#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/lady/712034

ภูมิบ้าน ภูมิเมือง : ‘พระนารายณ์ราชนิเวศน์’ แผ่นดินถิ่นประวัติศาสตร์ลพบุรี
วันอาทิตย์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.
ขบวนช้างเข้าวัง
ด้วย พระนารายณ์ราชนิเวศน์ หรือ วังนารายณ์ของจังหวัดลพบุรีนั้นเป็นโบราณสถานสำคัญคู่บ้านคู่เมืองชาวลพบุรี แม้ว่าประวัติศาสตร์ก่อนนั้น ประวัติเมืองนี้ได้เกิดขึ้นแล้วมีนามว่า “ลวะปุระ” หรือ เมืองละโว้ในสมัยขอมที่มีอำนาจอยู่ทางแถบลุ่มน้ำลพบุรี เจ้าพระยา ป่าสัก ซึ่งแผ่อิทธิพลขึ้นไปจนถึงทางเหนือ โดย พระนางจามเทวี ขึ้นไปครองเมืองหริภุญไชย แต่ด้วยเหตุที่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ นั้นได้ใช้ทำเลของเมืองละโว้ เดิมมาสถาปนาเมืองขึ้นใหม่เป็นราชธานีสำรองแทนกรุงศรีอยุธยาซึ่งพระองค์ใช้เวลาส่วนใหญ่ประทับอยู่ที่พระนารายณ์ราชนิเวศน์จนถึงกาลสวรรคต ดังนั้นการจัดให้มีงานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราชขึ้นจึงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะโดยพัฒนาจากงานเดิมเมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ ที่จัดงานเฉลิมฉลองประจำปีภายในพระนารายณ์ราชนิเวศน์ ในช่วงต้นฤดูหนาวหลังฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อให้ชาวบ้านได้พักผ่อนเที่ยวชมมหรสพในวังนารายณ์ ที่รู้จักกันในชื่อ “งานในวัง” ต่อมา พ.ศ.๒๕๐๙ ได้เปลี่ยนชื่องานเป็น “นารายณ์รำลึก” จนหลังสุด พ.ศ. ๒๕๒๒ ชมรมอนุรักษ์โบราณสถานฯจังหวัดลพบุรีได้เสนอและร่วมเปลี่ยนชื่องานเป็น “งานแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์” เริ่มในสมัย นายเชาน์วัศสุดลาภา เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี ทำให้ขอบเขตของงานได้ร่วมกันสร้างงานกันหลายฝ่ายทั้งหน่วยราชการของจังหวัด โดยมี กรมศิลปากรองค์การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ร่วมจนเป็นงานประจำปีของเมืองมาจนถึงทุกวันนี้

การแสดงในวังนารายณ์
จากภาพเดิมที่จัดงานในวังนารายณ์ที่มีการออกร้านขายของโดยชาวบ้าน และการแสดงพื้นบ้านต่างๆ เหมือนงานวัด ซึ่งมีแต่ขายของกิน เช่น ขนมไทย ถั่วต้ม อ้อยควั่นทำเป็นรูปดอกไม้ ปลาเห็ดร้อยเป็นพวงด้วยตอก ขนมตังเมน้ำตาลปั้นรูปสัตว์ชนิดต่างๆ และโรตีสายไหม เป็นต้น ส่วนการแสดงพื้นบ้านในบริเวณวังนารายณ์นั้นมีลิเกบริเวณตึกพระเจ้าเหา มวยคาดเชือกอยู่ใต้ต้นก้ามปู แถวสิบสองท้องพระคลังและชิงช้าสวรรค์จัด ณ บริเวณโรงช้างหลวงและแต่งตัวเที่ยวตามแบบสมัยนิยม แล้วก็มานุ่งซิ่นนุ่งโจง ใส่เสื้อคอกระเช้าเดินเที่ยว ส่วนเด็กไว้แกละโก๊ะ จุก เปีย ก็ถูกฟื้นฟูกันยุคหลังมาใส่เสื้อคอกลมลายดอก จนมาได้กระแสนิยมจากละครย้อนยุคจึงทำให้การแต่งกายชุดไทยอลังการแบบสมัยอยุธยากันเต็มวังสมเป้าหมายของงาน “นุ่งโจงห่มสไบ แต่งไทย ทั้งเมือง” ด้วย มีการจัดตกแต่งนิรมิตวังนารายณ์ให้ถ่ายภาพกันทั่วงาน

ศ.ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ วิทยากรวิชาการ
ปีนี้วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้เป็นประธานพิธีเปิดงานพร้อมด้วย นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี พร้อมคณะผู้บริหาร ผู้ร่วมกันจัดกิจกรรมสำคัญให้เกิดขึ้นมากมายในหลายพื้นที่ ปีนี้มีการจัดเสวนาทางวิชาการความรู้ด้านประวัติศาสตร์สมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การจัดนิทรรศการเทิดพระเกียรติสมเด็จพระนารายณ์มหาราช การจัดพิธีและรำบวงสรวงสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ในวันพระราชสมภพวันที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ การแสดงประวัติศาสตร์จินตนาการ ณ สถานที่จริง การนฤมิตสวนนารายณ์ในเขตพระราชฐานชั้นใน กิจกรรมที่บ้านหลวงรับราชทูต กิจกรรมสวดมนต์ยามเย็นและการประชันกลอนสด ที่โบราณสถานวัดปืนกิจกรรมแต่งไทยไหว้พระเสริมบารมี ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ การจัดตลาดย้อนยุคการแสดงละครลิง การแสดงหมากรุกคนลานวัฒนธรรม ลานวิถีไทย และการแสดงบนเวทีกลางตลอด ๑๐ คืน ๑๐-๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๖ ทำให้ทุกคืนของงานจึงสวยงามไปด้วยชุดไทยนุ่งโจง ที่พากันแต่งกายสมัยอยุธยา-รัตนโกสินทร์กันเต็มวังนารายณ์ สร้างสีสันให้บรรยากาศงานนั้นมีเสน่ห์และสาระความรู้อย่างเต็มอิ่มด้วยตลาดย้อนยุค ที่น่าสนใจมากพิเศษคือการนวดจับเส้นแบบเก่าของ อาจารย์หวนสังฆพรหมณ์ เจ้าของตำรับนวดจับเส้นศาสตร์ที่รับการถ่ายทอดมาตำราโบราณ จนเป็นภูมิปัญญาหนึ่งเดียวของเมืองลพบุรีนั้น ได้นำศิษย์มาบริการคนเที่ยวงานฟรี สำหรับคนโชคดีมีบุญก็จะพบศาสตร์โบราณตำรับนี้
นายเชาวน์วัศ สุดลาภา ผู้เริ่มงาน
อิทธิพล คุณปลิ้ม รมว.วัฒนธรรมและคณะ
พิธีเปิดงานแผ่นดินพระนารายณ์
ขบวนทหารราชสำนักพระนารายณ์
ขบวนเสด็จพระนารายณ์
ขบวนเสด็จของพระนารายณ์
ขนมไทยสมัยพระนารายณ์
นวดจับเส้นศาสตร์อาจารย์หวน
แต่งกายสมัยอยุธยา
ตลาดย้อนยุคอยุธยา