#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/lady/712662

LIFE & HEALTH : รู้จักนวัตกรรมที่ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน
วันพุธ ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.
นวัตกรรม คือ กระบวนการสร้างสิ่งใหม่หรือปรับปรุงสิ่งที่มีอยู่แล้ว สามารถอ้างถึงผลิตภัณฑ์ กระบวนการ บริการ เทคโนโลยี หรือแนวคิดใหม่ๆ รวมถึงการปรับองค์กรหรือการจัดการต่างๆ ให้ดีขึ้น โดยทั่วไปแล้ว นวัตกรรมคือการหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำสิ่งต่างๆ ซึ่งจะส่งผลดีต่อชีวิตของผู้คน ตัวอย่างของนวัตกรรม เช่น การพัฒนารถยนต์ อินเตอร์เนต และการรักษาทางการแพทย์ใหม่ๆ
ข้อมูลจาก ธนะชัย กุลสมบูรณ์สินธ์ นักกลยุทธ์นวัตกรรม เปิดเผยว่า จากการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรม (Global Innovation Index) ปี 2022 โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) พบว่า 5 อันดับแรกของประเทศนวัตกรรม คือ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สวีเดน สหราชอาณาจักร เนเธอร์แลนด์ ตามลำดับ สำหรับ ประเทศไทย อยู่อันดับ 43 นับเป็นอันดับ 3 ในประเทศอาเซียน รองจากสิงคโปร์ (อันดับ 7) และ มาเลเซีย (อันดับ 36) ทั้งนี้ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการสร้างระบบนวัตกรรมของประเทศ ได้พบว่า ในปี 2566 นี้มีแนวโน้มนวัตกรรมที่ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ได้แก่
l ขาขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ด้านพลังงาน โดยเปลี่ยนจากการใช้พลังงานปิโตรเลียมเป็น “พลังงานหมุนเวียน” เช่น ระบบกักเก็บพลังงานแสงอาทิตย์แบบเข้มข้นการแปลงพลังงานจากแหล่งความร้อนใต้พิภพ พลังงานชีวภาพ พลังงานไฟฟ้า และพลังงานไฮโดรเจนสีเขียว ซึ่งเทคโนโลยีที่สำคัญต่อการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนในอนาคตก็คือ “ระบบสำรองพลังงานประสิทธิภาพสูง” เช่น การสำรองไฟฟ้าสำหรับระบบโครงข่ายพลังงาน เทคโนโลยีสำรองไฟฟ้าแบบวัสดุลิเทียมไอออนขั้นสูง ระบบแบตเตอรี่ทางเลือก เป็นต้น
l การฟื้นสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอากาศยาน แม้ว่าการเปิดประเทศภายหลังวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวกลับมาคึกคักอีกครั้ง แต่รูปแบบการเดินทางและท่องเที่ยวมีการปรับเปลี่ยนไป ผู้ประกอบการจึงต้องพัฒนาการท่องเที่ยวให้ตอบโจทย์ความยั่งยืนด้วยนวัตกรรม ซึ่งสามารถนำมาปรับใช้ตั้งแต่การพัฒนารูปแบบตลาดที่ลดการพึ่งพิง
นักท่องเที่ยวต่างชาติ การอำนวยความสะดวกและสร้างประสบการณ์ใหม่ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล การบริหารจัดการที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ การท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับประสบการณ์ชุมชน รวมถึงการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่อย่าง Workation หรือ Stacation ในด้านธุรกิจการบินก็ต้องนำนวัตกรรมเข้ามาช่วยบริหารจัดการปัญหาการขาดแคลนบุคลากรและทรัพยากรในห่วงโซ่ การให้บริการที่ลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการพัฒนาและบริหารจัดการเชื้อเพลิงสำหรับอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพ
l ผู้เล่นใหม่จากวงการเทคโนโลยีเชิงลึก การพัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ไขปัญหาสำคัญของโลก
โดยเป็นกลุ่มเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อนยากต่อการเลียนแบบ จึงสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันบนฐานของทรัพย์สินทางปัญญา สามารถผลักดันธุรกิจให้ขยาย-สร้างตลาดใหม่ได้ในระดับนานาชาติได้ อีกทั้งยังได้รับความสนใจจากผู้ใช้หรือนักลงทุนทั้งในกลุ่มเกษตร อาหาร อวกาศ เทคโนโลยีเสมือนจริง เซ็นเซอร์ ฯลฯ ทั้งนี้ พบว่าการระดมทุนของธุรกิจดีพเทคเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่ปี 2561 ถึง 2565 จาก 15 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวอย่างของนวัตกรรม เช่น ผลิตภัณฑ์ของ Apple วัคซีนโควิด-19 รถไฟฟ้า Tesla ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต่างเป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นถึงพลังของดีพเทคที่อาจจะเป็นเคลื่นลูกที่ 4 ในการปฏิวัติอุตสาหกรรม
l การกลับมาผงาดอีกครั้งของญี่ปุ่นด้วยซอฟต์ พาวเวอร์ ตั้งแต่อดีตประเทศญี่ปุ่นมีความโด่ดเด่นในการใช้ซอฟต์ พาวเวอร์ มาขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งการเติบโตของอุตสาหกรรมและการสร้างการรับรู้ให้กับประเทศในเวทีสากล เช่น การนำซอฟต์ พาวเวอร์ มากระตุ้นและใช้งานผ่านกิจกรรมโอลิมปิก 2020 โดยนำจุดเด่นของ MAG culture (หนังสือการ์ตูน ; manga,
อะนิเมะ ; anime และ เกม ; games) และตัวละครอย่างมาริโอ้ โปเกมอน หรือโดราเอมอน มาใช้ประโยชน์ในการสื่อสารและเชื่อมโยงกับผู้คน ส่วนประเทศไทย ภาครัฐ มีแนวทางการขับเคลื่อนซอฟต์ พาวเวอร์ ภายใต้กรอบ 5F ได้แก่ Food (อาหาร) Film (ภาพยนตร์และ วีดิทัศน์) Fashion (ผ้าไทยและการออกแบบแฟชั่น) Fighting (ศิลปะการต่อสู้-มวยไทย) และงานเทศกาล (Festival) โดยนวัตกรรมที่คาดว่าจะเป็นเครื่องมือที่จะช่วยขับเคลื่อน 5F คือ NFT (Non-fungible Token) โดยเฉพาะในตลาดนักสะสมของหายาก และเป็นช่องทางสำหรับศิลปินและผู้ผลิตผลงานศิลป์หน้าใหม่ ทำให้ระบบนิเวศของผลงานสร้างสรรค์ไทยเติบโตและผลักดันซอฟต์ พาวเวอร์ ไทยให้เข้มแข็ง
l ปัญญาประดิษฐ์ที่สร้างสรรค์เนื้อหาจากข้อมูล ดิจิทัลได้ปฏิวัติภูมิทัศน์สื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเข้าถึงผู้คน และเปิดทางให้กับ “คอนเทนต์ครีเอเตอร์” หลายล้านคนเข้ามาสร้างพื้นที่เศรษฐกิจสื่อรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “Creator Economy” โดยเฉพาะผู้สร้างที่เป็นปัญญาประดิษฐ์ (AI) ปัจจุบันสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่มนุษย์ได้ออกแบบ-สอนไว้ในการสร้างไอเดียและเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างคอนเทนท์ที่ดึงดูดความสนใจของผู้คนในระดับปัจเจกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่คิดเป็น 56.5% เมื่อเทียบกับการใช้งาน AI ในด้านอื่น นอกจากนี้ AI ยังมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมบันเทิงในมิติอื่น เช่น Virtual influencer ที่สามารถควบคุมและกำหนดทิศทางการสื่อสารได้ง่ายกว่าการใช้มนุษย์ มีหน้าตาเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ บุคลิกภาพโดดเด่นดึงดูดสายตาไม่ต่างจากนางแบบที่เป็นมนุษย์จริง ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงในการรักษาภาพลักษณ์และลดต้นทุนของแบรนด์ได้อีกด้วย
l เข้าสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีอาหาร การเพิ่มขึ้นของประชากรโลก พฤติกรรมการบริโภคที่เน้นอาหารเพื่อสุขภาพและอาหารที่มีกระบวนการผลิตเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้เทคโนโลยีชีวภาพมีส่วนสำคัญที่จะช่วยแก้ปัญหาทรัพยากรอาหารที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมถึงเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมอาหาร ต่อยอดกระบวนการผลิตอาหารให้ตอบโจทย์การลดภาวะโลกร้อนไปพร้อมกับสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนต่อโลก เช่น เนื้อที่ทำจากพืชเนื้อสัตว์ที่เพาะในห้องแล็บ อาหารจากเครื่องปริ้นสามมิติ อาหารทางเลือกที่ปราศจากการปรุงแต่ง หรือผ่านการปรุงแต่งน้อย อาหารเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน อาหารที่อัดแน่นด้วยคุณประโยชน์ต่อสุขภาพ โดยคาดว่า ตลาดอาหารแห่งอนาคตของโลกในปี 2568 จะมีมูลค่าถึง 0.31 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือขยายตัวเพิ่มขึ้น 51% เมื่อเทียบกับปี 2563
l การลงทุนขนานใหญ่ในเทคโนโลยีความมั่นคง การพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหารเป็นสิ่งที่หลายประเทศให้ความสำคัญเพื่อด้านความมั่นคงและทางเศรษฐกิจ เช่น การเตรียมความพร้อมด้านยุทโธปกรณ์และความมั่นคงข่าวสารทำให้เกิดการลงทุนด้านนวัตกรรมทางการทหารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา จีน อินเดีย รัสเซีย และสหราชอาณาจักรที่มีการใช้จ่ายงบประมาณด้านนี้สูงสุด ส่วนนวัตกรรมที่มีความสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ระบบการบินเหนือเสียง หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ปัญญาประดิษฐ์ ความมั่นคงทางไซเบอร์ และอาวุธพลังงานสูง เมื่อมองถึงประเทศไทยรัฐบาลก็มีนโยบายผลักดันให้อุตสาหกรรมเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เป็น S-Curve ตัวที่ 11 โดยเน้นการส่งเสริมและวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีสองทางที่สามารถนำใช้งานได้ทั้งภารกิจด้านความมั่นคงและสำหรับภาคพลเรือนทั่วไปเชิงพาณิชย์ด้วย
ผศ.(พิเศษ)ดร.อภิสิทธิ์ ฉัตรทนานนท์
ประธานกรรมการ มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ

