#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/likesara/712097

สกู๊ปพิเศษ : สางปมบุหรี่ไฟฟ้า…หลากปัญหารอวันแก้
วันอาทิตย์ ที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.
ที่จริงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้ามีประเด็นให้วิวาทะกันมาพอสมควรแต่มาดังเป็นพลุแตกอีกครั้งก็เพราะดาราไต้หวัน ถูกตำรวจสน.ห้วยขวางที่ตั้งด่านตรวจจัดให้เธอถ่ายรูปคู่กับบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งๆ ที่ไม่ได้เป็นคนซื้อหรือนำเข้ามาจนนำไปสู่เรื่องราวตำรวจเตารีดบานปลายเสื่อมเสียวงการตำรวจไปแล้ว
มูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ (มสส.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมโฟกัสกรุ๊ปเรื่อง “สางปม บุหรี่ไฟฟ้า…หลากปัญหา รอวันแก้” เมื่อเร็วๆ นี้ มีสื่ออาวุโสผู้ลึกซึ้งด้านงานสุขภาวะอย่าง วิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ สื่อมวลชนอาวุโส ดำเนินรายการ
ผู้คร่ำหวอดในการรณรงค์เรื่องบุหรี่อย่าง นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ชี้ว่าบนโลกใบนี้ 32 ประเทศ เป็นอย่างน้อยมีกฎหมายห้ามเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า สะท้อนให้เห็นว่าทั่วโลกตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้ามีข้อมูลชัดเจนว่าเด็กทั่วโลกสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทั้งเด็กมัธยมปลายอเมริกัน นิวซีแลนด์ รวมทั้งเด็กมัธยมต้นของไทย อายุ 13-15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มจาก 3.3% ในปี 2558 เป็น 8.1% ในปี 2564 บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดเพราะละอองลอยมีสารโลหะหนักหลายชนิด เช่นเหล็ก ทองแดง นิกเกิล สังกะสี โครเมียม และตะกั่ว รวมทั้งสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสมองเด็กและวัยรุ่น
“บุหรี่ไฟฟ้าหลายยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับสูบบุหรี่ 20 มวนและบางยี่ห้อมีสารนิโคตินเท่ากับการสูบบุหรี่ถึง 50 มวน”หมอประกิตย้ำข้อมูลที่น่าตกใจ
ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ยังพูดถึงข้ออ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่มวนว่าไม่เป็นความจริง เรื่องนี้องค์การอนามัยโลก ยังไม่มีข้อสรุป ส่วนองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกายืนยันว่าไม่เคยรับรองให้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ เช่นเดียวกับกระทรวงสาธารณสุขออสเตรเลีย สอดคล้องกับงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2564-2565 ไม่มีข้อสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ได้ มิหนำซ้ำยังพบว่า 60% ของคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่กลับมาสูบบุหรี่ชนิดมวนใหม่ ปัญหาใหญ่สุดของบุหรี่ไฟฟ้าคือทำให้เด็กที่ไม่เคยสูบบุหรี่เข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าและเด็กที่เริ่มต้นสูบบุหรี่ไฟฟ้าเสี่ยงที่จะสูบบุหรี่ธรรมดามากกว่าเด็กที่ไม่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 2-4 เท่า ส่วนคนที่เลิกสูบบุหรี่ไปแล้วก็กลับมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทน อยากให้สื่อมวลชนช่วยกันเผยแพร่ความรู้ที่ถูกต้องผ่านการสื่อสารรูปแบบใหม่ๆ ที่เข้าถึงเด็กและเยาวชนอย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่เสียงสะท้อนจากคนบังคับใช้กฎหมายอย่างนายเลิศศักดิ์ รักธรรม ผู้อำนวยการส่วนบังคับคดี หัวหน้าชุดปฏิบัติการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค บอกว่ามีกฎหมายหลายฉบับเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น คำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ 9/2558 ออกตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน600,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ยังมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่ และบารากู่ไฟฟ้า หรือบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ. 2557 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 244 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 246 วรรคหนึ่ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
แต่ปัญหาใหญ่ที่สคบ.สะท้อนก็คือมีการลักลอบนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าทั้งทางบก ทางน้ำและทางอากาศจากรายใหญ่ประมาณ 10 ราย แล้วนำมากระจายขายทั่วประเทศทั้งออฟไลน์และออนไลน์ซึ่งเด็กและเยาวชนเข้าถึงได้ ขณะนี้ได้ส่งข้อมูลไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิด เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ให้บังคับใช้กฎหมายถึง 300 website ส่วนในกทม. สคบ.สนธิกำลังจับกุมผู้ขายในกทม. ที่ตลาดคลองถมถึง 13 ครั้ง หลังจากนั้นก็กลับมาขยายอีก ถ้าจะจัดการปัญหานี้จะต้องแก้ที่ต้นน้ำคือรายใหญ่ที่ลักลอบนำเข้าซึ่งตอนนี้ได้คุยกันหลายหน่วยงานแล้วว่าจะนำกฎหมายฟอกเงินเงินมาใช้บังคับ
“สคบ.เคยได้รับการร้องเรียนจากผู้ปกครองหลายคนว่าพบแท่งรูปร่างแปลกๆ ในกระเป๋านักเรียนของลูกและพบว่าเป็นบุหรี่ไฟฟ้า” ผอ.เลิศศักดิ์เผยข้อมูลชวนสะดุ้งสำหรับผู้ปกครอง
วันนั้นสื่อมวลชนได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอทางแก้ปัญหาไว้อย่างน่าสนใจทั้งการสื่อสารข้อมูล องค์ความรู้ต่างๆที่แสดงให้เห็นพิษภัยของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากกว่านี้ เพราะเปิดเข้าไปดูที่ไหนก็มักจะเห็นแต่ด้านดีมากกว่าด้านลบ เช่น สูบแล้วดี เท่ ช่วยลดหรือเลิกบุหรี่แบบมวนได้ หรือกลยุทธ์ในการแก้ปัญหาให้ได้ผลไปถึงผู้มีอำนาจหรือฝ่ายการเมืองก็อาจจะต้องอาศัยคนที่ส่งเสียงดังแล้วคนฟังอย่าง คุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายต้องช่วยส่งสัญญาณไปยังพรรคการเมืองและนักการเมืองที่กำลังหาเสียงกันอยู่ในขณะนี้ว่าเราไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า กัญชาเสรี หรือกาสิโนถูกกฎหมาย สุดท้าย นายอภิวัชร์ เกตุทัต ประธานมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะสรุปว่า ฟังทุกฝ่ายแล้วจำเป็นต้องจับมือกันเป็นเครือข่ายทั้งการให้ข้อมูลกับสังคมและร่วมกันขับเคลื่อนผลักดัน มาตรการและนโยบายต่อไป
จบการประชุมวันนั้นเลยนึกถึง นายพิสิฐ ลี้อาธรรม สส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ พูดไว้เมื่อ 3 พ.ย.2565 ว่าบริษัทบุหรี่ไฟฟ้าได้แฝงตัวเข้ามาในรัฐสภาและกรรมาธิการถึงขนาดเสนอให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าเสรีแล้ว
หมอประกิต,สคบ. และอีกหลายหน่วยงานคงต้องออกแรงเหนื่อยกันอีกหลายยกล่ะคราวนี้