#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/712383

วธ. ยกระดับ 16 เทศกาลประเพณีไทย สู่ระดับชาติและนานาชาติ
วันอังคาร ที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.
ประเทศไทยปัจจุบัน มีการส่งเสริมภาคการท่องเที่ยวผ่านการใช้เอกลักษณ์ความเป็นไทย วิถีชีวิต ภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรม นับเป็น Soft Power ที่โดดเด่นของไทยผ่าน 5F คือ อาหาร(Food) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์(Film) การออกแบบแฟชั่นไทย(Fashion) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย(Fighting) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival) มาเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว
ปี 2566 การจัดงานเทศกาล เป็นหนึ่งในแผนงานที่รัฐบาลนำมาใช้เพื่อสร้างกระแสและดึงดูดให้ชาวต่างชาติเดินทางมาท่องเที่ยวไทย ได้แก่ การจัดงานด้านอาหาร “ปีแห่งอาหารไทย” (Year of Thai Gastronomy) และโปรโมท ตลาดถนนคนเดิน (Walking Street) การจัดงานเทศกาลอาหารนานาชาติ (Bangkok International Food Festival) ด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เตรียมเปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยว Film City Tour Package ตามรอยภาพยนตร์และซีรี่ส์ชื่อดัง ด้านศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย เน้นนำเสนอการต่อสู้มวยไทย ซึ่งจัดไปเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา มีการจัดงานไหว้ครูมวยไทยครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก (Amazing Muay Thai Festival 2023) บันทึกสถิติโลกโดยกินเนสส์บุ๊ก เรคคอร์ดส์
มีผู้มาร่วมงานกว่า 3,500 คน ด้านเทศกาลงานเทศกาลตรุษจีนที่เยาวราช ก็ได้จัดประดับไฟเป็นเวลา1 เดือนเต็ม เพื่อต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีน และงานเย็นทั่วหล้ามหาสงกรานต์ที่เตรียมจัดขึ้นหลายพื้นที่ สำหรับด้านเทศกาลประเพณี ปีนี้ได้มีการเตรียมจัดงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย Limited Edition 2566”
ในส่วนของกระทรวงวัฒนธรรมที่มีหน้าที่สำคัญในการยกระดับงานวัฒนธรรมไทยสู่เวทีโลก ในปี 2566 นี้ ได้ดำเนินการด้านส่งเสริมงานเทศกาลประเพณี ได้แต่งตั้งคณะทำงานยกระดับเทศกาลและประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 เป็นผู้คัดเลือก โดยสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในการพิจารณาคัดเลือกคือ ต้องเป็นเทศกาลประเพณีที่มีศักยภาพ มีความโดดเด่น เพื่อส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักและสร้างภาพลักษณ์ที่ดี รวมถึงเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม สร้างรายได้แก่ชุมชน และประเทศชาติ
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงวัฒนธรรม ได้ประกาศผลการคัดเลือกงานเทศกาลประเพณี จำนวน 16 เทศกาลประเพณี ได้แก่ 1.ประเพณีกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จังหวัดปัตตานี 2.เทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี 3.ประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง จังหวัดน่าน 4.ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก “มาฆบูชา อารยธรรมอีสาน” จังหวัดยโสธร 5.ประเพณีแห่ผ้าพระบฏพระราชทานถวายพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช 6.เทศกาลโคราชเมืองศิลปะ KORAT Street Art จังหวัดนครราชสีมา 7.เทศกาลตามรอยอารยธรรมขอมโบราณ ปราสาทศิลา “สด๊กก๊อกธม” จังหวัดสระแก้ว 8.เทศกาลเมืองคราม สกลนคร (KRAM & CRAFT SAKON FESTIVAL) นครหัตถศิลป์โลก เจ้าแห่งครามธรรมชาติ จังหวัดสกลนคร 9.เทศกาลอาหารอร่อย เมืองภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์ แห่งวิทยาการอาหาร จังหวัดภูเก็ต10.ประเพณีบุญกลางบ้าน สืบสานตำนานเมืองพนัส จังหวัดชลบุรี 11.เทศกาล “นาฏยแห่งศรัทธากิ่งกะหร่า น้อมบูชา วิสาขปุรณมี” จังหวัดแม่ฮ่องสอน 12.ประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา จังหวัดสระบุรี 13.ประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เลาะตลาดคนเมืองไทนคร จังหวัดนครพนม 14.เทศกาลไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” จังหวัดพะเยา 15.เทศกาลอาหารผสานศิลป์ เมืองเพชร เมืองสร้างสรรค์ จังหวัดเพชรบุรี และ 16.เทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน จังหวัดลำพูน
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จะดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดที่ได้รับการคัดเลือกเทศกาลประเพณี โดยให้นำไปบูรณาการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อยกระดับเทศกาลประเพณีให้มีความพร้อม และสามารถแข่งขันกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของจังหวัดอื่นๆในไทย และประเทศอื่นๆ ได้ เมื่อพัฒนาได้ก็จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว อาหาร ที่พัก การเดินทาง ผลิตภัณฑ์และบริการทางวัฒนธรรมอื่นๆ ได้ตามที่ประเทศชาติได้ตั้งเป้าหมายไว้อย่างแน่นอน







