#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/likesara/712626

ปชส.บุรีรัมย์เตรียมจัด’มหกรรมการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสานใต้’กระตุ้นท่องเที่ยว
วันอังคาร ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 16.36 น.
สำนักงานประชาสัมพันธ์บุรีรัมย์ จัดสัมมนาสื่อมวลชนทุกแขนง พร้อมแถลงข่าวการจัดงาน “มหกรรมการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสานใต้” กระตุ้นท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจบุรีรัมย์
วันที่ 21 ก.พ.66 เมื่อเวลา 09.30 น. สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ จัดสัมมนาสื่อมวลชน และเครือข่ายการประชาสัมพันธ์ จ.บุรีรัมย์ ตามโครงการประชาสัมพันธ์ยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดและนโยบายจังหวัดบุรีรัมย์ ประจำปี 2566 โดยมีนายปิยะ ปิจนำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นประธานเปิดการสัมมนา มีนายพรเกียรติ พัวนิรันดร์กุล ประชาสัมพันธ์จังหวัดบุรีรัมย์ นางแสงเพชร ลำไธสง วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ นางรัชนี สาระวิถี ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ สื่อมวลชนทุกแขนง และเครือข่ายประชาสัมพันธ์ ร่วมการสัมมนา ที่ห้องประชุม โรงแรม เดอศิตา ปริ้นเซส อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
.jpg)
พร้อมกันนี้ยังได้จัดแถลงข่าว การจัดงาน “มหกรรมการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสานใต้” ท่องเที่ยววิถีวัฒนธรรมชุมชนขับเคลื่อนเศรษฐกิจบุรีรัมย์ เพื่อสื่อมวลชนและเครือข่ายประชาสัมพันธ์ จะได้นำข้อมูล ข่าวสาร ที่เกี่ยวข้อง ถูกต้อง ชัดเจน จากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ไปเผยแพร่ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ และเข้าใจแก่พี่น้องประชาชนในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ก่อให้เกิดความร่วมมือ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมของจังหวัด ทั้งยังเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ระหว่างส่วนราชการ กับเครือข่ายสื่อมวลชน ด้วย
นายปิยะ ปิจนำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า จังหวัดบุรีรัมย์มีแนวทางนโยบายการขับเคลื่อนจังหวัดบุรีรัมย์ เพื่อพัฒนาศักยภาพเป็น “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวอารยธรรมขอมและกีฬามาตรฐานโลก เพิ่มขีดความสามารถในการผลิตสินค้าการเกษตรและอาหารปลอดภัยอย่างยั่งยืน ส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากไหม รวมถึงส่งเสริมการค้าชายแดนเพื่อการค้าและการลงทุน” หลายกิจกรรมที่จัดขึ้นในพื้นที่จังหวัด จะเชื่อมโยงไปยังการท่องเที่ยวของชุมชน ทำให้ชุมชนได้รับรายได้จากการขายสินค้า ของที่ระลึก การให้บริหารบ้านพักโฮมเสตย์ เช่น หมู่บ้านท่องเที่ยวโดยชุมชน หมู่บ้านสวายสอ หรือ หมู่บ้านนกกะเรียน ชิมอาหารพื้นบ้าน พร้อมเรียนรู้วัฒนธรรมชุมชน การจัดงาน “มหกรรมการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสานใต้” ขึ้น ถือว่าเป็นอีก 1 กิจกรรม ที่จะช่วยส่งเสริมสนับสนุนการท่องเที่ยว สร้างงานสร้างรายได้ให้เกิดขึ้นกับชุมชนในจังหวัดบุรีรัมย์
.jpg)
ด้านนางแสงเพชร ลำไธสง วัฒนธรรมจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวว่า การจัดงาน “มหกรรมการแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสานใต้” เพื่อก่อเกิดการส่งเสริมความเป็นไทย สร้างจิตสำนึก อัตลักษณ์ความเป็นไทย การเรียนรู้ด้านศิลปะ วัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีในท้องถิ่น และส่งเสริมการนำทุนทางวัฒนธรรม มาต่อยอดสร้างรายได้แก่ประชาชนในชุมชน พัฒนาเศรษฐกิจชุมชน กิจกรรมมีขึ้น ระหว่างวันที่ 24 – 25 กุมภาพันธ์ 2566 ณ ตลาดถนนคนเดินอ่างเก็บน้ำห้วยจระเข้มาก (ถนนเซราะแอง) ต.บ้านบัว อ.เมือง จ.บุรีรัมย์
กิจกรรมภายในงาน ประกอบด้วย การจัดแสดงศิลปะพื้นบ้านอีสานใต้ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดบุรีรัมย์ สุรินทร์ และนครราชสีมา เช่น กันตรึมอีสานใต้ แม่น้ำผึ้งเมืองสุรินทร์ การแสดง เพลงโคราช พ่อบุญสม สังข์สุข การแสดงหมอลำ แม่คำหมื่น ปราสาททอง และการแสดงหมอลำ จากชุมชนบ้านโนนเจริญ หมอลำรสรินทร์ ลำซิ่ง และเจรียงพื้นบ้านคณะภาคภูมิ พร้อมการสาธิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน
.jpg)
ขณะที่นางรัชนี สาระวิถี ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาชุมชน สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ กล่าวถึง การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชนภายหลังสถานการณ์โควิด -19 คลี่คลายลง ว่า สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ร่วมกับ ทุกภาคส่วน ลงพื้นที่ให้ความรู้พัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยว ซึ่งจังหวัดบุรีรัมย์มีหมู่บ้านท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี ที่มีจุดเด่นเฉพาะทาง 17 หมู่บ้าน มีโฮมสเตย์ที่พร้อมรับนักท่องเที่ยว จำนวน 39 แห่ง นอกจากนั้นยังได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายส่วนราชการภาคเอกชน จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้าชุมชน ได้นำกิจกรรม ประเพณีพื้นบ้าน ของดีพื้นถิ่น มาจัดแสดง และจำหน่าย มีการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชนให้เป็นที่ยอมรับและน่าสนใจ
นอกจากจะมีตลาดชุมชนแล้ว ยังมีตลาดออนไลน์ในเพจ อะไรดีบุรีรัมย์ เพจ OTOP TODAY ฝากร้านขายของ และปัจจุบันจังหวัดบุรีรัมย์ร่วมกับภาคเอกชน เปิด ร้านประชารัฐ-รักสามัคคี วิสาหกิจเพื่อสังคม ใกล้กับพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาล ที่ ๑ ให้เป็นศูนย์รวมจำหน่ายผลิตภัณฑ์โอทอปและของดีขึ้นชื่อของจังหวัดบุรีรัมย์
ทั้งนี้ อยากฝากถึงผู้ประกอบการสินค้าชุมชน หากมีของดีพื้นถิ่น อยากให้นำมาร่วมจดทะเบียนเป็นสินค้า OTOP เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มโอกาสในการแข่งขัน เพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภค นักท่องเที่ยว ได้เลือกซื้อสินค้าที่หลากหลาย สำคัญที่สุดคือ เพิ่มรายได้ให้กลุ่มผู้ผลิตในชุมชนด้วย – 003




