#SootinClaimon.Com : ขอบคุณแหล่งข้อมูล : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
https://www.thairath.co.th/news/foreign/2636238

23 ก.พ. 2566 09:30 น.
- ข่าว
- ต่างประเทศ
- ไทยรัฐออนไลน์
ไข้หวัดนกลามประเทศใหม่ หวั่นระบาดตลอดปี เสี่ยงคุกคามอาหารโลก (คลิป)
ไข้หวัดนกแพร่กระจายไปจนถึงมุมโลกใหม่ และกลายเป็นโรคประจำถิ่นสำหรับนกป่าบางชนิด ที่ปกติแล้วจะเป็นพาหะนำไวรัสไปยังสัตว์ปีกในฟาร์มต่างๆ
รอยเตอร์ส ได้พูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกรมากกว่า 20 รายใน 4 ทวีป พวกเขาระบุว่า ความแพร่หลายของเชื้อไข้หวัดนกในหมู่นกป่ากำลังส่งสัญญาณว่า การระบาดชนิดทุบสถิติที่กำลังดำเนินอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก จะยังไม่ทุเลาลงในเร็วๆ นี้ ทำให้ภัยคุกคามต่ออุปทานอาหารโลกเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
พวกเขาเตือนด้วยว่า เกษตรกรต้องมองโรคระบาดนี้เป็นความเสี่ยงรุนแรงตลอดปี แทนที่จะมุ่งเน้นป้องกันเฉพาะฤดูอพยพของบรรดานกป่าช่วงฤดูใบไม้ผลิ นกน้ำจำพวกเป็ด สามารถเป็นที่อยู่ของเชื้อได้โดยที่ไม่ตาย และแพร่มันไปยังสัตว์ปีกต่างๆ ผ่านมูล, น้ำลาย หรือสิ่งปนเปื้อนอื่นๆ
การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกกระจายไปยังทวีปอเมริกาเหนือ, ใต้, ยุโรป, เอเชีย และแอฟริกาแล้ว ซึ่งสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศที่สูญเสียสัตว์ปีกในฟาร์มไปมากที่สุดในช่วงปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอเมริกาที่เจอการระบาดครั้งใหญ่ตั้งแต่ต้นปี 2565 มีสัตว์ปีกตายหรือถูกฆ่า เพื่อป้องกันการระบาดไปมากกว่า 58 ล้านตัว
ขณะที่เมื่อสัปดาห์ก่อน อาร์เจนตินากับอุรุกวัยประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสุขอนามัยแห่งชาติ หลังเจ้าหน้าที่ยืนยันว่า พบสัตว์ปีกติดเชื้อไข้หวัดนกเป็นครั้งแรก โดยอาร์เจนตินาพบนกป่าติดเชื้อ ขณะที่อุรุกวัยพบซากหงส์ที่มีผลตรวจเชื้อเป็นบวก
ภัยคุกคามตลอดปี
การระบาดที่เกิดขึ้น ทำให้มีการสังหารแม่ไก่เพื่อควบคุมการแพร่กระจายจำนวนหลายสิบล้านตัวทั่วโลก ส่งผลให้ราคาไข่ไก่พุ่งทุบสถิติ ทำให้แหล่งโปรตีนราคาถูกนี้กลายเป็นสิ่งที่ไกลเกินเอื้อม สำหรับชาติที่ยากจนที่สุดในโลกบางประเทศ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังย่ำแย่ เพราะอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง
เกษตรกรบางส่วนรู้สึกเข้าตาจน “ไข้หวัดนกเกิดขึ้นแม้แต่ที่ฟาร์มแห่งใหม่ ที่มีอุปกรณ์ทันสมัยและไม่มีหน้าต่าง ตอนนี้เราจึงทำได้เพียงอ้อนวอนพระเจ้า ขอให้ไม่เกิดการระบาด” นายชิเงโอะ อินาบะ ผู้เลี้ยงไก่เนื้อในจังหวัดอิบาราคิ ของญี่ปุ่น กล่าว
ส่วน นายมาร์คัส รัสท์ ซีอีโอของ โรส เอเคอร์ ฟาร์ม (Rose Acre Farms) ผู้ผลิตไข่รายใหญ่ที่สุดอันดับ 2 ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ความพยายามอย่างดีที่สุดของบรรดาเกษตรกรในการปกป้องสัตว์ปีกของพวกเขา ดูเหมือนจะไม่เพียงพอ เมื่อปีก่อนพวกเขาเสียแม่ไก่ที่ฟาร์มในรัฐไอโอวาไปแล้วราว 1.5 ล้านตัว แม้จะกำหนดให้ทุกคนต้องอาบน้ำก่อนเข้าโรงเลี้ยง
นายรัสท์ บอกอีกว่า ฟาร์มอีกแห่งในรัฐโคโลราโด มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นเท่าตัวภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือน ทำไก่ตายไปมากกว่า 3 ล้านตัว เขาเชื่อว่า ลมอาจพัดเอาเชื้อไวรัสมาจากทุ่งใกล้เคียงที่ห่านมาขับถ่าย
ขณะที่การฉีดวัคซีนก็ดูจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ ไวรัสอาจระบาดน้อยลงแต่ไม่ได้ถูกกำจัดไป และทำให้ยากต่อการตรวจพบไวรัสในฝูงสัตว์ปีกด้วย แต่ยังมีบางประเทศอย่าง เม็กซิโก และ ชาติสมาชิกสหภาพยุโรป ที่ยังเลือกใช้วิธีฉีดวัคซีนเป็นหลัก
ไม่เพียงเท่านั้น ก่อนหน้านี้มีการประเมินกันว่า สัตว์ปีกในซีกโลกเหนือจะตกอยู่ในความเสี่ยงจากไวรัสไข้หวัดนกมากที่สุด ในช่วงที่นกป่าอพยพช่วงฤดูใบไม้ผลิ แต่ต่อตอนนี้ เนื่องจากไวรัสแพร่กระจากมากขึ้น ทั้งในนกน้ำและนกป่าอื่นๆ หมายความว่าสัตว์ปีกในฟาร์มต้องเผชิญกับความเสี่ยงสูงตลอดทั้งปี
“นี่คือสงครามครั้งใหม่” นายเบร็ต มาร์ช สัตวแพทย์ประจำรัฐอินเดียนา กล่าว “มันคือการเฝ้าระวังตลอด 12 เดือน”
ไวรัสแพร่กระจายในนกป่ามากขึ้น
ปัจจุบัน นกป่าแพร่กระจายเชื้อไปทั่วโลก กว้างไกลกว่าที่เคยเป็นมา นายเกรโกริโอ ตอร์เรส หัวหน้าแผนกวิทยาศาสตร์ขององค์กรเพื่อสุขภาพสัตว์โลกในกรุงปารีส คาดว่า ไวรัสเปลี่ยนไปจากการระบาดครั้งก่อน ไปสู่รูปแบบที่ทำให้มันสามารถถ่ายทอดต่อไปง่ายยิ่งขึ้น
นายตอร์เรส ยอมรับว่า เขาไม่สามารถยืนยันได้ว่า ตอนนี้ไวรัสไข้หวัดนกกลายเป็นโรคประจำถิ่นของนกป่าในพื้นที่ต่างๆ ของโลกแล้วหรือไม่ แต่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนระบุว่า มันกลายเป็นโรคประจำถิ่นในนกป่าบางชนิดในสหรัฐฯ
ขณะที่ ดร.เดวิด ซัวเรซ รักษาการผู้อำนวยการห้องปฏิบัติการของศูนย์ปฏิบัติการวิจัยสัตว์ปีกภาคตะวันออกเฉียงใต้ในรัฐจอร์เจีย ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ไข้หวัดนกสายพันธุ์ล่าสุดกำลังแพร่ไปยังนกป่าหลายชนิดมากขึ้น รวมถึงนกที่ไม่ได้อพยพเป็นระยะทางไกล และนกเฉพาะถิ่นกลายเป็นตัวช่วยให้ไวรัสคงอยู่ได้ตลอดปี อย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน
แร้งดำในภาคใต้ของสหรัฐฯ ที่เคยรอดจากไข้หวัดนกมาก่อน กลายเป็นสัตว์ปีกอีกหนึ่งชนิดที่ติดเชื้อ ไวรัสยังแพร่ไปยังสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอย่าง จิ้งจอก, หมี, แมวน้ำ และมนุษย์ แต่องค์การอนามัยโลกยืนยันว่า มนุษย์ที่ติดเชื้อมักเป็นผู้สัมผัสใกล้ชิดกับนกที่ป่วย และความเสี่ยงในการแพร่สู่คนยังต่ำ
หวัดนกลามเข้าประเทศใหม่
ตามการเปิดเผยของ ดร.เดวิด สตอลเนชต์ ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือศึกษาโรคสัตว์ป่าที่มหาวิทยาลัยจอร์เจีย นกอพยพทางไกลที่มีระดับไวรัสในตัวสูงอย่าง เป็ดปีกเขียว เป็นตัวนำเชื้อเข้าไปแพร่กระจายในพื้นที่ใหม่ของอเมริกาใต้ ประเทศอย่าง เปรู, เอกวาดอร์ และ โบลิเวีย เพิ่งรายงานพบนกติดเชื้อไข้หวัดนกครั้งแรก เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
การพบนกติดเชื้อในอุรุกวัยกับโบลิเวีย ทำให้ไวรัสขยับเข้าใกล้ผู้ส่งออกไก่รายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง บราซิล มากขึ้นอีก แม้ในปัจจุบันแดนแซมบ้ายังไม่มีการยืนยันพบนกติดเชื้อ แต่พบกรณีต้องสงสัย 3 กรณี ซึ่งผลตรวจที่ออกมาเป็นลบทั้งหมด
ผู้เชี่ยวชาญบางคนสงสัยว่า การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ อาจมีส่วนที่ทำให้ไวรัสระบาดไปทั่วโลกมากขึ้น เพราะมันทำให้แหล่งที่อยู่อาศัยและเส้นทางการอพยพของนกป่าเปลี่ยนไป
ในขณะที่ปัญหาการแพร่ระบาดของไข้หวัดนกยังแก้ไม่ตก ฤดูการอพยพของนกป่าก็กำลังจะมาถึงอีกครั้ง นาย อีไล เบอร์โควิตซ์ ซีอีโอของบริษัท ลิตเติล โรดี ฟู้ดส์ (Little Rhody Foods) กล่าวว่า เขากำลังเตรียมรับเดือนมีนาคมและเมษายน ที่ฤดูอพยพจะเป็นภัยต่อสัตว์ปีกของเขามากกว่าที่เคยเป็น.
ที่มา : reuters