#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2635158

21 ก.พ. 2566 13:17 น.
- ข่าว
- ต่างประเทศ
- ไทยรัฐออนไลน์
ญี่ปุ่นเล็งขยับ “อายุยินยอมมีเพศสัมพันธ์” จาก 13 เป็น 16 ปี หวังลดอาชญากรรมทางเพศ
กระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่นเสนอให้เพิ่มอายุความยินยอมมีเพศสัมพันธ์ตามกฎหมายจาก 13 เป็น 16 ปี ภายหลังการตัดสินให้ผู้กระทำผิดในคดีข่มขืนพ้นโทษหลายครั้งในปี 2562 ก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก
คณะกรรมการของกระทรวงยุติธรรมญี่ปุ่น เสนอให้เพิ่มอายุความยินยอมมีเพศสัมพันธ์ตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันต่ำที่สุดในโลกเพียง 13 ปี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการยกเครื่องกฎหมายอาชญากรรมทางเพศครั้งใหญ่ และเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปที่จะชี้แจงข้อกำหนดการดำเนินคดีข่มขืนและทำให้พฤติกรรมการ “แอบถ่าย” เป็นอาชญากรรม
อายุความยินยอมมีเพศสัมพันธ์ตามกฎหมายของญี่ปุ่น ซึ่งต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ ยังคงไม่มีการแก้ไขนับตั้งแต่มีการประกาศใช้ในปี 2450 โดยอายุความยินยอมมีเพศสัมพันธ์ตามกฎหมายในอังกฤษและเกาหลีใต้อยู่ที่ 16 ปี ฝรั่งเศส 15 ปี และ 14 ปีในเยอรมนีและจีน
ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน เด็กอายุอย่างน้อย 13 ปี ถือว่าสามารถให้การยินยอมได้ ซึ่งหมายความว่ากิจกรรมทางเพศกับเด็ก จะไม่ถือเป็นการข่มขืนตามกฎหมาย ซึ่งหมายความว่าแม้แต่วัยรุ่นที่ตกเป็นเหยื่อการข่มขืน ก็ต้องเผชิญกับมาตรฐานในการดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดเช่นเดียวกับผู้ใหญ่
ในทางปฏิบัติ กฎหมายระดับภูมิภาคที่ห้ามการกระทำอนาจารกับผู้เยาว์ บางครั้งถูกมองว่าเป็นการเพิ่มอายุที่ยินยอมเป็น 18 ปีในหลายพื้นที่ของญี่ปุ่นอย่างได้ผล นอกจากนั้น คู่รักวัยรุ่นที่มีอายุห่างกันไม่เกิน 5 ปี จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องถูกฟ้องร้อง หากทั้งคู่มีอายุมากกว่า 13 ปี
ญี่ปุ่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเกี่ยวกับความผิดทางเพศครั้งล่าสุดในปี 2560 ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งแรกในรอบกว่าศตวรรษ แต่นักเคลื่อนไหวกล่าวว่า การปฏิรูปดังกล่าวยังไม่เพียงพอ และในปี 2562 การพ้นผิดหลายครั้งของผู้ต้องหาในคดีข่มขืนได้ก่อให้เกิดการชุมนุมทั่วประเทศ
บทบัญญัติที่เป็นข้อถกเถียงมากที่สุดในกฎหมายที่มีอยู่คือ ข้อกำหนดที่อัยการต้องพิสูจน์ว่า ผู้กระทำความผิดข่มขืนใช้ “ความรุนแรงและการข่มขู่” เพื่อทำให้เหยื่อไร้ความสามารถ
นักวิจารณ์แย้งว่า ข้อกำหนดนี้กล่าวโทษเหยื่ออย่างได้ผลว่าไม่ขัดขืนเพียงพอ และบอกว่าผู้รอดชีวิตอาจกลัวจนพูดไม่ออก หรือขยับไม่ได้ระหว่างถูกทำร้ายหรือยอมจำนน เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บเพิ่มเติม ด้านคณะกรรมการของกระทรวงยุติธรรมไม่ได้แจกแจงข้อความดังกล่าว แต่ชี้แจงว่าครอบคลุมถึงการใช้ยาเสพติด การจับเหยื่อโดยไม่ระวังตัว และการควบคุมทางจิตใจ
กลุ่มผู้สนับสนุนด้านสิทธิมนุษยชน “ฮิวแมน ไรท์ นาว” (Human Rights Now) กล่าวในแถลงการณ์ว่า นักเคลื่อนไหวยินดีกับความเคลื่อนไหวนี้ในฐานะการก้าวไปข้างหน้าอีกขั้น แม้ว่ามันจะยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายการข่มขืนระหว่างประเทศก็ตาม พร้อมเสนอว่าญี่ปุ่นควรนิยามใหม่ว่า “อาชญากรรมการข่มขืนเป็นการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้รับความยินยอม”
คณะผู้พิจารณายังได้เสนอความผิดใหม่ ซึ่งครอบคลุมถึงการแอบถ่ายบุคคลเพื่อจุดประสงค์ทางเพศ และขยายระยะเวลาของอายุความในเรื่องความรุนแรงทางเพศต่อผู้เยาว์ เพื่อให้พวกเขามีเวลามากขึ้นในการดำเนินการ.