#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/712023

‘ตรีนุช’ลุยหน้าแก้หนี้ครู 5 ภูมิภาค Kick-off มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย จ.กาฬสินธุ์
วันเสาร์ ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 15.35 น.
“ตรีนุช” เดินหน้าแก้หนี้ครู 5 ภูมิภาค Kick-off มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย จ.กาฬสินธุ์ เจ้าหนี้-ลูกหนี้ร่วมไกล่เกลี่ยแน่นงาน
วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ห้องประชุมนิลปัทม์ โรงเรียนกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) เป็นประธานเปิดงาน
มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาทุกกลุ่มได้เข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาหนี้สินภายใต้เงื่อนไขพิเศษของสถาบันการเงิน และสหกรณ์ออมทรัพย์ครู โดยมี นายอัมพร พินะสา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมคณะผู้บริหาร ศธ. ผู้บริหารสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ครูและบุคลากรทางการศึกษา นายศุภศิษย์ กอเจริญยศ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ และสถาบันการเงินต่าง ๆเข้าร่วมงานกว่า 2,000 คน
นางสาวตรีนุช กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ต้องการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูอย่างจริงจังเต็มที่ เพราะการเป็นหนี้ ทำให้ครูและครอบครัวมีความเดือดร้อนต่อการดำเนินชีวิต ส่งผลกระทบต่อคุณภาพในการเรียนการสอนที่อาจทำได้ไม่เต็มที่ สำหรับภายในงานวันนี้มีกิจกรรมให้คำปรึกษาปรับโครงสร้างหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ ส่งเสริมการออมและการลงทุน และให้ความรู้ด้านการบริหารจัดการการเงิน จากหน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ กระทรวงการคลัง, กระทรวงยุติธรรม, กรมส่งเสริมสหกรณ์, ธนาคารแห่งประเทศไทย, สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ, บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ, สมาคมธนาคารไทย, สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ, ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์, ธนาคารกรุงไทย, กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา, สกสค, สคบศ. และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาฬสินธุ์และพื้นที่จังหวัดใกล้เคียงเข้าร่วมงาน
รมว.ศธ. กล่าวต่อว่า การจัดกิจกรรมในระดับภูมิภาคจะช่วยเปิดโอกาสให้ครูทุกพื้นที่ได้เข้าถึงมาตรการความช่วยเหลือการแก้ไขปัญหาหนี้สินภายใต้เงื่อนไขพิเศษของสถาบันการเงินและสหกรณ์ออมทรัพย์ครูมากยิ่งขึ้น “ในปีงบประมาณ 2566 กระทรวงศึกษาธิการ ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ในการกำหนดรูปแบบแนวทางในการแก้ไขหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษา โดยใช้สหกรณ์ออมทรัพย์ครูฯเป็นฐาน เปิดช่องทาง หรือกิจกรรมการเจรจาแก้ไขปัญหาหนี้ร่วมกันระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ลงถึงพื้นที่ ทั้งการไก่ล่เกลี้ย เจรจา ปรึกษา ปรับโครงสร้างหนี้ หาข้อยุติ การบังคับคดีและแก้ไขปัญหาหนี้สินร่วมกัน ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์พิเศษภายในงาน โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มและทิศทางที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ และผู้ที่ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี ซึ่งมีจำนวนกว่า 85,000 รายทั่วประเทศ จะเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องดำเนินการช่วยเหลือ ไกล่เกลี่ยปัญหาหนี้สินให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเร่งด่วน เพื่อให้ครูมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีเงินเดือนเพียงพอที่จะดำรงชีวิตอยู่ใด้ ซึ่งไม่เพียงเป็นการลดภาระหนี้สินครู แต่ยังส่งต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ที่ทำให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบ เกิดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจโดยรวมด้วย
“รัฐบาลและกระทรวงศึกษาฯตั้งใจที่จะช่วยลดภาระครูและบุคลากรทางการศึกษาที่เดือดร้อนเพื่อให้มีกำลังใจในการทำงานด้านการศึกษาต่อไป จึงได้จัดมหกรรมแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ ขึ้นใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ ศธ.ตั้งเป้าว่าจะสามารถแก้หนี้สินครูที่เป็นหนี้วิกฤติได้จำนวน 16,500 คน ยอดหนี้ 28,000 ล้านบาท จากยอดหนี้ที่ครูมีทั้งหมดกว่า 31,000 ล้านบาท จึงเปิดโอกาศให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาลงทะเบียนไกล่เกลี่ยเพื่อขอปรับโครงสร้างหนี้ การลดดอกเบี้ย หรือการยืดหนี้หรือผ่อนผันกรณีมีคดีความต่างๆโดยมีกระทรวงยุติธรรมเข้ามาร่วมโครงการด้วย และในวันนี้จากที่ได้สอบถามคุณครูที่มาเข้าร่วมโครงการฯ ครูก็ดีใจที่ศธ.จัดมหกรรมนี้ขึ้น” น.ส.ตรีนุช กล่าว
ขณะที่ นายสุทิน แก้วพนา รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึงภาพรวมของ “โครงการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better ife” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า ในครั้งนี้ว่า เป็นครั้งแรกของการนำร่องในที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดกาฬสินฯ รวมจังหวัดใกล้เคียง โดยมีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ กว่า 5,000 คน หนี้รวมกว่า 8,000 ล้านบาท การแก้ไขปัญหาหนี้ของ ศธ.ครั้งนี้ จะทำให้ครูทุกคนได้รับการดูแลช่วยเหลือแก้ไขปัญหาหนี้สินได้อย่างทั่วถึงและเป็นระบบ ส่งผลต่อคุณภาพการศึกษาและคุณภาพสังคม ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สำหรับ โครงการ มหกรรมการเงินเพื่อครูไทย “Unlock a better life” สร้างโอกาสใหม่ เพื่อชีวิตครูไทยที่ดีกว่า จัดขึ้นทั้งหมด 4 ภูมิภาค 5 จังหวัด ได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ภาคตะวันออก, ภาคเหนือ, ภาคใต้ โดยครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 18-19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ หอประชุมโรงเรียนกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ครั้งที่ 2 วันที่ 4-5 มีนาคม 2566 ณ หอประชุมราชภัฏอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี ครั้งที่ 3 วันที่ 11-12 มีนาคม 2566 ณ จังหวัดสระแก้ว ครั้งที่ 4 วันที่ 18-19 มีนาคม 2566 ณ หอประชุมชิรโชติ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม จังหวัดพิษณุโลก ครั้งที่ 5 วันที่ 25-26 มีนาคม 2566 ณ หอประชุมสุราษฎธานีวชิราลงกรณ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำหรับข้าราชการครู ฯและผู้ที่สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมงานผ่านระบบออนไลน์ได้ ทาง unlock.moe.go.th โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย


















