#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/likesara/712796

วธ.ยกงาน ‘บวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช’ เป็นเทศกาลระดับนานาชาติ
วันพุธ ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 12.20 น.
สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม ยกงานประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เป็นเทศกาลระดับนานาชาติ เร่งวางแผนจัดกิจกรรมเสริมเพิ่มเสน่ห์ พ่วงศิลปวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง
ผู้สื่อข่าวรายงาน ว่า ตามคำสั่งสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (สป.วธ.) ที่ 1756/2565 ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2565 แต่งตั้งคณะทำงานยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 เพื่อดำเนินการคัดเลือกเทศกาลประเพณีที่มีศักยภาพ และมีความโดดเด่นของจังหวัดต่าง ๆ มาส่งเสริมให้มีการยกระดับเป็นเทศกาลประเพณีในระดับชาติและนานาชาติ ตามนโยบายของกระทรวงวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้กับประชาชน และเป็นการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมแขนงต่าง ๆ ของชาติสู่สายตาโลก
.jpg)
ซึ่งผลปรากฏว่าประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เลาะตลาดถนนคนเมืองไทยนครของจังหวัดนครพนม ได้รับการคัดเลือกเป็นลำดับที่ 13 ตามระยะเวลาที่จัดงาน ดังนั้น นางกรรญา ศูนย์คำ วัฒนธรรมจังหวัดนครพนม (วธ.นครพนม) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการจัดงานดังกล่าวให้มีความหลากหลาย มีเสน่ห์และสีสันเพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าทุกปี สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครพนม (ส.วธ.นครพนม) จึงได้มีการเชิญคณะทำงานที่มีการบูรณาการภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ร่วมประชุมหารือแนวทางการจัดกิจกรรมภายในงาน
.jpg)
นางกรรญา กล่าวว่า เบื้องต้นยังคงมีกิจกรรมต่าง ๆ เหมือนเช่นปีที่ผ่านมา เช่น การแห่ขบวนเครื่องบูชา และการรำบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราชจากประชาชน 9 ชนเผ่า 2 เชื้อชาติ ที่จะเป็นการแสดงเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละชนเผ่าสู่สายตานักท่องเที่ยว รวมถึงการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยลุ่มแม่น้ำโขง การแสดงวงดนตรีพื้นเมือง การจัดจำหน่ายสินค้าดีสินค้าเด่นของจังหวัดฯ
โดยในโอกาสนี้ที่ประชุมยังได้มีการเสนอให้จัดกิจกรรมเพิ่มเติม คือการเสวนาองค์ความรู้เกี่ยวกับความเชื่อความศรัทธาต่อพญาศรีสัตตนาคราช เพื่อให้ผู้ที่มาร่วมงานได้รับรู้ถึงความเป็นมา และคติความเชื่อของคนลุ่มน้ำโขงที่เชื่อกันมาแต่โบร่ำโบราณ ว่า พญาศรีสัตตนาคราชคอยปกปักรักษาองค์พระธาตุพนมและคนในลุ่มน้ำโขง
.jpg)
รวมถึงให้มีมหกรรมผลิตภัณฑ์ทางวัฒนธรรม และผลิตภัณฑ์ร่วมสมัยที่เกี่ยวเนื่องกับพญานาคจากทั่วประเทศ ตลอดจนได้เชื่อมโยงกับคติความเชื่อกับทางประเทศลาว โดยมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ นาค ซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติไทย ประเภทสัตว์ในตำนาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2565
นอกจากนี้ ยังมีการเสนอให้จัดทำเส้นทางความเชื่อความศรัทธาแห่งลุ่มน้ำโขง ภายใต้โครงการจาริกเส้นทางบุญในมิติทางศาสนา ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงวัดต่างๆที่มีความสำคัญเข้ากับความเชื่อความศรัทธาเพื่อเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเพื่อสร้างการรับรู้ กระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ กระจายรายได้ให้กับประชาชนในชุมชน ทั้งนี้จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดที่ตกผลึกแล้วเสนอเข้าที่ประชุมใหญ่ของจังหวัดอีกครั้ง เพื่อพิจารณาให้ดำเนินการในส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมา – 003

