHK เมื่อเดือนมีนาคมพบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 56 ต่อต้านฐานทัพสหรัฐฯ แต่เมื่อสอบถามชาวบ้านกว่า 1,115 คน ในจังหวัดอื่นที่ไม่ใช่โอกินาวา กลับพบว่าแค่ 1 ใน 4 ของชาวบ้านเท่านั้นที่ต่อต้านฐานทัพแห่งนี้

ส่วนที่อีกฟากหนึ่งของโลก สวีเดนแห่งยุโรปเหนือ……

รัฐบาลสวีเดนเพิ่มการลาดตระเวนและกิจกรรมทางทหารบนเกาะก็อตแลนด์ เกาะยุทธศาสตร์สำคัญในทะเลบอลติก หลังจากที่เคยถอนกำลังทหารออกจากเกาะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศแห่งนี้ไปตั้งแต่เมื่อ 30 ปีก่อน ช่วงการล่มสลายของอดีตสหภาพโซเวียต โดยในตอนนี้ กองทัพสวีเดนได้ส่งกำลังทหารไปประจำการบนเกาะ ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างทางทหาร และประจำการอาวุธยุทโธปกรณ์ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ เป็นภาพที่แปลกตาจากหลายปีที่ผ่านมา ที่เกาะก็อตแลนด์แห่งนี้ได้ชื่อว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวและตากอากาศสำคัญของชาวสวีเดนมากกว่ามีความสำคัญเรื่องจุดยุทธศาสตร์

เกาะก็อตแลนด์มีความยาว 170 กิโลเมตร เป็นเกาะใหญ่ที่สุดในของสวีเดนในทะเลบอลติก กลายมาเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ไปโดยปริยาย เนื่องจากตั้งอยู่ห่างจากที่ตั้งกองเรือในทะเลบอลติกของกองทัพเรือรัสเซีย ในเมืองคาลินินกราดเพียง 300 กิโลเมตรสวีเดนเริ่มกลับมาฟื้นกิจกรรมทางทหารบนเกาะแห่งนี้ อันเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเสริมกำลังด้านความมั่นคงและปกป้องประเทศ นับตั้งแต่รัสเซียผนวกภูมิภาคไครเมียของยูเครน เข้าเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของตนเองในปี 2014

สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนในเวลานี้ยิ่งทำให้สวีเดนกังวลและเพิ่มกิจกรรมทางทหารบนเกาะก็อตแลนด์มากขึ้นเพราะมีการคาดการณ์จากหลายฝ่ายว่า รัสเซียอาจจะเข้ามายึดหรือผนวกเกาะก็อตแลนด์ในทะเลบอลติกแห่งนี้เพื่อหวังควบคุมและมีอิทธิพลเหนือประเทศริมทะเลบอลติกได้ทั้งหมด หลังจากที่รัสเซียเคยยึดเกาะแห่งนี้ในช่วงสั้นๆ เมื่อปี 1808 ซึ่งเป็นช่วงที่ฟินแลนด์ต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของซาร์แห่งรัสเซียนานนับศตวรรษ

ความเคลื่อนไหวในเรื่องนี้เกิดขึ้นขณะที่รัฐบาลสวีเดนและฟินแลนด์กำลังเตรียมความพร้อมและพิจารณาอย่างรอบด้าน ก่อนตัดสินใจว่าจะเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโตโดยผู้นำของฟินแลนด์และสวีเดนจะประกาศอย่างเป็นทางการเกี่ยวกับแผนสมัครเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโตในช่วงกลางเดือนนี้

โดย ดาโน โทนาลี

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s