#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/704830

‘ม.มหิดล’พัฒนาแอปฯประเมินสมองเสื่อม เดินหน้าคลินิกกายภาพบำบัดสัญจรชุมชนปีที่15
วันพุธ ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2566, 06.00 น.
มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันการศึกษาซึ่งโดดเด่นในด้านการศึกษาวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ทางการแพทย์และสาธารณสุข ยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสนับสนุนการมีสุขภาพดีของคนไทยอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดได้สร้างสรรค์แอปพลิเคชั่น “BrainTrack” โดยเป็นผลงานของ ผศ.ดร.พรภพนัยเนตร อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อคนไทยห่างไกล “ภาวะสมองเสื่อม”เพราะสมองเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถทดแทนได้โดยสมบูรณ์ จึงจำเป็นต้องได้รับการดูแลไม่ให้เสื่อมก่อนวัยอันควร
ทั้งนี้ ปัจจุบันด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ทำให้การดูแลสุขภาพด้วยตัวเองกลายเป็นเรื่องง่าย เพียงใช้แอปพลิเคชั่นในมือถือ จึงทำให้มีซอฟต์แวร์ทางการแพทย์เพื่อการดูแลสุขภาพออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งแม้จะทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่าย แต่ยังน่าเป็นห่วงในเรื่องความปลอดภัย และการได้มาตรฐาน โดยแอปฯถูกออกแบบและพัฒนาให้สอดคล้องกับวิธีมาตรฐานการตรวจประเมินภาวะสมองเสื่อมทางการแพทย์ และกำลังอยู่ในขั้นตอนกระบวนการตามที่ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด
ปัจจุบันแอปพลิเคชั่น Brain Track ได้รับการจดทะเบียนเป็นข้อมูลลิขสิทธิ์โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งในเบื้องต้น ผศ.ดร.พรภพ ได้ตั้งบริษัท IQMED Innovation จำกัด ซึ่งเป็น Start-Up จากห้องปฏิบัติการวิศวกรรมหัวใจ หลอดเลือด และอวัยวะประดิษฐ์ (CardioArt Lab) ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อมุ่งพัฒนาแอปพลิเคชั่น Brain Track ให้สามารถช่วยแพทย์วินิจฉัยผู้ป่วยก่อนเข้ารับการรักษา
โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือผู้สูงวัยอันเป็นกลุ่มเสี่ยงหลักของภาวะสมองเสื่อม ผ่านการวิเคราะห์ถึงอุปสรรคสำคัญในการใช้ ครอบคลุมข้อจำกัดที่ทำให้ผู้สูงวัยไม่สามารถเข้าถึงได้เนื่องด้วยความซับซ้อน ซึ่งแอปฯ ถูกออกแบบให้มีการประเมินในรูปแบบของเกมที่เข้าใจง่าย อาทิ การนับด้วยลูกบอลเพื่อทดสอบทักษะในการคิดคำนวณ นอกจากนี้ยังได้ออกแบบการทดสอบความจำ ผ่านรูปภาพ สีและแบบทดสอบที่ต้องใช้ทักษะการเชื่อมโยงทางความคิด ฯลฯ
เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมของผู้สูงวัยก่อนแพทย์ให้การรักษาได้อย่างตรงจุด และที่สำคัญยังสามารถกระตุ้นให้ผู้เข้ารับการประเมินเกิดความสนใจ และติดตามการทดสอบไปจนจบ ทั้งนี้ ก้าวต่อไปของ Brain Trackจะได้รับการพัฒนาให้เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับคนไทยเพื่อใช้ดูแลสุขภาพสมองด้วยตนเอง โดย ผศ.ดร.พรภพ กล่าวว่า ขอให้ทุกคนตระหนักถึงปัจจัยสำคัญของการดำเนินชีวิตในโลกยุคปัจจุบัน จากการรู้จักเลือกใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดูแลสุขภาวะตนเองอย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว การบ่มเพาะผู้เรียนให้มีทั้งความรู้และคุณธรรม ก็เป็นอีกด้านที่มหาวิทยาลัยมหิดลดำเนินการตลอดมา ดังหนึ่งในตัวอย่างคือ “โครงการคลินิกกายภาพบำบัดสัญจรสู่ชุมชน” ซึ่ง ดำเนินการมาแล้วล่าสุดเข้าสู่ปีที่ 15 โดย ผศ.ดร.ภครตี ชัยวัฒน์ รองคณบดีคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า โครงการคลินิกกายภาพบำบัดสัญจรสู่ชุมชนที่ได้ดำเนินมาสู่ปีที่ 15 ได้มีพัฒนาขึ้นตามบริบทชุมชน และการเปลี่ยนแปลงของโลก
โดยเชื่อมต่องานการศึกษา งานวิจัย และนวัตกรรม การสร้างความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนทิศทางที่มุ่งให้ความรู้ประชาชนเพื่อให้สามารถดูแลตัวเอง ภายใต้การวางแผนให้เกิดการเข้าถึงบริการลดเวลา และจำนวนครั้งของการบริการทางกายภาพบำบัดเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด ทั้งนี้ ปัจจุบันการดูแลทางกายภาพบำบัดจะไม่ได้เพียงให้ความสำคัญต่อผู้ป่วย แต่ยังคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อบุคคลรอบข้างด้วย โดยเป็นไปในลักษณะที่ดูแลซึ่งกันและกัน มีการรับ-ส่งต่อผู้ป่วยจากศูนย์กายภาพบำบัด สู่ชุมชนอย่างเป็นพลวัต
จึงทำให้โครงการคลินิกกายภาพบำบัดสัญจรสู่ชุมชน คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล สามารถเดินหน้าภารกิจเพื่อสร้างเสริม ส่งเสริมป้องกัน รักษา และฟื้นฟูสุขภาวะเพื่อประชาชนได้ต่อไปได้อย่างไม่สิ้นสุด แต่เหนือสิ่งอื่นใด คือ “การบ่มเพาะปลูกฝังนักศึกษาทุกรุ่นให้เติบโตขึ้นเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ปฏิบัติหน้าที่โดยเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเห็นประโยชน์ของผู้อื่นเป็นที่ตั้ง” ซึ่งคุณลักษณะดังกล่าวไม่อาจเกิดขึ้นได้จากเพียงการเรียนในห้องเรียน หรือจากห้องปฏิบัติการ แต่คือการได้ลงพื้นที่จริงได้สัมผัสกับผู้คนจริง
สู่การสร้างโจทย์เรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหา รวมทั้งสร้างองค์ความรู้เพื่อให้กับชุมชนได้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนต่อไป ซึ่งไม่ว่าจะผ่านไปนานเท่าใดก็ตามคณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดลยังคงคุณภาพและมาตรฐานการให้บริการเพื่อประชาชน และการได้เห็นผู้เข้ารับบริการหายเจ็บป่วย มีคุณภาพชีวิตที่ดีสามารถกลับไปดำเนินชีวิตได้อย่างที่เป็นปกติ ถือเป็นรางวัลชีวิต ที่จะคอยเป็นแรงใจขับเคลื่อนให้นักกายบำบัดทุกคนทำหน้าที่ดูแลสุขภาวะเพื่อประชาชนด้วยหัวใจต่อไปให้ดีที่สุดตราบนานเท่านาน
