#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/likesara/700491

ธรรมะวันอาทิตย์ : ใช้ปัญญา…แก้ปัญหา โดย พระครูธีรธรรม มาลังการ
วันอาทิตย์ ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2565, 12.34 น.
25 ธันวาคม 2565 วัดไชยคำ ตั้งอยู่ตำบลคำพระ อำเภอหัวตะพาน จังหวัดอำนาจเจริญ แม้จะเป็นวัดขนาดเล็ก เนื้อที่ 9 ไร่เศษ แต่ว่าทุกวันจะมีญาติโยมพุทธศาสนิกชนเดินทางเข้าไปทำบุญสร้างกุศลอย่างต่อเนื่อง เพื่อจรรโลงพระพุทธศาสนา เป็นมงคลแก่ชีวิต โดยมีพระครู ธีรธรรม มาลังการ อายุ 57 ปี เป็นเจ้าอาวาสวัดไชยคำและตำแหน่งเจ้าคณะตำบลคำพระ ปกครองพระสงฆ์ 5 รู ป สามเณร 2 รูป มัคนายก 3 คน สังกัดมหานิกาย และที่สำคัญ การเข้ามาทำบุญ ยังคงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด19 อย่างเคร่งครัดอีกด้วย
สำหรับ วัดไชยคำ สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2315 เป็นวัดเก่าแก่ที่มีอายุ 250 ปี ด้วยแรงศรัทธา ของญาติโยม พุทธศาสนิกชนบ้านคำพระ ร่วมกันสร้างกุฎิถวายหลังแรกแบบบ้านไม้โบราณ ใช้ได้มาถึง ปี พ.ศ. 2472 เพราะผุพัง จึงมีการก่อสร้างหลังใหม่แทนเป็นหลังที่ 2 และปี พ.ศ.2522 มีการรื้อถอนและก่อสร้างหลังที่ 3 จนถึงปัจจุบัน
.jpg)
ต่อมา เมื่อปี พ.ศ.2489 ศาลาการเปรียญ หลังแรกที่สร้างอาสนสงฆ์ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของวัด อาคารชำรุดทรุดโทรมมาก ชาวบ้านจึงได้ร่วมมือรื้อถอนออก และเมื่อปี พ.ศ.2491 ชาวบ้าน จึงได้ร่วมมือกันก่อสร้างศาลาการเปรียญหลังที่ 2 ขึ้นแทนหลังเดิม โดยใช้ประกอบพิธีทางศาสนาจนถึงปี พ.ศ.2505 จากนั้น เมื่อปี พ.ศ.2506 พันเอกปิ่น มุทุกัณต์ อธิบดีกรมศาสนาในสมัยนั้น ได้ให้งบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างศาลาการเปรียญ หลังที่ 3 แล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ.2524
สำหรับอุโบสถ มีการก่อสร้างถึง 3 หลัง ซึ่งหลังแรก ก่อสร้างเมื่อใดไม่ปรากฏหลังฐานแน่ชัด หลังที่ 2. ก่อสร้างเมื่อ พ.ศ.2471 ด้วยสภาพการใช้งานที่นาน อุโบสถจึงเก่าแก่ ชำรุดแต่ก็ยังคงสภาพเดิมไว้อย่างสมบูรณ์จนถึงปัจจุบัน ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านคำพระ จึงพร้อมใจกันก่อสร้างอุโบสถหลังที่ 3. เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ.2537 เสร็จสมบูรณ์ วันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2540 ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้าง 3 ปี โดยได้รับงบประมาณจากพุทธศาสนิกชน ผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสร่วมก่อสร้างเป็นเงินทั้งสิ้น 4,900,000 บาท
ส่วนที่โดดเด่น ซึ่งพุทธศาสนิกชนเดินทางเข้ามากราบไหว้ บนบาน ขอพรเป็นประจำก็คือ หลวงพ่อใหญ่ไชยมงคล ประดิษฐานอยู่ในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ อายุ 200 ปี สูง 3 เมตร หน้าตักกว้าง 1.80 เมตร เนื่องจากชาวบ้านตั้งใจจะไปช่วยกันก่อสร้างพระธาตุพนม จ.นครพนม เมื่อเดินทางไปถึง อ.ธาตุพนม พบว่า องค์พระธาตุพนม ก่อสร้างเสร็จแล้ว จึงเดินทางกลับ บ้านคำพระ และเพื่อไม่ให้เสียความตั้งใจ ก็เลยร่วมกัน สร้างพระพุทธรูป นามว่า หลวงพ่อใหญ่ไชยมงคล ขึ้นมาตามแรงศรัทธา
และในระหว่างวันที่ 12 – 13 เมษายนของทุกปี ก็จะมีการจัดงานประจำปีเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะวันที่ 13 เมษายน คือ วันสงกรานต์ ก็จะมีการอัญเชิญ องค์จำลอง หลวงพ่อใหญ่ไชยมงคล แห่ไปรอบๆชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านได้ร่วมกันสงฆ์น้ำหลวงพ่อใหญ่ไชยมงคล เพื่อความเป็นสิริมงคล แก่ตนเองและครอบครัว และที่สำคัญ ผู้คนนิยม เข้ามาอธิฐาน ให้หลวงพ่อใหญ่ไชยมงคล ช่วยเหลือในด้านต่างๆ เช่น ขอบุตร สอบรับราชการ เลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ หากสำเร็จ จะมีการถวายผลไม้ 9 อย่างแก้บน และที่หลวงพ่อชอบมากที่สุดก็คือ การแก้บนด้วยการจุดบั้งไฟ
สำหรับด้านข้างใกล้กับวิหาร หลวงพ่อใหญ่ไชยมงคล เป็นที่ตั้งของอุโบสถ โดยมีใบเสมาหิน อายุ 1,000 ปี ผุดขึ้นมาจากพื้นดิน โดยรอบ จำนวน 8 ใบ ในแต่ละใบเสมาหิน มีการสลักลวดลายอยู่บนเนื้อใบเสมาหิน 2 แบบ คือ แบบบัวคว่ำ บัวหงายและแบบเป็นดาบ มีบัวคว่ำ บัวหงาย อยู่พื้นล่าง และบริเวณลานด้านหน้าอุโบสถ จะพบเห็น พระพุทธรูป นามว่า หลวงพ่อโตอุตมะ ปางมารวิชัย ขนาดสูง 15 เมตร หน้าตักกว้าง 5 เมตร อย่างสวยงาม
พระครูธีรธรรม มาลังการ เจ้าอาวาสวัดไชยคำและเจ้าคณะตำบลคำพระ อ.หัวตะพาน จ.อำนาจเจริญ เทศนาว่า เมื่อเรายีดมั่นเอาพระไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งแล้ว ไม่ดูหมอ แต่งแก้บูชา เสียเคาะห์เสียขวัญ เว้นจากการนัยถือพระภูมิเจ้าที่ เทวบุตร เทวดา มนต์กลคาถาวิชาต่างๆ ถ้านับถือเมื่อใด ก็ขาดจากคุณของพระรัตนตรัย การทำความดีนั้น เป็นอกาสิโก คือไม่เลือกกาลเวลาทำเมื่อไรได้ผลเมื่อนั้นและควรบำเพ็ญบุญในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ก็ถือว่าเป็นอุบาสกอุบาสิกา พวกเราทั้งหลายต้องเป็นผู้เชื่อกรรม พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรางสอนให้ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำใจให้บริสุทธิ์สดใน
ซึ่งความเชื่อในพระพุทธเจ้ามี 4 ประการ คือ 1.กัมมสัทธา เชื่อกรรม 2.วิบากสัทธา เชื่อผลของกรรม 3.กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อพระปัญญาตัรสรู้ของพระคถาคต 4.คถาคตโพธิสัทธา เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระคถาคต อธิบายว่า กุศลกรรม คือ ความดี เหตุดี ได้ผลดี เหตุชั่ว ได้ผลชั่ว เชื่อว่า บรรดาสัตว์ทั้งหลายที่ยังมีกิเลสสานุสัย ทำกรรมอันใดด้วย กาย วาจา ใจ ก็ย่อมได้เสวยผลกรรมนั้นๆ กรรมนั้นแหละย่อมจำแนกสัตว์ผู้กระทำให้ประณีตและเลวทรามต่างกัน ความหยั่งรู้ในคุณพระพุทธเจ้า คุณพระธรรมเจ้า คุณพระสงฆ์เจ้า เชื่อไปว่าพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ความโกรธชอบด้วยพระองค์เอง ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนวไนยสัตว์ ได้เชื่อว่า ตรัสรู้ชอบแล้ว และสงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ปฏิบัติดีแล้ว เป็นต้น
เมื่อเราศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว ก็ให้พากันทำความดีให้ทุกวันไม่เลือกวันเวลา เช่น การปฏิบัติธรรม ไม่เชื่อมงคลตื่นข่าว ว่าทำวันนั้นเวลานั้นจึงจะเจริญดีมีความสุข คือการทำความดีนั้น เป็นอกาสิโก คือ ไม่เลือกาลเวลา ทำเมื่อไรได้ผลเมื่อนั้น ถือเอาความเหมาะสมและสะดวกเป็นประมาณ ขอให้ทำบุญในพระพุทธศาสนา คือ ให้ทาน รักษาศีล เจริเมตตาภาวนา ก็เชื่อว่า รักษาสมบัติอุบาสถอุบาสิกาไว้ได้
พระครูธีรธรรม มาลังการ เจ้าอาวาสวัดไชยคำและเจ้าคณะตำบลคำพระ เทศนาตอนสุดท้ายว่า ขอให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้า เป็นหลัก ให้มีศีล สมาธิ ปัญญา ได้แก่ ศีล ก็คือ ให้ถือศีล 5 ข้อ อย่างเคร่งครัด เช่น ห้ามลักทรัพย์ ห้ามฆ่าสัตว์ ห้ามดื่มสุรา ห้ามประพฤติผิดในกามและห้ามพูดเท็จ หากทุกคนทำได้ปฏิบัติได้ ก็จะมีแต่ความสงบ ไม่วุ่นวายเหมือนทุกวันนี้ ส่วนสมาธิ ก็บอกในตัวมันเองแล้วจะต้องตั้งมั่น ยึดมั่น และปัญญา ถ้าคนเรามีปัญญา จะทำอะไร ต้องใช้ปัญญา ไตร่ตรองให้ดี แล้วปัญหาอุปสรรคต่างๆที่ประสบจะผ่านพ้นไปด้วยดี.012