#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/likesara/708430

ชาวระยองแห่เผาข้าวหลามทำบุญข้าวใหม่เดือนสามฟื้นวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม
วันพฤหัสบดี ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 16.48 น.
ชาวบ้านในจังหวัดระยองแห่เผาข้าวหลามทำบุญข้าวใหม่เดือนสาม ฟื้นวัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิม สร้างความรักสมัครสมานสามัคคีของคนในชุมชน
ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ถึง ต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปีนี้ เป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นปกคลุม ทั่วทุกภูมิภาคของ ประเทศไทย โดยเฉพาะที่จังหวัดระยอง อากาศหนาวเย็น และมีลมโชยสดชื่น ทำให้ทุกหมู่บ้าน ในตำบลตาขัน อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง ต่างพากันคิดฟื้นฟูประเพณีเก่าแก่ดั้งเดิม ที่บรรพบุรุษเคยทำมาในช่วงเทศกาลเดือนสาม ช่วงที่ยังมีอากาศหนาวเย็นเช่นนี้ นั่นคือประเพณี”ทำบุญข้าวใหม่เดือนสาม “

นายชีพ ฟุ้งพิทักษ์ อายุ 77 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 4 ตำบลตาขัน บอกว่า สมัยก่อนเคยไปกับพ่อแม่ตั้งแต่เด็กเห็นชาวบ้านทำบุญกันแบบนี้ เมือ่ก่อนไม่มีศาลา ก็นิมนต์พระทำบุญกันตามใต้ร่มไม้เผาข้าวหลามไปทำบุญรวมกัน ต่อมาก็ห่างหายไป จึงคิดว่าน่าจะรวมชาวบ้านหลายๆหมู่บ้านมาทำบุญร่วมกัน ใครมีอะไรก็นำมาช่วยกัน ใครไม่มีก็มาช่วยแรงกัน จะได้อนุรักษ์ฟื้นประเพณีเก่าแก่มาช่วยกันเผาข้าวหลามแบบโบราณ เพื่อนำมาทำบุญ ซึ่งการเผาข้าวหลามแบบโบราณนั้น เกิดประโยชน์มากมาย ทั้งการอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีเก่าแก่ ความสมัครสมานสามัคคี ของคนในชุมชน ซึ่งนับวันมีแต่จะห่างเหิน ต่างออกทำมาหินกินคนเฒ่าคนแก่ ก็อยู่บ้านเพียงลำพัง ประสบการณ์ความรู้ความชำนาญที่เคยใช้มาก็ไม่ถูกนำมาใช้ แต่เมื่อได้มาช่วยกันเผาข้าวหลาม ก็จะได้มาเจอะเจอพูดคุยช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน คนเฒ่าคนแก่ก็ได้แสดงความสามารถ ความเชี่ยวชาญที่มี เช่นการทำกับข้าวแบบโบราณที่เคยทำเลี้ยงลูกหลานมาแต่อดีต
การเผาข้าวหลามแบบโบราณ เริ่มจากชาวบ้านช่วยกันปรับพื้นที่จากนั้นก็ช่วยกันตัดไม้ไผ่จากกอ และนำมาตัดเป็นท่อน ถากปลายด้านหนึ่งให้แหลมเพื่อใช้ตั้งในดิน พร้อมกับชาวบ้านอีกกลุ่มจะช่วยกันแช่ข้าวเหนียว ผสมกับถั่วดำ แล้วนำมากรอกใส่กระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ เสร็จแล้วนำไปตั้งเรียงแถว ค่อยๆหยอดน้ำกะทิที่ปรุงใส่เกลือน้ำตาลมาเรียบร้อย เมื่อเรียงกะบอกข้าวหลามจนสุดแถว จึงเริ่มก่อไฟให้ห่างจากตัวกะบอกข้าวหลาม ต้องคอยเขี่ยไฟตลอดเวลาไม่ไห้ใหม้กระบอกข้าวหลาม รอจนสุกก็ใช้ได้

ชาวบ้านจะนำข้าวหลามที่ช่วยกันเผา มาถวายพระที่ได้นิมนต์มาฉันในตอนเช้า ข้าวหลามที่เหลือจากทำบุญแล้วก็แจกจ่ายให้นำกลับไปกินกันทุกบ้าน แต่นอกจากจะมีข้าวหลามในงานทำบุญข้าวใหม่แล้ว ยังมีอาหารคาวหวานอื่นๆที่แทบจะห่างหายไม่เป็นที่รู้จัก ให้ได้กินกันอีกหลายเมนู โดยเฉพาะแกงบอน ที่ต้องใช้ทั้งปลาช่อนตัวใหญ่ และบอนซึ่งคนทำไม่เป็นก็จะคันทันที แต่ที่นี่ เป็นแม่ครัวที่มีอายุใกล้หลักร้อย ความชำนาญและเคล็ดลับจึงมีมากมาย ตั้งแต่การปลอก ไปจนถึงการตำน้ำพริกแกง กันเลยทีเดียว
นอกจากนี้ การเผาข้าวหลามทำบุญข้าวใหม่เดือนสาม ยังไม่ได้ทำแค่เพียงหมู่เดียว หรือที่เดียวเท่านั้น ชาวบ้านในทุกหมู่บ้าน ของตำบลตาขัน และตำบลอื่นๆ ยังได้นัดกันเผาข้าวหลาม ทำบุญกันอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงเดือนสามนี้อีกด้วย – 003




