#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/670910

วันพฤหัสบดี ที่ 4 สิงหาคม พ.ศ. 2565, 06.00 น.
กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้สืบสานและพัฒนาต่อยอดผ้าไทย สนองพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง จัดงาน “ภูษาศิลป์จากท้องถิ่นสู่สากล” เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 วันที่ 11-14 สิงหาคม 2565 ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 ศูนย์การค้าสยามพารากอนในส่วนของ วธ.เอง ได้นำผลงานที่น่าภาคภูมิใจในการสืบทอดและเชื่อมต่อให้คนรุ่นใหม่เข้าถึงผ้าไทยที่ทรงคุณค่า มาร่วมแสดงในงานครั้งนี้ด้วย
วธ.ได้ขับเคลื่อนการออกแบบเครื่องแต่งกายโดยใช้ผ้าไทยมาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการส่งเสริมและให้การสนับสนุนทั้งนักออกแบบรุ่นใหม่ และนักออกแบบระดับประเทศ ให้มาร่วมออกแบบเครื่องแต่งกายไทยร่วมสมัยให้สวยงามและใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน และมีผลงานที่ประสบผลสำเร็จและได้รับการตอบรับจากตลาดในประเทศอย่างน่าพอใจ และขณะเดียวกันยังสามารถขยายตลาดผ้าไทยออกสู่กลุ่มลูกค้าต่างชาติ ถือเป็นการยกระดับผ้าไทยสู่ตลาดสากลมากยิ่งขึ้น
ในงาน “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” วธ.ได้นำผลงานการออกแบบผ้าไทยร่วมสมัยกว่า 50 ผลงาน มาจัดแสดงมีการจัดนิทรรศการเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยที่เป็นการเผยแพร่ผลงานเครื่องแต่งกายจากผ้าไทยของสุดยอดนักออกแบบเครื่องแต่งกายยุคใหม่ จาก 3 แบรนด์ ในยุคบุกเบิกและผลงานการออกแบบเครื่องแต่งกายคอลเลคชั่นผ้าไทยใส่สบาย Ready-to-Wear ยุคปัจจุบันสู่สากล
ไฮไลท์สำคัญจะมีขึ้นในวันที่ 14 สิงหาคม 2565 คือการแสดงแฟชั่นโชว์คอลเลคชั่นผ้าบาติกชายแดนใต้ใหม่ล่าสุดปี 2565 ผลงานของดีไซเนอร์ชื่อดังคือ ธีระ ฉันทสวัสดิ์และ เอก ทองประเสริฐ ทั้งหมดจำนวน 28 ชุด ทุกชุดเป็นผลงานที่ได้รังสรรค์ด้วยผ้าบาติกที่เป็นลายผ้าร่วมสมัยซึ่งเกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่างดีไซเนอร์และผู้ประกอบการและกลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนด้านสิ่งทอในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ที่มีศักยภาพ 14 ชุมชน โดยลายผ้าบาติกดังกล่าว เป็นการนำอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มมาพัฒนาเป็นลวดลายให้เป็นที่ชื่นชอบและเหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ ได้แก่ การเล่นลายกราฟิกที่สีตัดกัน เน้นลวดลายท้องทะเล ลายดอกไม้ ใบไม้ และลายคลื่นทะเล รวมไปถึงใช้วัฒนธรรมสำคัญของภาคใต้อย่างการละเล่นหนังตะลุงมาเป็นแนวคิดในการออกแบบผลงานลายผ้า นอกจากนี้ ยังมีการแสดงแฟชั่นโชว์จากโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ปี 2565 ของนักออกแบบรุ่นใหม่ที่โดดเด่นอีกถึง 24 ผลงาน
นอกจากนี้ ยังมีการเสวนาหัวข้อ “แนวทางการส่งเสริมผ้าไทยร่วมสมัย ให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมในตลาดโลก” โดยดีไซเนอร์รุ่นใหญ่ ศิริชัย ทหรานนท์, ธีระ ฉันทสวัสดิ์ และ เอก ทองประเสริฐ ที่จะมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและถ่ายทอดแนวคิดในการพัฒนาและส่งเสริมผ้าไทยให้เป็นสินค้าทางวัฒนธรรมในตลาดโลก รวมไปถึงแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานการออกแบบผ้าไทยที่ทรงคุณค่า และยังมีพิธีมอบรางวัลการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายร่วมสมัย ภายใต้แนวคิด “ไทยใส่สบาย” จากโครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัย ปี 2565 ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้ผู้เข้าประกวดนำผ้าไทยที่ผลิตด้วยฝีมือคนไทยมาเป็นวัตถุดิบในการออกแบบเครื่องแต่งกาย เพื่อสร้างกระแสความนิยมให้เห็นว่าผ้าไทยสามารถนำมาออกแบบได้อย่างสวยงาม ใส่ได้ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่น วัยทำงาน และบุคคลทั่วไปก็สวมใส่ได้อย่างสบายในชีวิตประจำวัน
งาน “ภูษาศิลป์ จากท้องถิ่นสู่สากล” ได้เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการแฟชั่นและดีไซเนอร์รุ่นใหม่ได้นำเสนอผลงานด้านการพัฒนาผ้าไทย ให้คนไทยและนักธุรกิจไทยได้ร่วมกันชื่นชม หากเล็งเห็นคุณค่าของความเป็นไทยดังกล่าว เราทุกคนควรช่วยกันอุดหนุนผ้าไทย รวมทั้งช่วยกันขยายตลาดเสื้อผ้าไทยให้กระจายในวงกว้าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หากทำได้ก็จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน และรายได้ให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการผ้าไทย และธำรงไว้ซึ่งวัฒนธรรมอันดีงามของไทยให้คงไว้ได้ยาวนานสืบไป
ชนิตร ภู่กาญจน์
