#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2619803

3 ก.พ. 2566 02:49 น.
- ข่าว
- ต่างประเทศ
- ไทยรัฐออนไลน์
สหรัฐฯ ปิดดีล ส่งทหารประจำการฐานทัพฟิลิปปินส์เพิ่ม หวังคานอำนาจจีน
ฟิลิปปินส์ตกลงให้สหรัฐฯ ส่งกองทัพมาประจำการที่ฐานทัพในแดนตากาล็อกได้เพิ่มอีก 4 แห่งแล้ว ท่ามกลางความตึงเครียดกับจีนที่เพิ่มสูงขึ้น
เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 2 ก.พ. 2566 นายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ แถลงว่า ประธานาธิบดี เฟอร์ดินานด์ มาร์กอส แห่งฟิลิปปินส์ ตกลงอนุญาตให้ทหารอเมริกันสามารถเข้าประจำการที่ฐานทัพของฟิลิปปินส์ได้เพิ่มอีก 4 แห่งแล้ว เพื่อขยายการมีอยู่ของทหารสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้เพื่อรับประกันเสถียรภาพ และเพิ่มการทำงานร่วมกันของพันธมิตรในภูมิภาค
ภายใต้ข้อตกลงใหม่ ซึ่งประกาศโดยนายออสตินกับนายการ์ลิโต กัลเวซ จูเนียร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมฟิลิปปินส์ที่ แคมป์ อากินัลโด สำนักงานใหญ่ของกองทัพในกรุงมะนิลา สหรัฐน จะได้รับอนุญาตให้เข้าถึงค่ายทหารของฟิลิปปินส์เพิ่มอีก 4 แห่ง มอบพื้นที่สำหรับประจำการกองทัพ, ฝึกฝนและจัดเก็บทรัพยากรกองทัพ ในขณะที่ทั้ง 2 ประเทศกำลังหาทางรับมือความตึงเครียดกับจีนที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
นักวิเคราะห์มองว่า ข้อตกลงใหม่นี้จะทำให้สหรัฐฯ เติมเต็มช่องว่างของกลุ่มพันธมิตรสหรัฐฯ ในเอเชียแปซิฟิก ที่ตอนเหนือมีเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น ขณะที่ตอนใต้มีออสเตรเลีย โดยฟิลิปปินส์เป็นจุดเชื่อมโยงที่ขาดหายไป และมีพรมแดนใกล้กับพื้นที่พิพาทสำคัญอย่าง ไต้หวันและทะเลจีนใต้
ขณะที่นายมาร์กอสระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า ตอนนี้กำลังเกิดสถานการณ์ซับซ้อนในแปซิฟิก และประเทศของเขาเชื่อถือในความเข้มแข็งของสหรัฐฯ และความเป็นหุ้นส่วนระหว่างทั้ง 2 ประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ความตึงเครียดบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งทางทหาร โดยไม่เอ่ยชื่อประเทศจีนแต่อย่างใด
ส่วนนายออสตินก็กล่าวไปในทางเดียวกัน ระบุว่าฟิลิปปินส์คือกุญแจและพันธมิตรสำคัญ และว่านโยบายโลกของสหรัฐฯ คือการเสริมสร้างความเข้มแข็งของความสัมพันธ์นี้ในทุกทางที่เป็นไปได้ ส่วนในด้านการกลาโหม สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกันกับฟิลิปปินส์ต่อไป เพื่อสร้างและพัฒนาขีดความสามารถของฟิลิปปินส์ให้ทันสมัย รวมถึงเพิ่มการทำงานร่วมกันของทั้งสองฝ่าย
ทั้งนี้ สหรัฐฯ ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงฐานทัพของฟิลิปปินส์อย่างจำกัดอยู่แล้ว 5 แห่ง ภายใต้ข้อตกลง ‘เพิ่มความร่วมมือทางกลาโหม’ (Enhanced Defence Cooperation Agreement) แต่ตามแถลงการณ์ของสหรัฐฯ การเพิ่มจำนวนและการขยายการเข้าถึงฐานทัพ จะทำให้สหรัฐฯ สามารถสนับสนุนด้านมนุษยธรรมและภัยพิบัติธรรมชาติในฟิลิปปินส์ได้เร็วขึ้น และสามารถตอบสนองต่อความท้าทายร่วมกันอื่นๆ ได้
ที่มา : foxnews