#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/likesara/712301

รวมกลุ่มนำเยาวชนวาดภาพสตรีทอาร์ทบนฝาผนัง ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
วันจันทร์ ที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 11.55 น.
นักธุรกิจสาวเมืองตรัง จับมือภาคเอกชน ปิ๊งแนวคิดจัดกิจกรรม ‘อาสา พาศิลป์’ นำนักเรียนระดับชั้นประถม-มัธยม วาดภาพสีน้ำบนฝาผนัง หรือสตรีทอาร์ท ภายใต้หัวข้อ ‘วัฒนธรรมสร้างสรรค์ วิถีตรังสู่สากล’ โดยมีศิลปินและนักศิลปะชื่อดังเข้าร่วมจำนวนมาก หวังให้เอกชนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ส่งเสริมให้เยาวชนมีความคิดสร้างสรรค์ ห่างไกลโซเซียล และนำไปต่อยอดความคิดได้ในอนาคต
วันนี้ (20 ก.พ.66) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กำแพงร้านบะหมี่โกวอน ต.โคกหล่อ อ.เมือง จ.ตรัง น.ส.ชนรดี ปิยภาณีกุล หรือเชอรี่ อายุ 31 ปี นักธุรกิจสาวชาว จ.ตรัง ได้ใช้สถานที่ดังกล่าว จัดกิจกรรมภายใต้ชื่อโครงการ “อาสา พาศิลป์” ครั้งที่ 1 โดยการนำนักเรียนระดับประถมศึกษาตอนปลาย ป.4-6 และระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ม.1-3 จำนวน 10 โรงเรียนในพื้นที่ของ จ.ตรัง มาวาดภาพระบายสีบนกำแพงโดยมีหัวข้อว่า “วัฒนธรรมสร้างสรรค์ วิถีตรังสู่สากล”
โดยมีคณะกรรมการตัดสินคืออาจารย์สุวัฒน์ วรรณมณี ศิลปินวาดภาพเหมือน อาจารย์วิสุทธิ์ ขาวเนียม นักเขียน, นักกวี, นักดนตรี และยังเป็นมือรางวัลชนะเลิศบทกวีเซเว่นบุ๊คอวอร์ด และรางวัลบทกวีชนะเลิศนายอินทร์อะวอร์ด และ น.ส.ปารวี โมรา เจ้าของรางวัล “ผู้เสียสละเพื่อสังคม” , นักเดินทาง , ครูจิตอาสา มาเป็นคณะกรรมกรรมการฯ รวมไปถึงมีศิลปิน นักศิลปะอีกจำนวนมากมาเข้ามาร่วมในกิจกรรมครั้งนี้ด้วย โดยมีการสนับสนุนจากภาคเอกชนอีกจำนวนหนึ่ง

สำหรับภาพที่นักเรียนนำมาวาดส่วนใหญ่จะอยู่ภายใต้หัวข้อฯ ซึ่งนักเรียนต่างระดมความคิดกันออกแบบขึ้นมาเอง ต่างก็มีภาพ รถตุ๊กตุ๊กหัวกบ หอนาฬิกาตรัง ขนมเค้กเมืองตรัง ต้นยางพารา พะยูน สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ หนังตะลุง มโนราห์ และรูปพระยารัษฎานุประดิษฐ์มหิศรภักดี (คอซิมบี๊ ณ ระนอง)ฯลฯ อดีตเจ้าเมืองตรัง และบิดาแห่งยางพาราไทย ก่อนเด็กนักเรียนจะนำมาประกอบกับภาพต่างๆด้วยสีน้ำเพื่อให้เกิดเป็นเรื่องราวและสีสันในภาพนั้นๆ ภายใต้หัวข้อ “วัฒนธรรมสร้างสรรค์ วิถีตรังสู่สากล”
น.ส.ชนรดี หรือเชอรี่ กล่าวว่า จริงๆก่อนจะมาเป็นกิจกรรมในครั้งนี้ เนื่องจากเชอรี่เพิ่งจะย้ายมาอยู่ที่ จ.ตรัง ได้ประมาณ 5 ปี เราจึงอยากจะเห็นมุมมองและหลายๆทัศนะของเด็กๆ ว่าวัฒนธรรมต่างๆของ จ.ตรัง ที่ละเอียดอ่อนมากกว่าวัฒนธรรม รวมไปถึงวิถีของความเป็นตรัง เด็กๆเขามองยังไงและสามารถนำไปสู่สากลได้อย่างไร ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้เป็นการจัดโดยภาคเอกชนทั้งหมด

เชอรี่ กล่าวอีกว่า จริงๆงานนี้ไม่ได้ตั้งเป้าอะไรไว้เลย เพราะกิจกรรมพวกนี้มันเป็นการทำเพื่อเป็นการให้ ถ้าเราทำเพื่อหวังเอา มันก็จะมีความคาดหวัง แต่ว่าเมื่อไรที่เราทำให้เราก็ไม่ได้รู้สึกเลยว่าเราจะต้องได้อะไรกลับมา ไม่มีในเรื่องของคำว่ากำไรขาดทุนเลย จุดประสงค์และความคาดหวังเดียวที่ลงมือทำเพียงเพราะว่าเอกชนเรามีเยอะมาก แต่เอกชนที่เอาเวลาส่วนตัวมาให้สังคมยังมีน้อยมาก งานนี้จริงๆแล้วใช้เวลาเพียงแค่ 7 วัน เพราะฉะนั้น 7 วัน มันสามารถเปลี่ยนน้องๆทุกคนให้เขามีกำลังใจและก็สามารถเอากิจกรรมนี้ไปเป็นแรงผลักดัน อย่างน้อยก็ให้ได้เรียนจบในระดับชั้นปริญญาตรี ก็ถือเป็นความยิ่งใหญ่ที่รู้สึกว่าสำเร็จแล้วในการจัดงานในครั้งนี้
เชอรี่ กล่าวต่อไปว่า ในฐานะที่เป็นผู้จัดกิจกรรมนี้ก็รู้สึกดีใจ เพราะว่าด้วยความที่เราไม่ได้คาดหวังอะไร เมื่อได้มาเห็นน้องๆเขามีความมั่นใจมาก มีความกล้าแสดงออก แต่สิ่งที่เราขาดจากเยาวชนในปัจจุบันนี้คือความคิดสร้างสรรค์ เรามัวแต่ใช้เฟสบุ๊ก สื่อออนไลน์ จนเวลาตรงนั้นมันทำให้ความคิดสร้างสรรค์บั่นทอนลงไปมาก คิดว่ากิจกรรมนี้จึงเป็นการส่งเสริมให้เด็กได้เริ่มมีความกล้าแสดงออก ลงมือทำว่าจะไปประกอบอาชีพอะไร และในอนาคตเขาจะได้จดจำความรู้สึกและความทรงจำในกิจกรรมครั้งนี้ และด้วยความที่กิจกรรมนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 1 ในอนาคตข้างหน้าก็คิดและมีความตั้งใจไว้ว่าน่าจะมีครั้งที่ 2 และก็อยากให้เอกชนหลายๆฝ่ายมาร่วมกันเป็นกิจกรรมที่น่าจะเติมโตได้มากยิ่งขึ้น

เชอรี่ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส่วนแรงบันดาลใจที่ได้จัดขึ้นมาจริงๆแล้วก็เริ่มต้นจากที่ตลอดระยะเวลา 4-5 ปีที่ผ่านมา ที่เชอรี่ได้ทำต่อเนื่องมาตลอดคือเชอรี่ได้หาชาวต่างชาติที่เป็นจิตอาสามาช่วยสอนภาษาอังกฤษให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียนขนาดเล็กภายในเขตพื้นที่ของ อ.ปะเหลียน จ.ตรัง ซึ่งชาวต่างชาติที่มาเป็นจิตอาสาช่วยสอนทุกท่านคือมาด้วยความเป็นจิตอาสา ที่อยากจะมาสอนภาษให้กับเด็กนักเรียนที่เขาไม่มีโอกาส และเนื่องจากเชอรี่ทำคนเดียวมาตลอด และด้วยกำลังของเราคนเดียว ก็เลยไม่ได้เป็นภาพประจักษ์มาก
แต่ถ้าคุณครูภายในเขตพื้นที่ อ.ปะเหลียนจะทราบกันดีว่าเชอรี่ส่งคุณครูจิตอาสาไปให้ตลอด แต่ด้วยความที่เราต้องทำงานตั้งแต่วันจันทร์ ถึง วันเสาร์ เราก็จะเหลือว่างเพียงวันอาทิตย์แค่วันเดียว แต่ในช่วงเวลาที่เราว่างตรงนั้น เราก็จะทำให้กับสังคม เพื่อจะได้ให้เห็นว่าเรายังมีภาคเอกชนที่เขายังสนับสนุน และอยากให้ทุกคนมองว่ามีโอกาส ถึงแม้ว่ารัฐบาลจะไม่มีงบประมาณในการจ้างครูต่างชาติ แต่เราก็สามารถจัดตรงนี้มาให้ได้ เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ

ขณะที่ น.ส.ณิชาภัทร ภิรมย์ทอง หรือน้องมีน อายุ 15 ปี นักเรียนระดับชั้น ม.3 โรงเรียนมัธยมวัดควนวิเศษมูลนิธิ กล่าวว่า วันนี้มีความรู้สึกว่าได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่ได้ออกมาทำกิจกรรมนอกสถานที่ ได้มีความสัมพันธ์กับเพื่อนต่างสถาบันที่ได้มาพูดคุยและแลกเปลี่ยนมุมมองของศิลปะกัน ซึ่งภาพที่วาดขึ้นก็ได้คิดสรรค์ และระดมความคิดกันขึ้นมาเองหลังจากได้รับหัวข้อไป ซึ่งโดยส่วนตัวหนูโดยปกติก็จะรำมโนราห์ด้วย ก็เลยนำวัฒนธรรมของ จ.ตรัง ตรงนี้มาถ่ายทอดออกเป็นภาพมโนราห์ ประกอบไปกับภาพของหาดปากเมง ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวของ จ.ตรัง ขนมเค้กเมืองตรัง หมูย่างเมืองตรัง พะยูน และงานวิวาห์ใต้สมุทร
“อยากให้กิจกรรมนี้เกิดขึ้นบ่อยๆ ทำให้ได้ฝึกทักษะศิลปะเพิ่มเติม ส่วนตัวเองชื่นชอบในศิลปะ และเคยเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งขันวอดภาพทุกปี อนาคตก็มีเป้าหมายชัดเจนว่าอยากจะเดินในทางศิลปะ ซึ่งอาจจะเป็นครูศิลปะหรือจิตกรก็ขึ้นอยู่กับอนาคต และส่วนตัวมองว่าคนรุ่นใหม่ ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับศิลปะ หรือมองว่าศิลปะไม่ค่อยมีความสำคัญ ก็อยากให้ทุกคนลองเปิดใจฝึกงานศิลปะดู เพราะไม่ได้ยาก และเป็นสิ่งที่มีประโยชน์และเยียวยาจิตใจของคนได้” – 003










