#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
https://www.naewna.com/local/712987

วันพฤหัสบดี ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566, 06.00 น.
นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ เป็นประธานการประชุมหารือแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวประมง โดยมีนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย และกรรมการ ตลอดจนตัวแทนนายกสมาคมชาวประมง เจ้าของเรือประมงที่ได้รับผลกระทบจาก พ.ร.ก.ประมง ปีพ.ศ.2558 และ ผู้เกี่ยวข้อง เข้าร่วม โดยที่ประชุมมีข้อสรุปเป็นแนวทางแก้ปัญหา ดังนี้ 1.เห็นควรเสนอให้มีการปรับปรุงประกาศกระทรวงเกษตรฯ เรื่อง คณะกรรมการเปรียบเทียบ และหลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณาของคณะกรรมการเปรียบเทียบ พ.ศ. 2561 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 170 วรรค 2 และวรรค 3 แห่ง พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558
2.เห็นควรยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 22/2560 เรื่อง การแก้ปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม 3.กรณีที่มีการออกกฎระเบียบใดๆ จะต้องกำหนดห้วงเวลาก่อนการบังคับใช้เพื่อสร้างความเข้าใจแก่ชาวประมง โดยกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมในการบังคับใช้ หลังวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา 4.มอบหมายกรมประมงหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกาถึงประเด็นความคลุมเครือในมาตรา 38 และมาตราอื่นๆ เช่น มาตรา 19 มาตรา 20 และมาตรา 105 เป็นต้น เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้และการตีความกฎหมายเพื่อความเป็นธรรม
5.ขอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่าย ใช้หลักนิติรัฐ นิติธรรม ในการพิจารณาตั้งข้อกล่าวหากับชาวประมงที่กระทำผิด โดยใช้ดุลพินิจดูที่เจตนาตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายบนหลักความยุติธรรม เนื่องจาก พ.ร.ก.การประมงปี 2558 นั้น มีบทกำหนดโทษที่รุนแรง
“รมว.เกษตรฯ มีความห่วงใยพี่น้องชาวประมง จึงมีนโยบาย 3 ป. ป้อง ปราม ปราบ เพื่อเป็นแนวทางให้กรมประมงเร่งแก้ปัญหาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับพี่น้องชาวประมง โดยติดตามดูแลทุกประเด็นข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องชาวประมงทุกกลุ่ม พร้อมรับข้อเรียกร้องของทางสมาคม และตัวแทนชาวประมง ให้กรมประมง นำไปพิจารณา และขอบคุณที่ได้สะท้อนปัญหาเพื่อเป็นประโยชน์ในการบูรณาการร่วมมือกันหาแนวทางแก้ไข ทั้งนี้ ขอฝากไปยังเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกฝ่าย เมื่อเกิดเหตุแล้วขอให้ใช้ดุลพินิจในการดำเนินการกับผู้กระทำผิด โดยให้ดูที่เจตนาเป็นหลัก ส่วนมาตราที่ยังเป็นปัญหาทั้งข้อจำกัดของเวลาและเงื่อนไข ให้กรมประมง นำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไขซึ่งการออกกฎหมายต่างๆ ขอให้คำนึงถึงประโยชน์ของทุกฝ่ายให้ได้รับความเป็นธรรม” นายอลงกรณ์ กล่าว